ตัวอย่างการแก้กระทู้ธรรม นักธรรมชั้นเอก และธรรมศึกษาชั้นเอก
ปาปญฺเจ ปุริโส
กยิรา น นํ
กยิรา ปุนปฺปุนํ
น ตมฺหิ
ฉนฺทํ กยิราถ ทุกฺโข ปาปสฺส
อุจฺจโย.
ถ้าคนพึงทำบาป ก็ไม่ควรทำบาปนั้นบ่อย ๆ
ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น
เพราะการสั่งสมบาป นำทุกข์มาให้
ณ
บัดนี้จักได้อธิบายขยายความแห่งกระทู้ธรรมที่ได้ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นนั้น
พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติสืบต่อไป
คำว่า บาป ได้แก่อกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่าง คือ กายทุจริต
๓ ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์
การประพฤติผิดในกาม วจีทุจริต ๔ ได้แก่
พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดคำส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ มโนทุจริต ๓ ได้แก่
พยาบาท อภิชฌา
โลภเพ่งเอาของของคนอื่นมาเป็นของตน และมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
อกุศลเหล่านี้ เรียกว่า บาป เพราะทำแล้วมีผลเป็นทุกข์ ทำให้ผู้ทำเดือดร้อนในภายหลัง
ยกตัวอย่างเช่น ฆ่าสัตว์ สัตว์ที่ถูกฆ่า ก็อาฆาตพยาบาท จองเวรไว้ ถ้าทำบ่อยๆ บาปก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
จะส่งผลให้กลายเป็นคนอายุสั้น มีโรคภัยเบียดเบียนมาก การลักทรัพย์
ถ้าถูกจับได้ต้องติดคุก เสียค่าปรับ เสียโอกาส หมดอิสรภาพ ถ้าไม่ถูกจับ จิตใจตัวเองก็เกิดความระแวง เกรงว่าเจ้าของทรัพย์จะรู้ว่าตัวเองเป็นคนลัก
นอนไม่หลับ อยู่ไม่สุข ต้องย้ายสถานที่อยู่ไปเรื่อยเพื่อหลบหนีการจับกุม การทำบาปให้ผลเป็นทุกข์อย่างนี้ พระพุทธองค์จึงสอนไม่ให้ทำบาป
หรือจำเป็นต้องทำก็อย่าทำบ่อย อย่าพอใจในการทำบาป เพราะการสั่งสมบาปนำแต่ความทุกข์
ความเดือดร้อนมาให้ ตลอดพระชนมชีพของพระพุทธเจ้า
พระองค์ตรัสสอนเรื่องกุศลอกุศล สอนเรื่องกรรมคือการกระทำ ให้เชื่อหลักกรรม
เชื่อผลของกรรม เชื่อว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ทำกุศลย่อมได้กุศล
ทำอกุศลย่อมได้อกุศล คือบาป สอนไม่ให้ประมาท ให้ขยันอดทน สอนให้รู้จักให้ทาน
รักษาศีล เจริญภาวนา เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นบุญ เป็นกุศล ทำแล้วมีผลเป็นความสุข
สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาในขุททกนิกาย
ชาดก มหานิบาตว่า
อุฏฺฐาตา กมฺมเธยฺเยสุ
อปฺปมตฺโต วิจกฺขโณ
สุสํวิหิตกมฺมนฺโต ส ราชวสตึ วเส.
ผู้หมั่นในการงาน ไม่ประมาท
เป็นผู้รอบคอบ
จัดการงานเรียบร้อย
จึงควรอยู่ในราชการ
คนขยันในการงาน ไม่ประมาทในชีวิต เป็นผู้รอบคอบ
จะทำงานอะไรก็ประสบความสำเร็จง่าย
จะประกอบอาชีพอะไรก็เจริญก้าวหน้า เป็นที่รักที่ชอบใจของคนรอบข้าง
ของเพื่อนร่วมงาน ของหัวหน้า หรือ ของเจ้านาย เป็นคนที่สังคมต้องการทำงานร่วมด้วยเพราะทำแล้วเป็นสิริมงคลแก่ตัวเขาและองค์กร
คนขยันหมั่นเพียร รอบคอบ ไม่ประมาท อยู่ที่ไหนก็ทำให้ที่นั่นเจริญรุ่งเรือง
จะรับราชการก็ทำให้วงการราชการเจริญรุ่งเรือง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า คนประเภทนี้จึงควรอยู่ในราชการ เป็นข้าราชการได้รับเงินเดือนซึ่งเป็นภาษีของประชาชนต้องรู้จักบุญคุณของประชาชนด้วย
ต้องทำงานเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนโดยเฉพาะประชาชนผู้เป็นรากหญ้าอยู่ห่างไกล
ถือว่า คนเหล่านี้มีบุญคุณต่อข้าราชการทุกคน
ถึงแม้พวกเขาจะมีฐานะทางการเงินไม่ดีนักแต่พวกเขาเป็นคนส่วนมากของประเทศ
พวกเขาเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของประเทศ
คนเราถ้ากระดูกสันหลังไม่ดีไม่แข็งแรงก็ไม่สามารถรองรับร่างกายให้ยืนหยัดอยู่ได้
ทุกส่วนจะดีแข็งแรงก็ตาม กระดูกสันหลังถือว่าเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย ฉันใด ประชาชนชาวไร่ชาวนาก็เหมือนกัน ถือเป็นกลุ่มคนสำคัญของประเทศ ถ้าคนส่วนมากยังลำบากอยู่ประเทศก็เจริญไม่ได้ เหมือนคนไข้ไม่สบาย
จะใช้ทำงานก็ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าข้าราชการไม่ดูแลพวกเขาให้มีความเป็นอยู่ดี ถึงเวลาทางการต้องการความช่วยเหลือจากพวกเขา
เขาก็จะไม่ให้ความร่วมมือเต็มที่ เพราะพวกเขาไม่ได้รับการดูแลจากทางการมาก่อน สมดังโพธิสัตว์ภาษิตที่มาในขุททกนิกาย ชาดก
เอกนิบาตว่า
โย ปุพฺเพ
กตกลฺยาโณ กตตฺโถ นาวพุชฺฌติ
ปจฺฉา กิจฺเจ
สมุปฺปนฺเน กตฺตารํ นาธิคจฺฉติ.
