วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พิธีอัญเชิญพระประธานประจำลานธรรมขึ้นประดิษฐานบนฐานชุกชี


ขอ เชิญญาติโยมชาวบ้านดอนหัน บ้านดงไทรทอง บ้านโพนงาม และบ้านใกล้ชิดติดกัน ร่วมพิธีอัญเชิญ พระพุทธตรีโลกนาถ (ถิรโรจน์กุลวิลาสสง่าชาติอุปถัมภ์) พระประธานประจำลานธรรมขึ้นประดิษฐานบนฐานชุกชี 

ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕
เวลา ๐๘.๐๐ น. เป็นต้นไป 











วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อาณิสูตร ว่าด้วยลิ่ม


 พระสูตรนี้ พระพุทธองค์ตรัสด้วยความเป็นห่วง เพื่อเตือนความจำของสาวกทั้งหลาย ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถจะห้ามไม่ให้เกิดได้  แต่ถ้าได้ป้องกันไว้ ก็จะทำให้ยืดอายุพระพุทธศาสนาออกไปได้อีกนาน เพราะฉะนั้น พุทธสาวกทั้งหลายควรตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก   พระองค์ตรัสว่า ต่อไปในอนาคต สาวกจะไม่สนใจฟังพระพุทธพจน์ที่แท้จริง ที่สามารถนำออกจากทุกข์ได้ ่ที่สาวกนำมากล่าว มาแสดง  แต่จะไปเห่อตามเถราจารย์รุ่นใหม่ และจะสนใจงานเขียนของนักคิดรุ่นใหม่มากกว่า เพราะเขียนด้วยถ้อยคำสละสลวย แต่นำออกจากทุกข์ไม่ได้ แถมยังเข้าใจยากอีกด้วย 

พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ ต่อจาก โอกขาสูตร 


๗. อาณิสูตร
ว่าด้วยลิ่ม
[๒๒๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ...
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีตะโพนชื่ออานกะของพวกกษัตริย์ผู้มีพระนามว่าทสารหะ เมื่อตะโพนแตก พวกกษัตริย์ทสารหะได้ตอกลิ่มอื่นลงไป ต่อมาไม้โครงเก่าของตะโพนชื่ออานกะก็หายไปเหลือแต่โครงลิ่ม ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ในอนาคต เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ตถาคตกล่าวไว้ล้ำลึก มีเนื้อความลึกซึ้ง เป็นโลกุตตรธรรม ประกอบด้วยความว่าง ภิกษุทั้งหลายจักไม่ตั้งใจฟังให้ดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ทั่วถึง และไม่ให้ความสำคัญธรรมว่า ควรเรียน ควรท่องจำให้ขึ้นใจ ฉันนั้น
แต่เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ท่านผู้เชี่ยวชาญได้รจนาไว้ เป็นบทกวี มีอักษรวิจิตร มีพยัญชนะวิจิตร อยู่ภายนอก[1] เป็นสาวกภาษิต[2] ภิกษุเหล่านั้นกลับตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยหูฟัง เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ทั่วถึง และจักสำคัญธรรมว่า ควรเรียน ควรท่องจำ ให้ขึ้นใจ[3] ฉันใด แต่เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ตถาคตกล่าวไว้ล้ำลึก มีเนื้อความลึกซึ้ง เป็นโลกุตตรธรรม ประกอบด้วยความว่าง ก็จักอันตรธานไป ฉันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อผู้อื่น กล่าวสูตรที่ตถาคตกล่าวไว้ล้ำลึก มีเนื้อความลึกซึ้ง เป็นโลกุตตรธรรม ประกอบด้วย ความว่าง เราทั้งหลายจักตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยหูฟัง เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ทั่วถึง และให้ความสำคัญธรรมว่า ควรเรียน ควรท่องจำให้ขึ้นใจ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้
อาณิสูตรที่ ๗ จบ


[1] อยู่ภายนอก หมายถึงภายนอกพระพุทธศาสนา (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๘/๕๕)
[2] สาวกภาษิต หมายถึงภาษิตอันเหล่าสาวกของเจ้าลัทธิคนใดคนหนึ่งที่ไม่ได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธสาวกได้ภาษิตไว้ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๘/๕๕, องฺ.ทุก.ฏีกา ๒/๔๘/๕๓)
[3] ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๔๘/๙๑-๙๒

วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ภาพสิคิรียา อีกมุมหนึ่ง


สิคิรียา ที่ศรีลังกา


วันพระในศรีลังกา


ภูมิประเทศของศรีลังกา


พระพุทธศาสนาในศรีลังกา

ตามรอยพระพุทธเจ้า

ตามรอยพระพุทธเจ้า ตอน ที่ ๑ 

สัตติสูตร ว่าด้วยหอก


 พระสูตรนี้ ต่อจากโอกขาสูตร มีเนื้อหาสนับสนุนโอกขาสูตร กล่าวถึงอานิสงส์ของการเจริญเมตตาภาวนาว่า ถ้าทำอย่างต่อเนื่องแล้วจิตใจจะแน่วแน่มั่นคงไม่หวั่นไหว แม้แต่อมนุษย์จะมาทำให้หวั่นไหวก็ทำได้ยาก ไม่ต้องกล่าวถึงมนุษย์ด้วยกัน

. สัตติสูตร ว่าด้วยหอก
[๒๒๗] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ...
ภิกษุทั้งหลาย หอกที่มีใบคม ถ้าบุรุษพึงมากล่าวว่า เราจักเอาฝ่ามือหรือกำมือ งอ พับ ม้วน หอกที่มีใบคม เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นผู้สามารถจะเอาฝ่ามือหรือกำมือ งอ พับ ม้วน หอกที่มีใบคมโน้นได้หรือ
เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่าการที่จะเอาฝ่ามือหรือกำมือ งอ พับ ม้วน หอกที่มีใบคมโน้น ทำไม่ได้ง่าย และบุรุษนั้นพึงได้รับความเหน็ดเหนื่อยลำบากถ่ายเดียว ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ ทำให้มาก ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ทำให้ตั้งมั่น สั่งสม ปรารภดี ถ้าอมนุษย์จะพึงบันดาลจิตของภิกษุนั้นให้ฟุ้งซ่าน อมนุษย์นั้นแหละพึงได้รับความเหน็ดเหนื่อย ลำบาก ฉันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญเมตตาเจโตวิมุตติ จักทำให้มาก ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ทำให้ตั้งมั่น สั่งสม ปรารภดี เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้
สัตติสูตรที่ ๕ จบ

