วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ตัวอย่างการแก้กระทู้ธรรม นักธรรมชั้นเอก และธรรมศึกษาชั้นเอก


ตัวอย่างการแก้กระทู้ธรรม  นักธรรมชั้นเอก และธรรมศึกษาชั้นเอก

                                                                ปาปญฺเจ  ปุริโส  กยิรา                           นํ  กยิรา ปุนปฺปุนํ
                                                                  ตมฺหิ  ฉนฺทํ  กยิราถ                         ทุกฺโข  ปาปสฺส  อุจฺจโย.
                                                                ถ้าคนพึงทำบาป  ก็ไม่ควรทำบาปนั้นบ่อย ๆ
                                                                ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาป  นำทุกข์มาให้
                ณ บัดนี้จักได้อธิบายขยายความแห่งกระทู้ธรรมที่ได้ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นนั้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติสืบต่อไป
                คำว่า  บาป ได้แก่อกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่าง คือ กายทุจริต ๓ ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์  การประพฤติผิดในกาม  วจีทุจริต ๔ ได้แก่ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดคำส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ มโนทุจริต ๓ ได้แก่ พยาบาท  อภิชฌา โลภเพ่งเอาของของคนอื่นมาเป็นของตน และมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม อกุศลเหล่านี้ เรียกว่า บาป เพราะทำแล้วมีผลเป็นทุกข์ ทำให้ผู้ทำเดือดร้อนในภายหลัง ยกตัวอย่างเช่น ฆ่าสัตว์ สัตว์ที่ถูกฆ่า ก็อาฆาตพยาบาท จองเวรไว้  ถ้าทำบ่อยๆ บาปก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้กลายเป็นคนอายุสั้น มีโรคภัยเบียดเบียนมาก  การลักทรัพย์  ถ้าถูกจับได้ต้องติดคุก เสียค่าปรับ เสียโอกาส หมดอิสรภาพ ถ้าไม่ถูกจับ  จิตใจตัวเองก็เกิดความระแวง เกรงว่าเจ้าของทรัพย์จะรู้ว่าตัวเองเป็นคนลัก นอนไม่หลับ อยู่ไม่สุข ต้องย้ายสถานที่อยู่ไปเรื่อยเพื่อหลบหนีการจับกุม การทำบาปให้ผลเป็นทุกข์อย่างนี้  พระพุทธองค์จึงสอนไม่ให้ทำบาป หรือจำเป็นต้องทำก็อย่าทำบ่อย อย่าพอใจในการทำบาป เพราะการสั่งสมบาปนำแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้  ตลอดพระชนมชีพของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสสอนเรื่องกุศลอกุศล สอนเรื่องกรรมคือการกระทำ ให้เชื่อหลักกรรม เชื่อผลของกรรม เชื่อว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ทำกุศลย่อมได้กุศล ทำอกุศลย่อมได้อกุศล คือบาป สอนไม่ให้ประมาท ให้ขยันอดทน สอนให้รู้จักให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นบุญ เป็นกุศล ทำแล้วมีผลเป็นความสุข สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาในขุททกนิกาย  ชาดก มหานิบาตว่า
                                                                อุฏฺฐาตา  กมฺมเธยฺเยสุ           อปฺปมตฺโต  วิจกฺขโณ
                                                                สุสํวิหิตกมฺมนฺโต                 ส ราชวสตึ  วเส.
                                                                ผู้หมั่นในการงาน  ไม่ประมาท  เป็นผู้รอบคอบ 
                                                                จัดการงานเรียบร้อย จึงควรอยู่ในราชการ
                คนขยันในการงาน  ไม่ประมาทในชีวิต เป็นผู้รอบคอบ จะทำงานอะไรก็ประสบความสำเร็จง่าย  จะประกอบอาชีพอะไรก็เจริญก้าวหน้า เป็นที่รักที่ชอบใจของคนรอบข้าง ของเพื่อนร่วมงาน ของหัวหน้า หรือ ของเจ้านาย เป็นคนที่สังคมต้องการทำงานร่วมด้วยเพราะทำแล้วเป็นสิริมงคลแก่ตัวเขาและองค์กร คนขยันหมั่นเพียร รอบคอบ ไม่ประมาท อยู่ที่ไหนก็ทำให้ที่นั่นเจริญรุ่งเรือง จะรับราชการก็ทำให้วงการราชการเจริญรุ่งเรือง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า คนประเภทนี้จึงควรอยู่ในราชการ  เป็นข้าราชการได้รับเงินเดือนซึ่งเป็นภาษีของประชาชนต้องรู้จักบุญคุณของประชาชนด้วย ต้องทำงานเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนโดยเฉพาะประชาชนผู้เป็นรากหญ้าอยู่ห่างไกล ถือว่า คนเหล่านี้มีบุญคุณต่อข้าราชการทุกคน  ถึงแม้พวกเขาจะมีฐานะทางการเงินไม่ดีนักแต่พวกเขาเป็นคนส่วนมากของประเทศ พวกเขาเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของประเทศ  คนเราถ้ากระดูกสันหลังไม่ดีไม่แข็งแรงก็ไม่สามารถรองรับร่างกายให้ยืนหยัดอยู่ได้ ทุกส่วนจะดีแข็งแรงก็ตาม กระดูกสันหลังถือว่าเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย ฉันใด  ประชาชนชาวไร่ชาวนาก็เหมือนกัน ถือเป็นกลุ่มคนสำคัญของประเทศ  ถ้าคนส่วนมากยังลำบากอยู่ประเทศก็เจริญไม่ได้  เหมือนคนไข้ไม่สบาย จะใช้ทำงานก็ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าข้าราชการไม่ดูแลพวกเขาให้มีความเป็นอยู่ดี  ถึงเวลาทางการต้องการความช่วยเหลือจากพวกเขา เขาก็จะไม่ให้ความร่วมมือเต็มที่ เพราะพวกเขาไม่ได้รับการดูแลจากทางการมาก่อน สมดังโพธิสัตว์ภาษิตที่มาในขุททกนิกาย  ชาดก  เอกนิบาตว่า
