วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

โสภณสูตร ว่าด้วยบุคคลผู้ทำหมู่ให้งาม



ในพระสูตรนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า บุคคล ๔ จำพวก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีการศึกษาดี แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมทำหมู่ให้งาม 
จากพระสูตรนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า บุคคล ผู้ฉลาด แต่ไม่ได้รับการศึกษา ก็อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับนับถือจากหมู่คณะก็ได้ หรือ ผู้ฉลาดมีปัญญาดี มีการศึกษาดี แต่ไม่ประพฤติดี ไม่ปฏิบัติชอบก็อาจจะไม่ได้รับความเคารพนับถือจากหมู่คณะก็ได้  
จากเนื้อความในพระสูตรนี้สามารถสรุปได้ว่า บุคคลผู้ที่จะได้รับความเคารพนับถือจากหมู่คณะต้องเป็นคนฉลาดด้วย มีการศึกษาดีด้วย และที่สำคัญต้องประพฤติดีปฏิบัติชอบตามทำนองคลองธรรมด้วย 
พระสูตรนี้ อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต 

๗. โสภณสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ทำหมู่ให้งาม
[๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ ผู้เฉียบแหลม ได้รับคำแนะนำดี แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมทำหมู่ให้งาม
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
ในธรรมวินัยนี้
๑.ภิกษุผู้เฉียบแหลม ได้รับคำแนะนำดี แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมทำหมู่ให้งาม
๒.ภิกษุณี ฯลฯ
๓.อุบาสก ฯลฯ
๔.อุบาสิกาผู้เฉียบแหลม ได้รับคำแนะนำดี แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมทำหมู่ให้งาม
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลผู้เฉียบแหลม ได้รับคำแนะนำดี แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมทำหมู่ให้งาม
บุคคลผู้เฉียบแหลม แกล้วกล้า เป็นพหูสูต
ทรงธรรม และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
เรียกว่าผู้ทำหมู่ให้งาม
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ภิกษุณีผู้เป็นพหูสูต
อุบาสกผู้มีศรัทธา และอุบาสิกาผู้มีศรัทธา๑
ชนเหล่านี้แลย่อมทำหมู่ให้งาม
ชนเหล่านี้แลชื่อว่าสังฆโสภณ
โสภณสูตรที่ ๗ จบ



วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556

มัลลิกาเทวีสูตร




มัลลิกาเทวีสูตร ว่าด้วยเหตุให้เป็นคนสวย คนขี่เหร่ คนมั่งคั่ง ยากจน และสูงศักดิด์ ต่ำศักดิิ์
คู่ที่ ๑
เหตุให้เป็นคนสวย ได้แก่ เป็นคนไม่โกรธ  
เหตุให้เป็นคนขี้เหร่ ได้แก่ เป็นคนชอบโกรธ 
คู่ที่ ๒ 
เหตุให้เป็นคนมั่งคั่ง ร่ำรวย ได้แก่ ชอบให้ทาน 
เหตุให้เป็นคนจน ได้แก่ ไม่ชอบให้ทาน

คู่ที่ ๓ 
เหตุให้เป็นคนสูงศักดิ์ ได้แก่ เป็นคนไม่อิจฉา ริษยา 
เหตุให้เป็นคนต่ำศักดิ์ ได้แก่ เป็นคนชอบอิจฉา ริษยา 

พระสูตรนี้ อยู่ในเล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ ๑๙๗ หน้า ๓๐๐_ ๓๐๓