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ภาวะสมองเสื่อม สิ่งที่ทุกคนควรรู้


โอกขาสูตร ว่าด้วยผลของการให้ทานและผลของการเจริญเมตตาภาวนา


 พระสูตรนี้ทำให้มีกำลังใจในการเจริญจิตตภาวนา และเจริญเมตตา เพราะเห็นอานิสงส์มากกว่าการให้ทาาน เคยนำเสนอแล้วสองครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาดี กระตุ้นเตือนจิตใจให้เกิดความอุตสาหะในการเจริญจิตตภาวนาและเมตตาเป็นอย่างยิ่ง จึงนำมาเสนออีก
พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก (ฉบับ มจร.) เล่มที่ ๑๖ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ข้อที่ ๒๒๖ หน้า ๓๑๕

. โอกขาสูตร ว่าด้วยการให้ทาน
[๒๒๖พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเช้า บุคคลใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเที่ยง บุคคลใดพึงให้ทาน ประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเย็น บุคคลใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเช้าอย่างน้อย เพียงขณะการหยดน้ำนมโค[1] บุคคลใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเที่ยงอย่างน้อยเพียง ขณะการหยดน้ำนมโค หรือบุคคลใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเย็นอย่างน้อยเพียงขณะการหยดน้ำนมโค การเจริญเมตตาจิตนี้มีผลมากกว่าทานที่บุคคลให้แล้ว ๓ ครั้ง ในวันหนึ่งนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญเมตตาเจโตวิมุตติ จักทำให้มาก ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ทำให้ตั้งมั่น สั่งสม ปรารภดี เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้
โอกขาสูตรที่ ๔ จบ



[1] เพียงขณะการหยดน้ำนมโค ในที่นี้หมายถึงการรีดน้ำนมโคครั้งเดียว หรือการใช้นิ้วมือ ๒ นิ้วจับก้อนของหอมแล้วสูดดมครั้งเดียว (สํ.นิ.. /๒๒๖/๒๔๘)

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อรรถกถาเรื่องของพระนางสุมนาราชกุมารี

อยากให้อ่านเรื่องนี้กันอย่างละเอียด จะได้รู้ว่า สาเหตุที่พระพุทธองค์ตรัส สุมนสูตร คืออะไร และรู้ว่า ผู้ที่ให้ทาน กับผู้ไม่ให้ทานในพระสูตรนี้ คือใคร
พระนางสุมนาราชกุมารี ทำบุญอะไรไว้ จึงมีรถ ๕๐๐ คัน เป็นพาหนะ และมีนางกุมารี ๕๐๐ คน เป็นบริวาร และเพราะเหตุไร พระนางจึงเสด็จไปทูลถามพระพุทธองค์ 

อ่านรายละเอียดของเรื่องตามที่ปรากฏข้างล่างนี้ ครับ  ส่วนคำแก้ศัพท์ต่างๆ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ต้องใส่ใจ ครับ

. สุมนวรรค
หมวดว่าด้วยสุมนาราชกุมารี
. สุมนสุตตวัณณนา
พรรณนาหมวดว่าด้วยสุมนาราชกุมารี