                                                                โย  ปุพฺเพ  กตกลฺยาโณ        กตตฺโถ  นาวพุชฺฌติ
                                                                ปจฺฉา  กิจฺเจ  สมุปฺปนฺเน      กตฺตารํ  นาธิคจฺฉติ.
                                                                ผู้อื่นทำความดีให้  ทำประโยชน์ให้ก่อน 
                                                                แต่ไม่สำนึกถึง (บุญคุณ) เมื่อมีกิจเกิดขึ้นภายหลัง  จะหาผู้ช่วยทำไม่ได้
                ผู้ที่ทำประโยชน์ให้เราก่อน เราต้องสำนึกถึงบุญคุณคนเหล่านั้น ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตาม อยู่ในฐานะอะไรก็ตาม ถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณต่อเรา เช่น บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น หน้าที่เราคือทำประโยชน์ตอบแทนพวกเขาอย่างสุดความสามารถ ชาวพุทธเราต้องเป็นคนกตัญญูกตเวที รู้จักบุญคุณของผู้ที่ทำคุณแก่ตนแล้วตอบแทนท่านเหล่านั้น ด้วยความขยันอดทน  ความขยัน อดทน มีอยู่ในใจของใครแล้ว ผู้นั้นมีแต่ความเจริญ พระพุทธองค์ก็สรรเสริญ ยกย่อง ชีวิตของคนขยันแม้เป็นอยู่เพียงวันเดียวยังประเสริฐกว่า การเป็นอยู่ ร้อยปี ของคนเกียจคร้าน  สมดังพระพุทธภาษิตที่มาในขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
                                                                โย    วสฺสสตํ ชีเว                กุสีโต  หีนวีริโย
                                                                เอกาหํ  ชีวิตํ  เสยฺโย             วิริยํ  อารภโต  ทฬฺหํ.
                                                                ผู้ใดเกียจคร้าน  มีความเพียรเลว  พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี 
                                                                แต่ผู้ปรารภความเพียรมั่นคง  มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว  ประเสริฐกว่าผู้นั้น.
                คนเกียจคร้านอยู่ที่ไหนก็ไม่เจริญ และไม่มีใครต้องการทำงานด้วย  เพราะทำแล้วไม่เป็นมงคลแก่ตัวเขา ส่วนคนขยันมีแต่คนอยากทำงานด้วย อยากอยู่ใกล้เพราะอยู่แล้วทำให้ชีวิตพวกเขาดีมีความสุข ชีวิตของคนขยันมีแต่ความเจริญฝ่ายเดียว  ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในคาถาข้างบนนั้น  สาธุชนทั้งหลาย รู้ทางแห่งความเจริญ ความเสื่อม ทางแห่งบุญ ทางแห่งบาปแล้ว ควรเจริญหรือดำเนินชีวิตแต่ในทางเจริญ คือทางที่เป็นบุญ  พึงงดเว้นทางแห่งบาปซึ่งเป็นทางแห่งความเสื่อม ความทุกข์ ความเดือดร้อน  เมื่อชีวิตยังมีอยู่ควรเร่งขวนขวายสร้างคุณงามความดีเอาไว้ให้มากๆ เพราะนอกจากจะได้รับผลในชาตินี้แล้ว  เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วก็จะได้รับความสุขในภพหน้าชาติหน้า ไม่ต้องไปตกอบายภูมิ
                สรุปความแห่งสุภาษิตที่อธิบายมานี้ว่า บาป ได้แก่อกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่าง คือ กายทุจริต ๓ ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์  การประพฤติผิดในกาม  วจีทุจริต ๔ ได้แก่ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดคำส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ มโนทุจริต ๓ ได้แก่ พยาบาท  อภิชฌา โลภเพ่งเอาของของคนอื่นมาเป็นของตน และมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม อกุศลเหล่านี้ เรียกว่า บาป เพราะทำแล้วมีผลเป็นทุกข์ ทำให้ผู้ทำเดือดร้อนในภายหลัง ถ้าจำเป็นต้องทำบาปก็อย่าทำบ่อย เพราะการสั่งสมบาปทำทุกข์มาให้ สมดังพุทธสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้นนั้นว่า
                                                                ปาปญฺเจ  ปุริโส  กยิรา           นํ  กยิรา ปุนปฺปุนํ
                                                                  ตมฺหิ  ฉนฺทํ  กยิราถ  ทุกฺโข  ปาปสฺส  อุจฺจโย.
                                                                ถ้าคนพึงทำบาป  ก็ไม่ควรทำบาปนั้นบ่อย ๆ
                                                                ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาป  นำทุกข์มาให้
                ดังมีอรรถาธิบายมาด้วยประการฉะนี้แล