ผู้อื่นทำความดีให้ ทำประโยชน์ให้ก่อน
แต่ไม่สำนึกถึง
(บุญคุณ) เมื่อมีกิจเกิดขึ้นภายหลัง จะหาผู้ช่วยทำไม่ได้
ผู้ที่ทำประโยชน์ให้เราก่อน
เราต้องสำนึกถึงบุญคุณคนเหล่านั้น ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตาม
อยู่ในฐานะอะไรก็ตาม ถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณต่อเรา เช่น บิดา มารดา ครูบาอาจารย์
เป็นต้น หน้าที่เราคือทำประโยชน์ตอบแทนพวกเขาอย่างสุดความสามารถ ชาวพุทธเราต้องเป็นคนกตัญญูกตเวที
รู้จักบุญคุณของผู้ที่ทำคุณแก่ตนแล้วตอบแทนท่านเหล่านั้น ด้วยความขยันอดทน ความขยัน อดทน มีอยู่ในใจของใครแล้ว
ผู้นั้นมีแต่ความเจริญ พระพุทธองค์ก็สรรเสริญ ยกย่อง ชีวิตของคนขยันแม้เป็นอยู่เพียงวันเดียวยังประเสริฐกว่า การเป็นอยู่
ร้อยปี ของคนเกียจคร้าน
สมดังพระพุทธภาษิตที่มาในขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
โย จ
วสฺสสตํ ชีเว กุสีโต
หีนวีริโย
เอกาหํ ชีวิตํ
เสยฺโย วิริยํ อารภโต
ทฬฺหํ.
ผู้ใดเกียจคร้าน มีความเพียรเลว พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี
แต่ผู้ปรารภความเพียรมั่นคง มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ประเสริฐกว่าผู้นั้น.
คนเกียจคร้านอยู่ที่ไหนก็ไม่เจริญ
และไม่มีใครต้องการทำงานด้วย
เพราะทำแล้วไม่เป็นมงคลแก่ตัวเขา ส่วนคนขยันมีแต่คนอยากทำงานด้วย
อยากอยู่ใกล้เพราะอยู่แล้วทำให้ชีวิตพวกเขาดีมีความสุข ชีวิตของคนขยันมีแต่ความเจริญฝ่ายเดียว ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในคาถาข้างบนนั้น สาธุชนทั้งหลาย รู้ทางแห่งความเจริญ ความเสื่อม
ทางแห่งบุญ ทางแห่งบาปแล้ว ควรเจริญหรือดำเนินชีวิตแต่ในทางเจริญ
คือทางที่เป็นบุญ
พึงงดเว้นทางแห่งบาปซึ่งเป็นทางแห่งความเสื่อม ความทุกข์
ความเดือดร้อน เมื่อชีวิตยังมีอยู่ควรเร่งขวนขวายสร้างคุณงามความดีเอาไว้ให้มากๆ
เพราะนอกจากจะได้รับผลในชาตินี้แล้ว เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วก็จะได้รับความสุขในภพหน้าชาติหน้า
ไม่ต้องไปตกอบายภูมิ
สรุปความแห่งสุภาษิตที่อธิบายมานี้ว่า
บาป ได้แก่อกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่าง คือ กายทุจริต ๓ ได้แก่ การฆ่าสัตว์
การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม วจีทุจริต ๔ ได้แก่ พูดเท็จ พูดคำหยาบ
พูดคำส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ มโนทุจริต ๓ ได้แก่ พยาบาท อภิชฌา โลภเพ่งเอาของของคนอื่นมาเป็นของตน
และมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม อกุศลเหล่านี้ เรียกว่า บาป เพราะทำแล้วมีผลเป็นทุกข์
ทำให้ผู้ทำเดือดร้อนในภายหลัง ถ้าจำเป็นต้องทำบาปก็อย่าทำบ่อย
เพราะการสั่งสมบาปทำทุกข์มาให้ สมดังพุทธสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้นนั้นว่า
ปาปญฺเจ ปุริโส
กยิรา น นํ
กยิรา ปุนปฺปุนํ
น ตมฺหิ
ฉนฺทํ กยิราถ ทุกฺโข
ปาปสฺส อุจฺจโย.
ถ้าคนพึงทำบาป ก็ไม่ควรทำบาปนั้นบ่อย ๆ
ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น
เพราะการสั่งสมบาป นำทุกข์มาให้
ดังมีอรรถาธิบายมาด้วยประการฉะนี้แล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น