          [๓๑] ในสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :- คำว่า สุมนาราชกุมารี (สุมนาราชกุมารี) ได้แก่ เจ้าหญิงผู้ได้พระนามอย่างนั้น เพราะทรงทำมหาสักการะแล้วทรงตั้งความปรารถนาไว้ ความพิสดารว่า ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เมื่อชาวพระนครคิดกันว่า พวกเราทำการรบเสร็จแล้วจักยึดพระศาสดาไว้แล้วอาศัยเสนาบดี ได้พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วเริ่มทำบุญโดยลำดับ ในวันแรกกว่าเขาทั้งหมด เสนาบดีได้วาระแล้ว ในวันนั้น เสนาบดีจัดแจงมหาทานแล้วตั้งพวกบุรุษไว้โดยรอบสั่งว่า วันนี้ พวกเจ้าจงรักษาการณ์ไว้โดยประการที่ใคร ๆ อื่นจะถวายแม้ภิกษาอย่างหนึ่งไม่ได้”        วันนั้น ภรรยาเศรษฐีร้องไห้พูดกับธิดาผู้เล่นกับนางกุมาริกา ๕๐๐ คนผู้กลับมาแล้วว่า ลูกเอ๋ย หากบิดาของลูกยังมีชีวิตอยู่ วันนี้ แม่ต้องนิมนต์พระทศพลให้เสวยเป็นคนแรกลูกสาวพูดกับมารดาว่า แม่จ๋า แม่อย่าคิดไปเลย ลูกจักทำโดยวิธีที่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จักฉันอาหารของพวกเราเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้น ธิดานั้นจึงบรรจุข้าวปายาสไม่มีน้ำในถาดทองคำมีมูลค่า ๑๐๐,๐๐๐ จนเต็ม แล้วปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวดเป็นต้น ใช้ถาดอีกใบหนึ่งครอบแล้วล้อมภาชนะนั้นด้วยพวงดอกมะลิทั้งหลาย ทำให้คล้ายกับพวงดอกไม้ ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังบ้าน นางยกเองทีเดียวมีหมู่นางทาสีแวดล้อมออกจากเรือนไป
          ในระหว่างหนทาง พวกคนรับใช้ของเสนาบดีพูดว่า แม่หนู อย่ามาทางนี้ธรรมดาเหล่าผู้มีบุญมากย่อมมีถ้อยคำจับใจคนและถ้อยคำของพวกคนรับใช้เหล่านั้นผู้พูดอยู่บ่อย ๆ ก็ไม่อาจห้ามไว้ได้ นางกล่าวว่า ท่านอา ท่านลุง ท่านน้า ทำไมพวกท่าน ไม่ให้ไปเล่าพวกคนรับใช้กล่าวว่า แม่หนู ท่านเสนาบดีตั้งพวกเรารักษาการณ์ด้วยสั่งว่า พวกเจ้าจงอย่าให้ใครๆ อื่นถวายของควรเคี้ยวของควรบริโภคได้
          นางถามว่า ก็พวกท่านเห็นของควรเคี้ยวของควรบริโภคในมือของฉันหรือ
          พวกคนรับใช้กล่าวว่า พวกเราเห็นแต่พวงดอกไม้
          นางถามว่า ท่านเสนาบดีของพวกท่านไม่ให้ทำแม้การบูชาด้วยพวงดอกไม้หรือ
          พวกคนรับใช้กล่าวว่า ให้ซิ แม่หนู
          นางกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ขอพวกท่านจงหลีกไปเถิดดังนี้แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงรับพวงดอกไม้ด้วยเถิดพระผู้มีพระภาคทรงแลดูคนรับใช้ของเสนาบดีคนหนึ่งแล้วให้รับพวงดอกไม้ไว้ นางถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้ทำความปรารถนาว่า เมื่อหม่อมฉันเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ชื่อว่าชีวิตที่หวาดสะดุ้ง ขออย่าได้มี ในที่ที่หม่อมฉันบังเกิดแล้ว ๆ ขอให้หม่อมฉันเป็นที่รัก ดุจพวงดอกมะลินี้ และขอให้หม่อมฉันมีชื่อว่าสุมนาเถิดนางผู้อันพระศาสดาตรัสว่า เจ้าจงมีความสุขเถิดถวายอภิวาททำประทักษิณแล้วหลีกไป
          แม้พระผู้มีพระภาคก็เสด็จไปยังเรือนของเสนาบดีและประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว เสนาบดีถือข้าวยาคูเข้าไปถวาย พระศาสดาทรงใช้พระหัตถ์ปิดบาตรไว้ เสนาบดีกราบทูลว่า ภิกษุสงฆ์นั่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้าพระศาสดาตรัสว่า บิณฑบาตที่เราได้ในระหว่างหนทางมีอยู่เสนาบดีนำพวงดอกไม้ออกไปแล้ว ได้เห็นบิณฑบาต คนรับใช้ใกล้ชิดกล่าวว่า นายขอรับ มาตุคามพูดลวงกระผมว่า เป็นพวงดอกไม้ข้าวปายาสเพียงพอแก่ภิกษุทั้งหมดนับแต่พระผู้มีพระภาคเป็นต้นไป เสนาบดีได้ถวายไทยธรรมของตน พระศาสดาทรงทำภัตตกิจตรัสมงคลแล้วเสด็จหลีกไป        เสนาบดี ถามว่า หญิงคนไหนถวายบิณฑบาต
          คนรับใช้กล่าวว่า ธิดาเศรษฐี ขอรับนายท่าน
          เสนาบดีคิดว่า ธิดาเศรษฐีเป็นหญิงมีปัญญา เมื่อหญิงเห็นปานนี้อยู่ในเรือน ชื่อว่าสวรรค์สมบัติไม่ใช่บุรุษจะหาได้ยากเลยจึงนำธิดาเศรษฐีนั้นมาแล้วแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งหัวหน้า