ตัวอย่างการเขียนกระทู้ธรรม นักธรรมชั้นโท และธรรมศึกษาชั้นโท


ตัวอย่างการแก้กระทู้ธรรม (ธรรมศึกษาชั้นโท)

                                                            อติสีตํ  อติอุณหํ              อติสายมิทํ  อหุ
                                                            อิติ  วิสฺสฏฺฐกมฺมนฺเต        อตฺถา  อจฺเจนฺติ  มาณเว.
                                                            ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยคนผู้ทอดทิ้งการงาน
                                                            ด้วยอ้างว่าหนาวนัก  ร้อนนัก  เย็นเสียแล้ว.
            ณ บัดนี้จักได้อธิบายขยายความแห่งกระทู้ธรรมที่ได้ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นนั้น พอเป็นแนวทางในการศึกษาและปฏิบัติสืบต่อไป
            คำว่า  ประโยชน์ คือสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประพฤติ หรือผู้ประกอบกิจการต่างๆ คำว่าประโยชน์ โดยย่อมี ๓ อย่าง คือ ประโยชน์ตนเอง ประโยชน์คนอื่นหรือประโยชน์ส่วนรวม และประโยชน์สูงสุด คือ มรรค ผล นิพพาน  ประโยชน์ตนเองก็มี ๒ อย่างคือประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในสัมปรายภพ คือประโยชน์ในภพหน้า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ทั้ง ๒ อย่างนั้น ต้องเป็นคนขยันทำการงาน ไม่เกียจคร้าน ไม่มีข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้น มุ่งมั่นทำงานของตนจนสำเร็จ ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออก ไม่อ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก แล้วไม่ทำงาน ผู้มีปัญญาต้องหาอุบายวิธีทำงานจนสำเร็จให้ได้ ไม่ว่าดินฟ้าอากาศจะเป็นอย่างไร ถ้าฝนตก ก็ต้องมาทำงานในร่มในที่มุงบัง ถ้าแดดออกก็ต้องหาร่มหรือหาสิ่งมุงบังมากั้นไว้เพื่อป้องกันแสงแดดแผดเผา  ผู้ที่ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่ความเพียรของตน  การทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร  ก็เหมือนการปลูกฝังความขยันให้เกิดขึ้นในใจของตน เขาย่อมได้ความขยันหมั่นเพียรเกิดขึ้นในจิตใจของเขา คนมีความขยันหมั่นเพียรย่อมประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาในสังยุตตนิกาย  สคาถวรรคว่า
                                                ยาทิสํ  วปเต  พีชํ             ตาทิสํ  ลภเต  ผลํ
                                                กลฺยาณการี  กลฺยาณํ        ปาปการี จ ปาปกํ.
                                                บุคคลหว่านพืชเช่นใด  ย่อมได้รับผลเช่นนั้น 
                                                ผู้ทำกรรมดี  ย่อมได้ผลดี  ผู้ทำกรรมชั่ว  ย่อมได้ผลชั่ว.
            บุคคลหว่านพืชเช่นใด  ย่อมได้รับผลเช่นนั้น เช่น  ผู้ปลูกกล้วยย่อมได้กล้วย ผู้ปลูกข้าวย่อมได้ข้าว ผู้ปลูกอ้อย ย่อมได้อ้อย ฉันใด ผู้ทำความดีย่อมได้ผลดี ผู้ทำความชั่วย่อมได้รับผลชั่วฉันนั้น ผู้ทำทั้ง ๒ อย่างก็ย่อมได้รับผลทั้ง ๒ อย่างเหมือนกัน คือได้รับทั้งกรรมดีและไม่ดี ตามเหตุที่ตนทำไว้  ทำเหตุเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น เหตุดี ผลดี  เหตุไม่ดี ผลก็ไม่ดี  ผู้ที่มีปัญญา ควรทำแต่เหตุดี หรือความดี ควรเว้นเหตุไม่ดี เพื่อจะได้ผลดีฝ่ายเดียว หรืออีกอย่างหนึ่งพึงทำแต่กุศลเว้นอกุศล เพราะกุศลให้ผลเป็นสุข