๗. มัลลิกาเทวีสูตร
ว่าด้วยพระนางมัลลิกาเทวี
[๑๙๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระนางมัลลิกาเทวีเสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดูและเป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสนโภคะ  ต่ำศักดิ์
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก แต่เป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสนโภคะ ต่ำศักดิ์
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้ มีรูปงาม น่าดู น่า เลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก และเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มัลลิกา มาตุคามบางคนในโลกนี้เป็นผู้โกรธ มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวแม้เล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด กระด้างกระเดื่อง แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ เธอไม่ให้
ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ และมีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น กีดกัน ตัดรอน ผูกความริษยา ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู และเป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสนโภคะ ต่ำศักดิ์
มาตุคามบางคนในโลกนี้เป็นผู้โกรธ มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวแม้เล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด กระด้างกระเดื่อง แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ แต่เธอให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ และไม่มีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น ไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา ถ้าเธอจุติจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์
มาตุคามบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่โกรธ ไม่มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวแม้มากก็ไม่ขัดเคืองใจ ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง ไม่แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ แต่เธอไม่ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ และมีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น กีดกัน ตัดรอน ผูกความริษยา ถ้าเธอจุติจากอัตภาพนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใด ๆ ย่อมเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก แต่เป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสน โภคะ ต่ำศักดิ์
มาตุคามบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่โกรธ ไม่มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวแม้มากก็ไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง ไม่แสดงอาการโกรธความขัดเคืองและความไม่พอใจ เธอให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ และไม่มีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น ไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา ถ้าเธอจุติจากอัตภาพนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใด ๆ ย่อมเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก และเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์
มัลลิกา นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู และเป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสนโภคะ ต่ำศักดิ์
นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู แต่เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์
นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก แต่เป็นคนยากจน ขัดสนทรัพย์ ขัดสนโภคะ ต่ำศักดิ์
นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาตุคามบางคนในโลกนี้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก และเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สูงศักดิ์”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระนางมัลลิกาเทวีได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในชาติอื่น ชะรอยหม่อมฉันจะเป็นคนโกรธ มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวเล็กน้อยก็ขัดเคือง ฉุนเฉียว กระฟัดกระเฟียด กระด้างกระเดื่อง แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ ในชาตินี้
หม่อมฉันจึงมีผิวพรรณไม่งาม รูปชั่ว ไม่น่าดู
แต่ในชาติอื่นหม่อมฉันคงได้ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ ในชาตินี้หม่อมฉันจึงเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
ในชาติอื่นหม่อมฉันคงจะไม่มีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น ไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ผูกความริษยา ในชาตินี้ หม่อมฉันจึงเป็นผู้สูงศักดิ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็นางกษัตริย์บ้าง นางพราหมณีบ้าง นางคหปตานีบ้างมีอยู่ในราชสกุลนี้ หม่อมฉันได้ดำรงความเป็นใหญ่เหนือหญิง
เหล่านั้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หม่อมฉันจักไม่โกรธ ไม่มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถึงจะถูกว่ากล่าวมากก็จักไม่ขัดเคือง ไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้างกระเดื่อง ไม่แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจ และจักให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และ เครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ จักไม่มีใจริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของผู้อื่น จักไม่กีดกัน ไม่ตัดรอน ไม่ริษยา
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
มัลลิกาเทวีสูตรที่ ๗ จบ



วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กุมภสูตร



 อริยมรรคมีองค์ ๘ คือเครื่องรองรับจิตใจมนุษย์ จากพระสูตรนี้พระพุทธองค์แสดงให้เห็นว่า จิตใจที่มีอริยมรรคเป็นเครื่องรองรับ จะหนักแน่นมั่นคง ไม่เหลาะแหละ ไม่สะทกสะท้าน เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัว พระพุทธองค์เปรียบเทียบจิตใจกับหม้อไว้ว่า หม้อถ้ามีเครื่องรอบรับก็จะไม่กลิ้งไปง่ายเมื่อถูกกระทบ แต่ถ้าไม่มีเครื่องรองรับก็จะกลิ้งไปได้ง่าย ฉันใด จิตใจของมนุษย์ ถ้าไม่มีคุณธรรมเป็นเครื่องรองรับก็จะหวั่นได้ง่าย ฉันนั้น 

พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ สังยุตตนิกาย มหาวรรค ข้อที่ ๒๗ หน้า ๒๘. 

 ๗.  กุมภสูตร
                                                               ว่าด้วยอุปมาด้วยหม้อ
      [๒๗]  เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
      “ภิกษุทั้งหลาย  หม้อที่ไม่มีเครื่องรองรับ  กลิ้งไปได้ง่าย  ที่มีเครื่องรองรับ
กลิ้งไปได้ยาก  แม้ฉันใด  จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน  ที่ไม่มีธรรมเครื่องรองรับ  กลับกลอก
ได้ง่าย  ที่มีธรรมเครื่องรองรับ  กลับกลอกได้ยาก
      <อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องรองรับจิต>
      คือ  อริยมรรคมีองค์  ๘  นี้แล  ได้แก่
              ๑.  สัมมาทิฏฐิ          ฯลฯ        ๘.  สัมมาสมาธิ
      นี้เป็นธรรมเครื่องรองรับจิต
      หม้อที่ไม่มีเครื่องรองรับ  กลิ้งไปได้ง่าย  ที่มีเครื่องรองรับ  กลิ้งไปได้ยาก
แม้ฉันใด  จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน  ที่ไม่มีธรรมเครื่องรองรับ  กลับกลอกได้ง่าย  ที่มีธรรม
เครื่องรองรับ  กลับกลอกได้ยาก