แม้ธิดาเศรษฐีนั้นก็รับทรัพย์ทั้งในเรือนของมารดาและในเรือนของเสนาบดี ถวายทานแด่พระตถาคตแล้วทำบุญทั้งหลายตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้บังเกิดในเทวโลกชั้นกามาวจร ในขณะที่นางบังเกิดนั่นเอง ฝนดอกมะลิตกเต็มเทวโลกทั้งสิ้นโดยเป็นแถวประมาณเข่า เทวดาทั้งหลายว่า “เทพธิดานี้ถือเอาชื่อของตนมาแล้วด้วยตนเองทีเดียวจึงตั้งชื่อเทพธิดานั้นว่า สุมนาเทพธิดาเทพธิดานั้นท่องเที่ยวอยู่ในหมู่เทพและในหมู่มนุษย์ตลอด ๘๙ กัป ในที่ที่นางบังเกิดแล้ว ๆ มีฝนดอกมะลิตกไม่ขาด จึงได้มีชื่อว่า สุมนา สุมนาอย่างเดิม ก็ในครั้งนี้ นางถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าโกศล ในวันนั้นนั่นเอง นางกุมาริกา ๕๐๐ คนแม้นั้น ถือปฏิสนธิในตระกูลนั้นๆ แล้วคลอดจากครรภ์มารดาในวันเดียวกันทั้งหมด ขณะนั้นนั่นเอง ฝนดอกมะลิก็ตกโดยเป็นแถวประมาณเข่า พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระราชธิดานั้นแล้วทรงปลื้มพระทัยว่า ราชธิดานี้จักเป็นผู้สร้างบุญกุศลไว้ในกาลก่อนทรงดำริว่า ธิดาของเราถือเอาชื่อของตนมาแล้วด้วยตนเองทีเดียวจึงทรงพระราชทานพระนามราชธิดานั้นว่า สุมนาแล้วทรงให้ค้นหาทั่วพระนครด้วยทรงพระดำริว่า ธิดาของเราจักไม่บังเกิดเพียงผู้เดียวแน่ทรงสดับว่า มีนางทาริกา ๕๐๐ คนเกิดแล้วจึงโปรดเกล้าให้เลี้ยงดูทั้งหมด ด้วยพระองค์เอง เมื่อถึงแต่ละเดือน ๆ จะรับสั่งว่า พวกเจ้าจงนำมาแสดงแก่ธิดาของเรา”          พึงทราบว่า พระธิดานี้ได้พระนามอย่างนี้เพราะได้ทำมหาสักการะแล้ว ตั้งความปรารถนาไว้ ด้วยประการฉะนี้
          ในเวลาที่พระราชธิดานั้นมีพระชนม์ได้ ๗ พระชันษา เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวิหารแล้วส่งทูตไปกราบทูลพระตถาคต พระศาสดาทรงมีภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร ได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ไปกราบทูลพระราชาอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ข้าแต่มหาราชเจ้า การเสด็จมา ณ ที่นี้ของพระศาสดาเป็นมงคลทั้งแก่ข้าพระองค์ เป็นมงคลทั้งแก่พระองค์ทีเดียว ขอพระองค์ทรงโปรดเกล้าให้สุมนาราชกุมารีพร้อมด้วยนางทาริกาทั้ง ๕๐๐ คน ถือหม้อน้ำเต็มและเครื่องหอมและพวงดอกไม้เป็นต้น ส่งไปรับเสด็จพระทศพลเถิดพระราชาตรัสว่า ดีละ ท่านมหาเศรษฐีแล้วทรงทำอย่างนั้น แม้พระธิดานั้นก็เสด็จไปแล้ว ตามนัยที่พระราชารับสั่งทีเดียว ทรงอภิวาทพระศาสดาแล้ว บูชาด้วยเครื่องหอมและพวงดอกไม้ เป็นต้น แล้วได้ประทับยืน ณ ที่สมควร พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พระธิดานั้น พระธิดานั้นพร้อมด้วยนางกุมาริกาทั้ง ๕๐๐ คน ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว นางทาริกา ๕๐๐ คน มาตุคาม ๕๐๐ คน และอุบาสก ๕๐๐ คน แม้เหล่าอื่นก็บรรลุโสดาปัตติผลในขณะนั้นเหมือนกัน ในวันนั้น มีพระโสดาบัน ๒,๐๐๐ องค์ ในระหว่างหนทางนั่นเอง ด้วยอาการอย่างนี้
คำว่า เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ (เยน ภควา เตนุปสงกมิ) มีอธิบายว่า ถามว่า เพราะเหตุไร จึงเข้าไปเฝ้า ตอบว่า เพราะประสงค์จะทูลถามปัญหา ได้ทราบว่า ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ได้มีภิกษุ ๒ รูป เป็นสหายกัน บรรดาภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่ง บำเพ็ญสาราณียธรรม รูปหนึ่งบำเพ็ญภัตตัคควัตร รูปที่บำเพ็ญสาราณียธรรม กล่าวกับรูปที่บำเพ็ญภัตตัคควัตรนอกนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุ ชื่อว่าทานที่ไม่ให้ผลย่อมไม่มี การให้ของที่ตนได้แก่คนเหล่าอื่น แล้วบริโภคจึงจะควรแต่รูปที่บำเพ็ญภัตตัคควัตรนอกนี้กล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านไม่รู้หรือว่า ชื่อว่าการยังไทยธรรมให้ตกไป ย่อมไม่ควร การที่ผู้ถือเอาเพียงอาหารยังอัตภาพของตนให้เป็นไปบำเพ็ญวัตรในโรงครัว จึงจะควร บรรดาภิกษุทั้ง ๒ รูปนั้น แม้รูปหนึ่งก็ไม่อาจให้อีกรูปหนึ่งยอมรับในโอวาทของตนได้ ภิกษุแม้ทั้ง ๒ รูปครั้นบำเพ็ญข้อปฏิบัติของตนแล้ว จุติจากอัตภาพนั้นได้บังเกิดแล้วในเทวโลกชั้นกามาวจร บรรดาภิกษุทั้ง ๒ รูปนั้น รูปที่บำเพ็ญสาราณียธรรมล้ำรูปที่บำเพ็ญภัตตัคควัตรด้วยธรรม ๕ ประการ
          ท่านทั้ง ๒ นั้น ท่องเที่ยวอยู่ในหมู่เทวดาและในหมู่มนุษย์ให้พุทธันดรหนึ่งสิ้นไปแล้วอย่างนี้ ได้บังเกิดแล้วในกรุงสาวัตถีในเวลานี้ รูปที่บำเพ็ญสาราณียธรรมได้ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าโกศล รูปที่บำเพ็ญภัตตัคควัตรนอกนี้ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของหญิงรับใช้ของพระมเหสีนั้นนั่นเอง คนแม้ทั้ง ๒ นั้น เกิดแล้วโดยวันเดียวกันทีเดียว ในวันตั้งชื่อ มารดาแม้ของเด็กทั้ง ๒ ให้อาบน้ำแล้วให้นอนในห้องอันมีสิริ ได้จัดแจงเครื่องสักการะไว้ภายนอก บรรดาคนทั้ง ๒ นั้น คนที่บำเพ็ญสาราณียธรรมลืมตาแล้วก็เห็นเศวตฉัตรใหญ่ ที่นอนอันมีสิริที่ปูลาดไว้แล้วและนิเวศน์ที่ประดับตกแต่งแล้ว ได้รู้แล้วว่า เราได้บังเกิดแล้วในราชตระกูลแห่งหนึ่งเขารำพึงอยู่ว่า สหายของเราได้บังเกิดแล้วที่ไหนหนอแลเห็นสหายนอนอยู่บนที่นอนต่ำกว่า จึงคิดว่า สหายนี้ไม่เชื่อถือคำของเรา ด้วยคิดว่า เรานี้จะบำเพ็ญภัตตัคควัตรบัดนี้ เราสมควรจะข่มเขาในที่นี้จึงพูดว่า สหาย ท่านไม่ทำตามคำของเราเลย
สหายนอกนี้กล่าวว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเกิดอะไรล่ะ