อกุศลให้ผลเป็นทุกข์ ควรทำกุศลบ่อยๆ เพราะการทำกุศลนำสุขมาให้  ผู้ที่หวังความสุข เพื่อตน ไม่พึงอกุศล เช่น การเบียดเบียนคนอื่นให้ได้รับความทุกข์ ความลำบาก พึงแผ่เมตตาให้แก่คนอื่น ปรารถนาให้คนมีความสุขเช่นเดียวกับตน เพราะถ้าเราปรารถนาความสุข แต่ยังเบียดเบียนคนอื่นอยู่ เมื่อตายจากโลกนี้ไป จะไม่ได้รับความสุข  ตรงกันข้ามจะได้ไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน  ภูมิใดภูมิหนึ่ง    เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด  คนอื่นสัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น  ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงไม่ควรเบียดเบียนกันให้ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาในขุททกนิกาย  ธรรมบทว่า
                                                สุขกามานิ  ภูตานิ                        โย  ทณฺเฑน  วิหึสติ
                                                อตฺตโน  สุขเมสาโน                    เปจฺจ โส น ลภเต สุขํ.
                                                สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข  ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน
                                                เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา   ผู้นั้นละไปแล้ว  ย่อมไม่ได้สุข
            คำว่า เบียดเบียนคนอื่นด้วยอาชญา หมายถึง การใช้อำนาจบังคับข่มเหง ด้วยความไม่เป็นธรรม ไม่เคารพสิทธิอันชอบธรรมของคนอื่น  หรือไม่ใช้อำนาจแต่ใช้ความได้เปรียบทางด้านประสบการณ์ เบียดเบียนคนอื่น เช่น ใช้เล่เหลี่ยมทางกฎหมายทำคนผิดให้เป็นถูกทำคนถูกให้เป็นผิด เป็นต้น ผู้ที่ประพฤติอย่างนี้จะไม่ได้รับความสุขเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว เพราะกฎของปรโลกไม่มีการผัดผ่อนได้  ใครทำกรรมใดไว้ ย่อมได้รับผลตามนั้น ไม่มีการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่เหมือนในมนุษยโลก  ทำดีย่อมได้ดีตอบ ทำชั่วย่อมได้ชั่วตอบ  เพราะฉะนั้น ผู้หวังความสุขเพื่อตน พึงเว้นกรรมไม่ดีเสีย หมั่นสร้างแต่กรรมดี มีประโยชน์  เพื่อจะได้รับสิ่งดีมีประโยชน์แก่ตน  ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
            สรุปความว่า  ประโยชน์ คือสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประพฤติ หรือผู้ประกอบกิจการต่างๆ คำว่าประโยชน์ โดยย่อมี ๓ อย่าง คือ ประโยชน์ตนเอง ประโยชน์คนอื่นหรือประโยชน์ส่วนรวม และประโยชน์สูงสุด คือ มรรค ผล นิพพาน  ประโยชน์ตนเองก็มี ๒ อย่างคือประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในสัมปรายภพ คือประโยชน์ในภพหน้า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ทั้ง ๒ อย่างนั้น ต้องเป็นคนขยันทำการงาน ไม่เกียจคร้าน ผู้หวังประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่น พึงเป็นคนขยันหมั่นเพียร ทำงานของตนให้สำเร็จ ถึงฝนจะตกแดดจะออก ก็ไม่เอามาเป็นข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้น ใช้ความเพียรมุ่งมั่น ตั้งใจทำงานให้สำเร็จตามที่ตั้งไว้ ไม่อ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก เย็นนัก แล้วไม่ทำงาน ไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ สมดังพุทธสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ในเบื้องต้นนั้นว่า