                                            กุมภสูตรที่  ๗  จบ



วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

ทหรสูตร ว่าด้วยสิ่งเล็กน้อย


  
พระสูตรนี้ พระพุทธองค์ตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ความย่อว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลว่า เคยเข้าไปหานักบวชในสำนักต่างๆ ที่บวชมานาน และมีอายุมากกว่าพระพุทธองค์ แต่นักบวชเหล่านั้นไม่ได้ปฏิญญาว่า ตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า เพราะเหตุไรพระพุทธองค์ซึ่งบวชไม่นาน และยังมีพระชนมายุน้อยกว่า จึงกล้าปฏิญญาว่า ตนเองเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสกะพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า อย่าดูหมิ่นสิ่ง ๔ อย่างว่า เล็กน้อย คือ 
    ๑.       กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังทรงพระเยาว์
    ๒.      งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าตัวเล็ก
    ๓.      ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย
    ๔.       ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังหนุ่ม

เพราะสิ่ง ๔ อย่างนี้ แม้จะดูเล็กน้อยแต่มีอานุภาพให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้มากกว่าที่คิด 
พระสูตรนี้ อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ สังยุตตนิกาย โกศลสังยุต
๑. ทหรสูตร
ว่าด้วยสิ่งเล็กน้อย
[๑๑๒]  ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ ระลึกถึงกันแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระโคดม ผู้เจริญทรงยืนยันหรือไม่ว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มหาบพิตร ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องก็ พึงกล่าวว่า พระตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วž เพราะว่าอาตมภาพได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้สมณพราหมณ์บางพวก เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ คนจำนวนมากยกย่องว่าเป็นคนดี คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ ท่านมักขลิ โคศาล ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ท่านสัญชัย เวลัฏฐบุตร ท่านปกุธะ กัจจายนะ ท่านอชิตะ เกสกัมพล สมณพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อถูกข้าพระองค์ถามว่า ท่านทั้งหลายยืนยันตนหรือว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณž ก็ไม่ยืนยัน ว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณž ส่วนพระโคดมผู้เจริญยังทรงเป็นหนุ่มโดยพระชาติและยังทรงเป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา ทำไมจึงกล้ายืนยันตนเล่า
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มหาบพิตร สิ่ง ๔ อย่างนี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย
สิ่ง ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
         ๑.       กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังทรงพระเยาว์
         ๒.      งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าตัวเล็ก
         ๓.      ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย
         ๔.       ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังหนุ่ม
สิ่ง ๔ อย่างนี้แล ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
นรชนไม่ควรดูถูกดูหมิ่นกษัตริย์ผู้ถึงพร้อมด้วยชาติตระกูล
ผู้เป็นอภิชาติ ผู้มียศ ว่ายังทรงพระเยาว์
เพราะพระองค์ได้เสวยราชสมบัติแล้ว
เป็นกษัตริย์จอมมนุษย์ ทรงพิโรธแล้ว
จะลงพระราชอาชญาอย่างหนักแก่เขาได้
ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน
พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นกษัตริย์นั้น
นรชนเห็นงูที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม
ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าตัวเล็ก
เพราะงูเป็นสัตว์มีพิษไม่ว่าจะมีวรรณะสูงและต่ำ
งูนั้นพึงฉกกัดชายหญิงผู้เขลาในกาลบางคราว
ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน
พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นงูนั้น
นรชนไม่ควรดูถูกดูหมิ่นไฟที่กินเชื้อมาก
ลุกเป็นเปลว ไหม้ดำเป็นทาง ว่าเล็กน้อย
เพราะไฟนั้นได้เชื้อแล้วก็กลายเป็นกองไฟใหญ่
พึงลามไหม้ชายหญิงผู้เขลาในกาลบางคราว
ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน
พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นไฟนั้น
อนึ่ง ป่าใดที่ถูกไฟไหม้จนดำแล้ว
เมื่อวันคืนล่วงไปๆ พันธุ์หญ้าหรือต้นไม้ยังงอกขึ้นที่ป่านั้นได้
ส่วนผู้ใดถูกเดชภิกษุผู้มีศีลแผดเผา
บุตรธิดาและปศุสัตว์ของผู้นั้นย่อมพินาศ
ทายาทของเขาก็ย่อมไม่ได้รับทรัพย์มรดก
เขาเป็นผู้ไม่มีเครือญาติ ไม่มีทายาท
ย่อมเป็นเหมือนตาลยอดด้วน
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นบัณฑิต
เมื่อพิจารณาเห็นกษัตริย์ผู้มียศ งู ไฟ
และภิกษุผู้มีศีลว่าเป็นประโยชน์แก่ตน
พึงประพฤติโดยชอบทีเดียว
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า คนมี ตาดีจักเห็นรูปได้ž ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต
ทหรสูตรที่ ๑ จบ


วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เวลามสูตร ว่าด้วยเวลามพราหมณ์



               พระสูตรนี้พระพุทธองค์ตรัสแก่ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใจความของพระสูตรโดยย่อ 
ความว่า 
อนาถบิณฑิกเศรษฐี นับตั้งแต่ได้สร้างพระเชตวันถวายสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้ว ได้ถวายทานแก่พระสงฆ์ทุกวัน จนทรัพย์สินลดลง ในที่สุดกลายเป็นคนจน แต่ไม่ลดการถวายทาน แต่ไม่สามารถจัดทานให้ประณีตเหมือนเดิมได้ พระองค์ตรัสปลอบเศรษฐีว่า ทานจะประณีต ไม่ประณีต ขึ้นอยู่กับเจตนา จะมีผลมาก มีผลน้อยขึ้นอยู่กับทักขิไณยบุคคลผู้รับทานด้วย 
จากนั้นพระองค์ตรัสเรื่องในอดีตพูดถึงเวลามพราหมณ์ ผู้มั่งคั่ง ถวายทานมาก แต่ได้ผลน้อยเพราะได้ผู้รับทานไม่ดี คือแก่คนทั่วไป ไม่มีพระอรหันต์มารับทานเหมือนอนาถบิณฑิกเศรษฐี  จากนั้นพระองค์ตรัสถึงอานิสงส์ของการถวายทานแก่บุคคลที่มีคุณธรรมระดับต่างๆ ตั้งแต่คนผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ คือเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม ไปจนถึงพระพุทธเจ้า ว่า 
การถวายแก่พระพุทธ ๑ ครั้งมีผลมากกว่าการถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง 
ถวายทานแก่พระพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่าถวายทานแก่สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ๑ ครั้ง 
ถวายทานแก่สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่าสร้างเสนาสนะ มี ศาลา โบสถ์ วิหาร กุฏิ เป็นต้น แก่สงฆ์ที่มาจากทิศทั้งสี่ ๑ ครั้ง
สร้างเสนาสนะถวายสงฆ์ ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ามีศรัทธา ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ 
มีศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เท่าการสมาทานเอาสิกขาบทไปปฏิบัติ คือ การสมาทานละเว้น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การดื่มสุราเมรัย (ศีล ๕)
การสมาทานเอาสิกขาบท (ศีล ๕ ) ไปปฏิบัติ ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่าการเจริญเมตตาจิต  เพียงชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียว (ดีดมือครั้งเดียว)

จากพระสูตรนี้สรุปได้ว่า การให้ทาน การรักษาศีล มีอานิสงส์น้อยกว่าการเจริญภาวนา หรือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แม้จะใช้เวลาเพียงนิดหน่อย 

พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ อังคุตตรนิกาย 

ต่อไปนี้เป็นเนื้อความเต็มของพระสูตร ผู้มีความสนใจอยากรู้เพิ่มเติมเชิญอ่านได้ตามความปรารถนาเถิด