คนผู้บำเพ็ญสาราณียธรรมกล่าวว่า “ท่านจงดูสมบัติของเราซิ เรานอนอยู่บนที่นอนอันมีสิริภายใต้เศวตรฉัตร (แต่) ท่านนอนอยู่บนเตียงที่ต่ำ ข้างบนลาดด้วยของแข็ง
สหายนอกนี้กล่าวว่า “ก็ท่านอาศัยเหตุนี้ทำมานะหรือ สิ่งของนั้นทั้งหมดเขาทำด้วยซี่ไม้ไผ่ใช้ผ้าท่อนเก่าพันเอาไว้ เป็นเพียงปฐวีธาตุเท่านั้น
          พระราชธิดาสุมนาได้สดับถ้อยคำของเด็กทั้ง ๒ นั้นแล้วทรงคิดว่า ในที่ใกล้น้องชายทั้ง ๒ ของเรา ก็ไม่มีใคร ๆทรงเดินไปใกล้เด็กทั้ง ๒ นั้น ประทับยืนพิงประตูได้สดับ คำว่า ธาตุแล้วทรงคิดว่า คำว่า ธาตุนี้ ไม่มีในภายนอก น้องชายทั้ง ๒ ของเราจักเป็นสมณเทพบุตรกระมังทรงคิดว่า หากเราจักบอกมารดาบิดาว่า เด็ก ๒ คนนี้พูดอย่างนี้พวกท่านจักให้นำออกไปด้วยเข้าใจว่า เด็กเหล่านี้เป็นอมนุษย์เราจักไม่บอกเหตุนี้แก่ผู้อื่น จักทูลถามเฉพาะพระทศพลผู้ทรงเป็นมหาโคตมพุทธบิดาของเรา ผู้เป็นเหรัญญิกบุรุษตัดความสงสัยได้เท่านั้น เสวยพระกระยาหารเช้าแล้วเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า หม่อมฉันจักไปยังที่บำรุงพระทศพล”    พระราชารับสั่งให้เทียมรถ ๕๐๐ คัน แท้จริง ในพื้นชมพูทวีป กุมารี ๓ คนเท่านั้นได้รถ ๕๐๐ คัน ในสำนักของบิดาทั้งหลาย คือ () เจ้าหญิงจุนทีพระธิดาของพระเจ้าพิมพิสาร () นางวิสาขาธิดาของธนัญชัยเศรษฐี () เจ้าหญิงสุมนานี้ พระธิดานั้นทรงถือเครื่องหอมและพวงดอกไม้ประทับยืนบนรถ มีรถทั้ง ๕๐๐ คันเป็นบริวาร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ด้วยพระดำริว่า เราจักทูลถามปัญหานี้
คำว่า พึงมีในที่นี้ (อิธสฺสุ)  ได้แก่ พึงมีในที่นี้ คำว่า คนหนึ่งเป็นทายก (เอโก ทายโก) ความว่า คนหนึ่งให้สิ่งของแก่ผู้อื่นจากลาภที่ตนได้แล้ว บริโภคเอง ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญสารณียธรรม คำว่า คนหนึ่งไม่ใช่ทายก (เอโก อทายโก) ความว่า คนหนึ่งไม่ให้สิ่งที่ตนได้แล้วแก่ผู้อื่น บริโภคเอง ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญภัตตัคควัตร คำว่า ท่านทั้ง ๒ ผู้เป็นเทวดานั้น (เทวภูตานํ ปน เนสํ) ได้แก่ คนทั้ง ๒ นั้น ก็เป็นเทวดา คำว่า ย่อมข่ม (อธิคณฺหาติ) ได้แก่ ข่มแล้ว ยึดไว้ คือ ครอบงำ ได้แก่ ให้อยู่ในอำนาจ คำว่า ด้วยอธิปไตย (อธิปเตยฺเยน) ได้แก่ ด้วยเหตุที่เป็นหัวหน้า คำว่า ด้วยฐานะ ๕ ประการนี้ (อิเมหิ ปญฺจหิ ฐาเนหิ) ได้แก่ ย่อมข่มด้วยเหตุ ๕ ประการนี้ เหมือนท้าวสักกะจอมเทพข่มเทพที่เหลือ ในคำเป็นต้นว่า ที่เป็นของมนุษย์ (มานุสเกน) พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :- เป็นหัวหน้าผู้ยิ่งกว่าด้วยเหตุ ๕ ประการนี้ คือ ด้วยอายุ เหมือนพระมหากัสสปเถระ พระพักกุลเถระ และพระอานนทเถระ ด้วยวรรณะ เหมือนพระมหาคติอัมพอภัยเถระและอำมาตย์ผู้เป็นขุนคลัง ด้วยสุข เหมือนรัฐปาลกุลบุตร โสณเศรษฐีบุตร และยสทารก ด้วยยศเหมือนพระเจ้าธรรมาโศกราช ด้วยอธิปไตยก็อย่างนั้นคือเหมือนพระเจ้าธรรมาโศกราช
คำว่า เมื่อเขาขอร้อง [จึงใช้จีวร] มาก (ยาจิโตว พหุลํ) ความว่า เป็นหัวหน้าผู้ยิ่งกว่าด้วยเหตุเหล่านี้ คือ บรรพชิตผู้ถูกขอร้องแล้วเท่านั้น จึงใช้สอยจีวรเป็นต้นมาก เหมือนพระพักกุลเถระ พระสีวลีเถระ และพระอานนทเถระ เป็นต้น คำว่า  ในระหว่างวิมุตติกับวิมุตติ (ยทิทํ วิมุตฺติยา วิมุตฺตํ) ความว่า การปรารภวิมุตติของบุคคลนอกนี้กับวิมุตติของอีกคนหนึ่ง แล้วทำให้ต่างกันอันใด เป็นสิ่งที่ควรกล่าวถึง  แต่ เราไม่กล่าวถึงการทำให้ต่างกันนั้น แท้จริง เด็กผู้มีอายุ ๗ ขวบก็ดี พระเถระมีพรรษาตั้ง ๑๐๐ ก็ดี ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มาร หรือพรหม ก็ดี แทงตลอดวิมุตติได้ ชื่อว่าความแตกต่างกันในโลกุตตรมรรคที่ใครๆ  แทงตลอดได้แล้ว ย่อมไม่มี คำว่า ควร (อลเมว) ได้แก่ สมควรแล้วทีเดียว คำว่า เพราะ (ยตฺร หิ นาม) เท่ากับ ชื่อเหล่าใด
คำว่า โคจรไปในอากาสธาตุ (คจฺฉํ อากาสธาตุยา) ได้แก่ โคจรไปทางอากาศ คำว่า มีศรัทธา (สทฺโธ) ได้แก่ ผู้เชื่อคุณของพระรัตนตรัย คำว่า ลอยไป (ถนยํ) ได้แก่ กำลังเคลื่อนไป คำว่า มีสายฟ้าแลบแปลบปลาบ (วิชฺชุมาลี) ได้แก่ ประกอบด้วยสายฟ้าที่แลบอยู่หน้าเมฆเช่นเดียวกับพวงดอกไม้ คำว่า มียอดตั้ง ๑๐๐ (สตกฺกถุ) ได้แก่ มียอด ๑๐๐ ยอด อธิบายว่า ประกอบด้วยยอดเมฆตั้ง ๑๐๐ ที่ตั้งขึ้นด้านโน้นและด้านนี้ คำว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ (ทสฺสนสมฺปนฺโน) ได้แก่ เป็นพระโสดาบัน คำว่า และโภคะ (โภคปริพฺยูโฬห) ได้แก่ เพิ่มพูนด้วยโภคะทั้งหลายที่เขาถวายด้วยอำนาจเป็นทาน ดุจเต็มห้วงน้ำ อธิบายว่า ให้เพียบพร้อมในเทวโลก คำว่า ตายไปแล้ว (เปจฺจ) ได้แก่ ในปรโลก คำว่า ย่อมบันเทิงในสวรรค์ (สคฺเค ปโมทติ) ความว่า  เขาเกิดขึ้นในสวรรค์ชั้นใด   ย่อมรื่นเริง บันเทิงในสวรรค์ชั้นนั้นแล

วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สุมนสูตร ว่าด้วยสุมนาราชกุมารี

 พระสูตรนี้เคยนำเสนอแล้ว แต่เห็นเป็นพระสูตรที่มีเนื้อหาดี จึงนำเอามาเสนออีก เพื่อเตือนความจำ เหมือนกับหนังเก่าเอามาฉายอีกตามช่องโทรทัศน์ต่างๆ ในเมืองไทย 

         ความย่อของพระสูตรนี้ก็คือ ผู้ที่ให้ทานจะได้รับอานิสงส์ ๕ อย่าง ต่างจากผู้ที่ไม่ค่อยจะให้ทาน หรือพูดภาษาง่ายๆ คือคนตระหนี่นั่นเอง คนประเภทที่มีคอนเซพว่า การประหยัดคือการกินแล้วไม่จ่ายให้เพื่อนจ่ายฝ่ายเดียว
พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ให้ทาน จะได้รับอานิสงส์ดังนี้ 
๑. อายุ  ๒. วรรณะ  ๓. ความสุข  ๔. ยศฐาบรรดาศักดิ์  ๕. ความเป็นใหญ่  
ทั้งที่เป็นของมนุษย์และที่เป็นของเทวดาหรือของทิพย์ หมายความว่า ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเป็นผู้เลิศกว่าคนที่ไม่ให้ทานด้วยผล ๕ อย่างนี้ ถ้าเกิดเป็นเทวดา ก็จะเป็นผู้เลิศกว่าเทวดาที่ไม่ให้ทานด้วยผล ๕ อย่างนี้เหมือนกัน 

พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ข้อ ๓๑ หน้า ๔๕-๔๘.


. สุมนสูตร
ว่าด้วยสุมนาราชกุมารี 

 [๓๑] สมัยหนึ่ง ฯลฯ อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น สุมนาราชกุมารีมีรถ ๕๐๐ คัน และกุมารี ๕๐๐ คนแวดล้อม เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร๒ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส สาวกของพระผู้มีพระภาค ๒ คน มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน คนหนึ่งเป็นทายก๓ คนหนึ่งไม่ใช่ทายก คนทั้งสองนั้น หลังจากตายแล้ว ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ท่านทั้งสองผู้เป็นเทวดานั้น พึงมีความพิเศษ มีเหตุแตกต่างกันหรือไม่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มี สุมนา คือเทวดาผู้เคยเป็นทายก ย่อมข่มเทวดา ผู้ไม่เคยเป็นทายกด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ
. อายุที่เป็นทิพย์ ๒. วรรณะที่เป็นทิพย์
. สุขที่เป็นทิพย์๔. ยศที่เป็นทิพย์
. อธิปไตยที่เป็นทิพย์
เทวดาผู้เคยเป็นทายก ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่เคยเป็นทายกด้วยฐานะ ๕ ประการนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเทวดาทั้งสองนั้น จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ ท่านทั้งสองผู้เป็นมนุษย์นั้น พึงมีความพิเศษ มีเหตุแตกต่างกันหรือไม่
มี สุมนา คือมนุษย์ผู้เคยเป็นทายก ย่อมข่มมนุษย์ผู้ไม่เคยเป็นทายกด้วย ฐานะ ๕ ประการ คือ
. อายุที่เป็นของมนุษย์ ๒. วรรณะที่เป็นของมนุษย์
. สุขที่เป็นของมนุษย์ ๔. ยศที่เป็นของมนุษย์
. อธิปไตยที่เป็นของมนุษย์
มนุษย์ผู้เคยเป็นทายก ย่อมข่มมนุษย์ผู้ไม่เคยเป็นทายกด้วยฐานะ ๕ ประการนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าคนทั้งสองนั้นออกบวชเป็นบรรพชิต ท่านทั้งสองผู้เป็นบรรพชิตนั้น พึงมีความพิเศษ มีเหตุแตกต่างกันหรือไม่
มี สุมนา บรรพชิตผู้เคยเป็นทายก ย่อมข่มบรรพชิตผู้ไม่เคยเป็นทายกด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ
. เมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยจีวรมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงใช้สอยน้อย
. เมื่อเขาขอร้องจึงฉันบิณฑบาตมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงฉันน้อย
. เมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยเสนาสนะมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงใช้สอยน้อย
. เมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงใช้สอยน้อย
. อยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจารีเหล่าใด เพื่อนพรหมจารีเหล่านั้นก็ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมเป็นที่พอใจ เป็นส่วนมาก ที่ไม่พอใจเป็นส่วนน้อย นำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก ที่ไม่พอใจเป็นส่วนน้อย
บรรพชิตผู้เคยเป็นทายก ย่อมข่มบรรพชิตผู้ไม่เคยเป็นทายกด้วยฐานะ ๕ ประการนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าคนทั้งสองนั้นบรรลุอรหัตตผล ท่านทั้งสองผู้บรรลุอรหัตตผล พึงมีความพิเศษ มีเหตุแตกต่างกันหรือไม่
สุมนา เราไม่กล่าวว่าแตกต่างกันเลยในระหว่างวิมุตติกับวิมุตติ๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ข้อนี้กำหนดได้ว่า ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่ บรรพชิต
อย่างนั้น สุมนา ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน โคจรไปในอากาสธาตุ
ย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งสิ้นในโลกด้วยรัศมี ฉันใด๑
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมรุ่งเรืองกว่าผู้ตระหนี่ทั้งหมดในโลกด้วยจาคะ
เมฆที่ลอยไปตามอากาศ มีสายฟ้าแลบแปลบปลาบ
มียอดตั้งร้อย ให้ฝนตกรดแผ่นดินเต็มที่ดอนและที่ลุ่ม ฉันใด
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ๒
เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ด้วยเหตุ ๕ ประการ
คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และโภคทรัพย์
เขาตายไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์ 

สุมนสูตรที่ ๑ จบ

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วสลสูตร ว่าด้วยลักษณะของคนเลว


วสลสูตร ว่าด้วยลักษณะของคนเลว  เรื่องนี้เกิดขึ้นขณะที่พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ในกรุงสาวัตถี ถูกพราหมณ์ชื่อว่า อัคคิกภารทวาชะ ด่าว่า สมณะหัวโล้น เป็นคนเลว พระองค์จึงถามเขาว่า  รู้จักคนเลวหรือลักษณะของคนเลวหรือ พราหมณ์ตอบว่า ไม่รู้ ถ้าพระองค์รู้จงบอกแก่เขาด้วย  พระองค์จึงตรัสแก่เขา ลักษณะของคนเลวตามทัศนะของพระพุทธองค์มีอยู่ ๒๐ ข้อ บางข้อมีหลายลักษณะด้วยกัน ดังนี้