                                                อติสีตํ  อติอุณหํ              อติสายมิทํ  อหุ
                                                อิติ  วิสฺสฏฺฐกมฺมนฺเต        อตฺถา  อจฺเจนฺติ  มาณเว.
                                                ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยคนผู้ทอดทิ้งการงาน
                                                ด้วยอ้างว่าหนาวนัก  ร้อนนัก  เย็นเสียแล้ว.

ดังมีอรรถาธิบายมาด้วยประการฉะนี้แล

ตัวอย่างการแต่งกระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี และธรรมศึกษาชั้นตรี


ตัวอย่างการแต่งกระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี และธรรมศึกษาชั้นตรี
ผาตึ  กยิรา  อวิเหเฐยฺยํ  ปรํ 
ควรทำความเจริญ  ไม่พึงเบียดเบียนเขา
             ณ บัดนี้จักได้อธิบายขยายความแห่งกระทู้ธรรมที่ได้ลิขิตไว้ในเบื้องต้นนั้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและการปฏิบัติ สืบต่อไป
            คำว่า ความเจริญ  หมายถึง ความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าที่เป็นอยู่เดิม มีหลายอย่างหลายทาง มีความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ความเจริญทางโลกเช่น ความเจริญทางด้านฐานะความเป็นอยู่ คือมีฐานะความเป็นดีขึ้นแต่ก่อนตามลำดับ ความเจริญเหล่านั้นเกิดจากการทำงาน ด้วยความขยัน อดทน ประหยัด ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย รู้จักคบมิตรที่ดี เป็นบัณฑิต แนะนำในทางเจริญ  แล้วนำมาปฏิบัติตามสมควรแก่สติปัญญาของตน ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต ไม่เบียดเบียนคนอื่นให้ได้รับความทุกข์ ความลำบากเพราะการกระทำของเรา  ความเจริญในทางธรรม เช่น เป็นผู้ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา พัฒนาจิตใจตัวเองอยู่มากขึ้น จากเมื่อก่อนไม่ค่อยได้ใส่ใจ ก็ใส่ใจมากขึ้น มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารีต่อคนอื่นมากขึ้น สร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม ให้ความช่วยเหลือสังคม ทั้งด้านวัตถุสิ่งของและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิต แก่เพื่อนร่วมงานและคนอื่นๆ ที่สมควรแนะนำได้  ด้วยการทำแต่ความเจริญอย่างนี้จึงทำให้ชีวิตมีความสุข จิตใจดีงามขึ้น สมกับพุทธภาษิตที่มาในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า
                                                            จิตฺตํ  ทนฺตํ  สุขาวหํ
                                                            จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้
            จิตที่ได้รับการพัฒนาอยู่บ่อยๆ จะเป็นจิตที่อ่อนโยน ควรแก่การงาน หมายความว่าจิตที่ได้รับการฝึกอบรมดีแล้วจะเป็นจิตมีพลังมากกว่าปกติ จะเกื้อกูลแก่ร่างกายทำให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น จิตใจเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ตกไปสู่อำนาจของอกุศลได้ง่าย ทำงานได้มากกว่าแต่ก่อน มีความขยัน อดทนกว่าแต่ก่อน
            สรุปว่า ความเจริญทั้งในทางโลกและทางธรรมเป็นที่ควรทำบ่อยๆ เพราะทำแล้วมีผลเป็นสุข ทำให้ชีวิตดีขึ้น ฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น จิตใจดีขึ้น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น สมดังพระพุทธภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ในเบื้องต้นนั้นว่า
                                                           
ผาตึ  กยิรา  อวิเหเฐยฺยํ  ปรํ 
ควรทำความเจริญ  ไม่พึงเบียดเบียนเขา

ดังมีอรรถาธิบายมาด้วยประการฉะนี้แล