     
    ๑๐. เวลามสูตร
ว่าด้วยเวลามพราหมณ์
[๒๐]   สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกับท่านดังนี้ว่า “ท่านคหบดี ในตระกูลของท่านยังให้ทานอยู่หรือ”
อนาถบิณฑิกคหบดีกราบทูลว่า “ในตระกูลของข้าพระองค์ยังให้ทานอยู่ พระพุทธเจ้าข้า แต่ทานนั้นแลเป็นของเศร้าหมอง เป็นปลายข้าวกับน้ำผักดอง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี บุคคลให้ทานเศร้าหมอง หรือประณีตก็ตาม ถ้าให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ ไม่ทำความนอบน้อมให้ทาน ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง ให้ทานเหมือนจะทิ้ง๑ เป็นผู้ไม่เห็นผลที่จะตามมาให้ทาน๒ ในตระกูลที่ทานนั้น ๆ บังเกิดผล เขาไม่น้อมจิตไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ไม่น้อมจิตไปเพื่อนุ่งห่มผ้า อย่างดี ไม่น้อมจิตไปเพื่อใช้ยานอย่างดี และไม่น้อมจิตไปเพื่อบริโภคกามคุณ๓ ๕ อย่างดี แม้แต่บริวารของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ หรือกรรมกร ก็ไม่ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งใจใฝ่รู้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผลกรรม ที่ตนได้กระทำโดยไม่เคารพ
คหบดี บุคคลให้ทานเศร้าหมอง หรือประณีตก็ตาม ถ้าให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ทาน ให้ทานด้วยมือของตนเอง ให้ทานไม่เหมือนจะทิ้ง เป็นผู้เห็นผลที่จะตามมาให้ทานในตระกูลที่ทานนั้น ๆ บังเกิดผล เขาน้อมจิตไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี น้อมจิตไปเพื่อนุ่งห่มผ้าอย่างดี น้อมจิตไปเพื่อใช้ยานอย่างดี และน้อมจิตไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้แต่บริวารของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ หรือกรรมกรก็ตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งใจใฝ่รู้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผลกรรมที่ตนได้กระทำไว้โดยเคารพ
คหบดี เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ๑ เขาให้ทานเป็นมหาทาน อย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองคำเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดรูปิยะเต็มด้วย ทองคำ ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับทองคำ มีธงทองคำ คลุมด้วยข่ายทองคำ ให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพล เหลือง มีเครื่องประดับทองคำ มีธงทองคำ คลุมด้วยข่ายทองคำ ให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมที่รีดและไหลสะดวก มีภาชนะสำริดสำหรับรองรับ ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คนสวมแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์๒ ๘๔,๐๐๐ ที่ลาดด้วยผ้าโกเชาว์๓ ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว ลาดด้วยเครื่องลาด ทำด้วยขนแกะลาย ดอกไม้ ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชมด ข้างบนมีเพดาน มีหมอนสีแดงวางไว้ทั้ง ๒ ข้าง๔ ให้ผ้า ๘๔,๐๐๐ พับ เป็นผ้าเปลือกไม้เนื้อละเอียด ผ้าไหม เนื้อละเอียด ผ้ากัมพลเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายเนื้อละเอียด ไม่จำต้องกล่าวถึงข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค ของลิ้ม ของดื่ม ไหลออกไปเหมือนแม่น้ำ
คหบดี ท่านอาจจะมีความคิดอย่างนี้ว่า “สมัยนั้น เวลามพราหมณ์ผู้ให้ทานเป็นมหาทาน เป็นคนอื่นแน่แท้ แต่ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น เพราะเวลามพราหมณ์ ผู้ให้ทานเป็นมหาทาน ในสมัยนั้น ก็คือเรานั่นเอง แต่ในทานนั้น ไม่มีใครเป็นพระทักขิไณยบุคคล ใคร ๆ ก็ชำระทักษิณานั้นให้หมดจดไม่ได้๑
คหบดี การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิผู้เดียวให้บริโภค มีผล มากกว่าการที่เวลามพราหมณ์ได้ให้ทานเป็นมหาทาน
การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นสกทาคามีผู้เดียวให้บริโภค มีผลมากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิตั้งร้อยให้บริโภค
การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอนาคามีผู้เดียวให้บริโภค มีผลมากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นสกทาคามีตั้งร้อยให้บริโภค
การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอรหันต์ผู้เดียวให้บริโภค มีผลมากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอนาคามีตั้งร้อยให้บริโภค
การที่บุคคลเชื้อเชิญพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียวให้บริโภค มีผลมากกว่าการที่ บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอรหันต์ตั้งร้อยให้บริโภค
การที่บุคคลเชื้อเชิญตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บริโภค มีผลมากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญพระปัจเจกพุทธเจ้าตั้งร้อยให้บริโภค
การที่บุคคลเชื้อเชิญภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้บริโภค มีผลมากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บริโภค
การที่บุคคลสร้างวิหารอุทิศถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้บริโภค
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าการที่บุคคลสร้างวิหารอุทิศถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใส สมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การงดเว้นจากการลักทรัพย์ การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม การงดเว้นจาก การพูดเท็จ การงดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์เป็นสรณะ
การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตอย่างน้อยชั่วสูดดมกลิ่นหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้นนั้น
คหบดี การที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาชั่วลัดนิ้วมือเดียว มีผลมากกว่าการที่เวลามพราหมณ์ได้ให้ทานเป็นมหาทาน มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยทิฏฐิให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิตั้งร้อยให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นสกทาคามีผู้เดียวให้บริโภค มากกว่า การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นสกทาคามีตั้งร้อยให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอนาคามีผู้เดียวให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคล ผู้เป็นอนาคามีตั้งร้อยให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอรหันต์ ผู้เดียวให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอรหันต์ตั้งร้อยให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียวให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคล เชื้อเชิญพระอรหันต์ตั้งร้อยให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้บริโภค มากกว่าการที่บุคคลสร้างวิหารอุทิศถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศ ทั้ง ๔ มากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ มากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจาก การฆ่าสัตว์ ฯลฯ การงดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุ แห่งความประมาท และมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตอย่างน้อยชั่วสูดดม กลิ่นหอมนั้น”