ข้อที่ ๑ คนมักโกรธ ชอบผูกอาฆาต ชอบลบหลู่ดูหมิ่น เห็นชอบเป็นผิด มีมายา
ข้อที่ ๒ ชอบเบียดเบียนสัตว์ ไม่มีความเอ็นดูเพื่อนมนุษย์และสัตว์อื่น
ข้อที่ ๓ ชอบทำลายชีวิตผู้อื่น เที่ยวปล้นสะดม ถูกประณามว่า เป็นโจรปล้นฆ่าชาวบ้าน
ข้อที่ ๔ คนเที่ยวลักขโมยทรัพย์สินของคนอื่น
ข้อที่ ๕ คนกู้หนี้ยืมสินเขามาแล้ว ถูกทวงกลับกล่าวว่า ไม่ได้ยืม หรือหลบหนีเจ้าหนี้
ข้อที่ ๖ คนดักฆ่าหรือทำร้ายคนเดินทาง ชิงเอาทรัพย์สมบัติเขา
ข้อที่ ๗ คนถูกอ้างเป็นพยานแล้วกล่าวคำเท็จ เพราะเห็นแก่หน้า หรือทรัพย์สิน
ข้อที่ ๘ คนประพฤติล่วงเกินภรรยาของญาติ หรือของเพื่อน จะด้วยการข่มขืนหรือด้วยความยินยอมกันก็ตาม
ข้อที่ ๙ คนผู้สามารถเลี้ยงตนเองและผู้อื่นได้ แต่ไม่เลี้ยงมารดาบิดา ผู้แก่ชรา
ข้อที่ ๑๐ คนทุบตี ดุด่ามารดาบิดา พี่น้อง พ่อตา แม่ยาย หรือพ่อผัว แม่ผัว
ข้อที่ ๑๑ คนถูกถามถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์แต่กลับบอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือพูดกลบเกลื่อนบอกไม่ชัดเจน
ข้อที่ ๑๒ คนทำบาปกรรมแล้วปรารถนาไม่ให้คนอื่นรู้ว่าตนทำ
ข้อที่ ๑๓ คนไปบ้านผู้อื่นถูกต้อนรับด้วยโภชนาหารอย่างดี แต่พอเขามาบ้านตนบ้าง กลับไม่ต้อนรับเขาเช่นนั้น
ข้อที่ ๑๔ คนกล่าวมุสาวาท หลอกลวงสมณะหรือพราหมณ์ หรือแม้กระทั่งวณิพกยาจก
ข้อที่ ๑๕ คนเมื่อสมณะหรือพราหมณ์มาบิณฑบาตแต่เช้า ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต กลับด่าว่าขับไล่
ข้อที่ ๑๖ คนถูกโมหะครอบงำ อยากได้สิ่งของเล็กน้อยของผู้อื่น พูดจาหลอกลวงเขา
ข้อที่ ๑๗ คนชอบยกตนข่มคนอื่น
ข้อที่ ๑๘ คนโหดร้าย มีใจคับแคบ ปรารถนาชั่ว มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ
ข้อที่ ๑๙ คนกล่าวร้ายพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกของพระพุทธเจ้าที่เป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์
ข้อที่ ๒๐ คนไม่เป็นพระอรหันต์แต่ปฏิญญาว่าเป็นพระอรหันต์ ข้อนี้ถือว่าเลวที่สุด เป็นดุจโจรในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก

สุดท้ายพระพุทธองค์สรุปว่า
 คนจะชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
แต่ชื่อว่าเป็นเคนเลวเพราะกรรม (การกระทำ)
ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม

คนที่เกิดในตระกูลต่ำแต่ทำความดี ก็ได้รับคำชม  ตายไปแล้วก็ไปเกิดในสุคติ ชาติกำเนิดไม่อาจห้ามเขาได้
คนที่เกิดในตระกูลสูงแต่ทำความชั่ว เขาย่อมได้รับคำติฉินนินทา ตายแล้วไปเกิดในทุคติ ชาติกำเนิดป้องกันเขาไม่ได้

พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ข้อที่ ๑๑๖-๑๔๒ หน้าที่ ๕๒๘-๕๓๓

วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปราภวสูตร ว่าด้วยทางแห่งความเสื่อม


ปราภวสูตร  ว่าด้วยทางแห่งความเสื่อม พระสูตรนี้พระพุทธองค์แสดงทางแห่งความเสื่อมไว้ ๑๑ ข้อ ซึ่งบางข้ออาจมีเหตุแห่งความเสื่อมอยู่หลายอย่าง เรียงตามลำดับดังนี้
ข้อที่ ๑ คนเกลียดชังธรรม
ข้อที่ ๒ คนรักอสัตบุรุษ ชอบธรรมของอสัตบุรุษ
ข้อที่ ๓ คนชอบนอนหลับ ชอบคลุกคลีกับหมู่  ไม่ขยัน  เกียจคร้าน โกรธง่าย
ข้อที่ ๔ คนที่สามารถเลี้ยงตนเองและผู้อื่นได้ แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ผู้แก่ชรา
ข้อที่ ๕ คนชอบพูดคำเท็จ หลอกลวงสมณะหรือพราหมณ์ หรือแม้กระทั่งพวกวณิพกขอทาน
ข้อที่ ๖ คนมีเงินเหลือกินเหลือใช้แต่กินของอร่อยคนเดียวไม่เอื้อเฟื้อคนอื่น
ข้อที่ ๗ คนหยิ่งหรือกระด้างเพราะชาติ หยิ่งเพราะทรัพย์ หยิ่งเพราะโคตร ชอบดูหมิ่นญาติของตน
ข้อที่ ๘ เป็นคนเจ้าชู้ ชอบเล่นการพนัน ชอบล้างผลาญทรัพย์ที่หามาได้
ข้อที่ ๙ ไม่ยินดีในภรรยาหรือสามีของตน ชอบเที่ยวกับหญิงแพศยา หรือชอบคบชู้สู่สามีหรือภรรยาของคนอื่น
ข้อที่ ๑๐  คนแก่ได้เมียสาว จะนอนไม่หลับเพราะความหึงหวง
ข้อที่ ๑๑ คนเกิดในตระกูลกษัตริย์ที่มีโภคะน้อย แต่อยากเป็นกษัตริย์ ครองราชบัลลังก์

พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย  สุตตนิบาต ข้อที่ ๙๑-๑๑๕ หน้า ๕๒๓-๕๒๘.

