วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อาณิสูตร ว่าด้วยลิ่ม


 พระสูตรนี้ พระพุทธองค์ตรัสด้วยความเป็นห่วง เพื่อเตือนความจำของสาวกทั้งหลาย ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถจะห้ามไม่ให้เกิดได้  แต่ถ้าได้ป้องกันไว้ ก็จะทำให้ยืดอายุพระพุทธศาสนาออกไปได้อีกนาน เพราะฉะนั้น พุทธสาวกทั้งหลายควรตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก   พระองค์ตรัสว่า ต่อไปในอนาคต สาวกจะไม่สนใจฟังพระพุทธพจน์ที่แท้จริง ที่สามารถนำออกจากทุกข์ได้ ่ที่สาวกนำมากล่าว มาแสดง  แต่จะไปเห่อตามเถราจารย์รุ่นใหม่ และจะสนใจงานเขียนของนักคิดรุ่นใหม่มากกว่า เพราะเขียนด้วยถ้อยคำสละสลวย แต่นำออกจากทุกข์ไม่ได้ แถมยังเข้าใจยากอีกด้วย 

พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ ต่อจาก โอกขาสูตร 


๗. อาณิสูตร
ว่าด้วยลิ่ม
[๒๒๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ...
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีตะโพนชื่ออานกะของพวกกษัตริย์ผู้มีพระนามว่าทสารหะ เมื่อตะโพนแตก พวกกษัตริย์ทสารหะได้ตอกลิ่มอื่นลงไป ต่อมาไม้โครงเก่าของตะโพนชื่ออานกะก็หายไปเหลือแต่โครงลิ่ม ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ในอนาคต เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ตถาคตกล่าวไว้ล้ำลึก มีเนื้อความลึกซึ้ง เป็นโลกุตตรธรรม ประกอบด้วยความว่าง ภิกษุทั้งหลายจักไม่ตั้งใจฟังให้ดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ทั่วถึง และไม่ให้ความสำคัญธรรมว่า ควรเรียน ควรท่องจำให้ขึ้นใจ ฉันนั้น
แต่เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ท่านผู้เชี่ยวชาญได้รจนาไว้ เป็นบทกวี มีอักษรวิจิตร มีพยัญชนะวิจิตร อยู่ภายนอก[1] เป็นสาวกภาษิต[2] ภิกษุเหล่านั้นกลับตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยหูฟัง เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ทั่วถึง และจักสำคัญธรรมว่า ควรเรียน ควรท่องจำ ให้ขึ้นใจ[3] ฉันใด แต่เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ตถาคตกล่าวไว้ล้ำลึก มีเนื้อความลึกซึ้ง เป็นโลกุตตรธรรม ประกอบด้วยความว่าง ก็จักอันตรธานไป ฉันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อผู้อื่น กล่าวสูตรที่ตถาคตกล่าวไว้ล้ำลึก มีเนื้อความลึกซึ้ง เป็นโลกุตตรธรรม ประกอบด้วย ความว่าง เราทั้งหลายจักตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยหูฟัง เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ทั่วถึง และให้ความสำคัญธรรมว่า ควรเรียน ควรท่องจำให้ขึ้นใจ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้
อาณิสูตรที่ ๗ จบ


[1] อยู่ภายนอก หมายถึงภายนอกพระพุทธศาสนา (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๘/๕๕)
[2] สาวกภาษิต หมายถึงภาษิตอันเหล่าสาวกของเจ้าลัทธิคนใดคนหนึ่งที่ไม่ได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธสาวกได้ภาษิตไว้ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๘/๕๕, องฺ.ทุก.ฏีกา ๒/๔๘/๕๓)
[3] ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๔๘/๙๑-๙๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น