เวลามสูตรที่ ๑๐ จบ

 

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระพุทธพจน์เกี่ยวกับ สัทธา


สทฺธาย ตรติ โอฆํ          อปฺปมาเทน อณฺณวํ
วีริเยน ทุกฺขมจฺเจติ        ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ

บุคคลย่อมข้ามพ้นห้วงน้ำด้วยศรัทธา
ข้ามมหรรณพด้วยความไม่ประมาท
ล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร
และหมดจดได้ด้วยปัญญา 

สํ.ส. (บาลี) ๑๕/๒๔๖/๑๕๘, สํ.ส. (ไทย) ๑๕/๒๔๖/๓๕๓. 



วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ภาพตำแหน่งเจ้าคณะตำบล ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖





เข้ารับตราตั้งจากพระเดชพระคุณพระเทพปัญญาเมธี (ปราชญ์  อกฺกโชโต ป.ธ.​๗) เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นองค์ประธานมอบตราตั้งเจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส 
 







คณะญาติโยมและแม่ชีที่ไปร่วมพิธี
 


ขออนุญาตหลวงพ่อถ่ายใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้ภาพสวยๆไว้เป็นที่ระลึก
 


หลวงพ่อกิตติ  จิตฺตธมฺโม รับตราตั้งเจ้าอาวาสวัดโพนงาม วันเดียวกัน

ภาพถวายกุฏิที่เมืองเลย ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๖




อาจารย์เจ้าคุณเทียบ พระสุธีธรรมานุวัตร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ให้เกียรติมาเป็นประธานรับถวายกุฏิ 



พระมหาภิรัฐกรณ์  อํสุมาลี ผอ. วิทยาลัยสงฆ์เลย (รูปที่สอง) เป็นตัวแทนเจ้าหน้ามหาวิทยาลัยและคณะสงฆ์  รับการถวายกุฏิ







ถ่ายภาพหน้าระเบียงชื่อป้ายไว้เป็นที่ระลึก


 น้องแชมป์ น้องเบ๊นซ์ น้องแบงก์ ถ่ายรูปร่วมกับป๊า เอาไว้เป็นที่ระลึกเมื่อมาเมืองเลย


ภาพวิว มจร. วิทยาลัยสงฆ์เลย









พระนิสิตที่พักอยู่ในมหาวิทยาลัย กำลังออกบิณฑบาต
 


ทางเข้ามหาวิทยาลัย เส้นหลัก

 

ถ่ายจากเนินด้านล่างขึ้นไปบนเชิงเขา
 

ถ่ายจากเนินสูงลงไป
 


ถ่ายจากมุมสูง อาคารเรียนหลังใหม่