เนื้อความเต็มของพระสูตร คัดเอาเฉพาะที่เป็นพระพุทธพจน์

. ปราภวสูตร
ว่าด้วยทางแห่งความเสื่อม
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ พระเชตวัน  อารามของอนาถ-บิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี  ครั้งนั้น  เมื่อราตรีผ่านไป  เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก  เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน  เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ  ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่  ณ ที่สมควร  ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
 
[๙๑]    ข้าพระองค์มาทูลถามถึงคนผู้มีแต่ความเสื่อม
          กับพระผู้มีพระภาคผู้โคดมว่า
          อะไรเป็นทางแห่งความเสื่อม
  
[๙๒]   (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
          ผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย ผู้เสื่อมก็รู้ได้ง่าย
          ผู้เจริญใคร่ธรรม ผู้เสื่อมชังธรรม
 [๙๔]   คนที่มีอสัตบุรุษเป็นที่รัก ไม่ทำสัตบุรุษให้เป็นที่รัก
          ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ
          นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
 [๙๖]   คนผู้ชอบหลับอยู่เสมอ ชอบสมาคม
          ไม่ขยันหมั่นเพียร เกียจคร้าน โกรธง่าย
          นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
 [๙๘]   คนผู้มีความสามารถเลี้ยงตนและผู้อื่นได้
         แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่ชรา ผู้ผ่านวัยหนุ่มวัยสาวแล้ว
          นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
 [๑๐๐] คนผู้กล่าวมุสาวาท หลอกลวงสมณะหรือพราหมณ์
          หรือแม้กระทั่งวณิพกยาจกอื่น ๆ
          นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
 [๑๐๒] คนผู้มีทรัพย์มาก มีเงินทองของกินเหลือเฟือ
          กินของอร่อยเพียงคนเดียว
          นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
 [๑๐๔] คนกระด้างเพราะชาติ กระด้างเพราะทรัพย์
          และกระด้างเพราะโคตร
          ชอบดูหมิ่นญาติของตน
          นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
 [๑๐๖] คนผู้เป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา และนักเลงการพนัน
          ชอบล้างผลาญทรัพย์สมบัติที่ตนหามาได้ 
          นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
 [๑๐๘] คนผู้ไม่ยินดีภรรยาของตน ชอบเที่ยวหญิงแพศยา
          ชอบคบชู้สู่สาวภรรยาคนอื่น
          นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
 [๑๑๐] ชายแก่ได้หญิงสาววัยรุ่น มีถันเท่าผลมะพลับมาเป็นภรรยา
          มักจะนอนไม่ค่อยหลับ เพราะความหึงหญิงสาวรุ่นนั้น
          นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
 [๑๑๒] คนแต่งตั้งหญิงหรือชายผู้เป็นนักเลง
          ใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือย ไว้ในความเป็นใหญ่ 
          นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
 [๑๑๔] คนผู้เกิดในขัตติยตระกูล มีโภคะน้อย
          แต่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ปรารถนาจะครองราชย์
          นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๑๕]  บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะอันประเสริฐ 
พิจารณาเห็นทางแห่งความเสื่อมในโลก ดังกล่าวมานี้แล้วท่านย่อมคบโลกที่เจริญแน่นอน

ปราภวสูตรที่ ๖ จบ



วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ภาพบรรยากาศงานฉลองพุทธยันตี ที่ ยูเอน ๒ มิถุนายน ๒๕๕๕

 








"นายกฯ ปู" เชื่อคำสอนพุทธศาสนาสร้างสันติสุขแก่สังคม ขอยึดเป็นแนวทางดำเนินชีวิต
วันที่ 2 มิ.ย. ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์   ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในงานวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2555 ตอนหนึ่งว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาประจำปี 2012 วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพานของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้าได้สร้างแรงบันดาลใจและความสงบสุขให้แก่ผู้คนมากมายเช่น นี้ จึงทำให้พุทธศาสนาแพร่หลายและจัดตั้งตัวเองในหลายประเทศทั่วเอเชียและทั่ว โลก โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้พิจารณากำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของ โลก และเกิดเป็นความร่วมมือจากประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนร่วม กันเป็นเจ้าภาพจัดงานวันวิสาขบูชาโลก ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นิวยอร์ก และในสำนักงานองค์การสหประชาชาติประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการจัดงาน ณ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ประจำประเทศไทยในวันนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกาให้เกียรติมาเข้าร่วมงานใน วันนี้ ซึ่งในอดีต ประเทศศรีลังกาเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมพุทธศาสนิกชนสากลเมื่อปี พ.ศ. 2541ประเทศไทยมีความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมพุทธศาสนานานา ชาติ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 ซึ่งในปีนี้ถือเป็นว่ามีความสำคัญยิ่งเนื่องจากเป็น ปีแห่งการฉลองพุทธชยันตี การครบรอบ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอีกด้วย

“ความเชื่อในคำสอนของพระ พุทธเจ้าว่าจะสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยให้เกิดสันติภาพในโลก รวมถึงหลักการไม่ใช้ความรุนแรง อยู่ร่วมกันอย่างสันติ การสร้างความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และการช่วยเหลือกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หลักการเดียวกันนี้เป็นหลักการที่ใช้ร่วมกันโดยมากในชุมชนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือไม่ก็ตาม ในฐานะที่พุทธศาสนาเป็นหลักคำสอนในการดำเนินชีวิตบนโลกที่มีความแตกต่างทาง ความเชื่อ จะช่วยให้มีความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ”น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

นายก รัฐมนตรี กล่าวในตอนท้าย ว่า ตนขอขอบคุณผู้นำสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ และผู้มีจิตศรัทธาในศาสนาที่มาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะสงฆ์จากมหาเถรสมาคม มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชน และหวังว่างานวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลกที่สหประชาชาติจัดขึ้นจะดำเนินต่อไป เพื่อให้เราระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและช่วยเรามีความสงบสุขในการ ดำเนินชีวิต 

 จาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด  
วันที่ 02 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 13:43 น.  ข่าวสดออนไลน์

 



นายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาร่วมพิธี กล่าวสุนทรพจน์พร้อมกับประธานาธิบดี ของศรีลังการ คือ ท่าน มหินทา ราชปักษา 








 ถ่ายภาพหมู่ไว้เป็นที่ระลึก เริ่มจากซ้าย พระโต วัดบึงทองหลาง รูปที่สอง พระสิโรดม  เจ้าหน้าที่สำนักธรรมวิจัย มจร. รูปที่สาม พระมหาภิรัฐกรณ์ อํสุมาลี ผอ.วิทยาลัยสงฆ์เลย รูปที่สี่ พระระพิน  พุทฺธิสาโร รูปที่ห้า ผู้เขียน รูปที่หก พระมหาโพธิธรรม  (ทองใบ) วัดเทพลีลา (ศิษย์หลวงปู่ใหญ่วัดพิชโสภาราม เขมราฐ อุบลฯ)