วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ตัวอย่างการแต่งกระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี และธรรมศึกษาชั้นตรี


ตัวอย่างการแต่งกระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี และธรรมศึกษาชั้นตรี
ผาตึ  กยิรา  อวิเหเฐยฺยํ  ปรํ 
ควรทำความเจริญ  ไม่พึงเบียดเบียนเขา
             ณ บัดนี้จักได้อธิบายขยายความแห่งกระทู้ธรรมที่ได้ลิขิตไว้ในเบื้องต้นนั้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและการปฏิบัติ สืบต่อไป
            คำว่า ความเจริญ  หมายถึง ความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าที่เป็นอยู่เดิม มีหลายอย่างหลายทาง มีความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ความเจริญทางโลกเช่น ความเจริญทางด้านฐานะความเป็นอยู่ คือมีฐานะความเป็นดีขึ้นแต่ก่อนตามลำดับ ความเจริญเหล่านั้นเกิดจากการทำงาน ด้วยความขยัน อดทน ประหยัด ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย รู้จักคบมิตรที่ดี เป็นบัณฑิต แนะนำในทางเจริญ  แล้วนำมาปฏิบัติตามสมควรแก่สติปัญญาของตน ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต ไม่เบียดเบียนคนอื่นให้ได้รับความทุกข์ ความลำบากเพราะการกระทำของเรา  ความเจริญในทางธรรม เช่น เป็นผู้ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา พัฒนาจิตใจตัวเองอยู่มากขึ้น จากเมื่อก่อนไม่ค่อยได้ใส่ใจ ก็ใส่ใจมากขึ้น มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารีต่อคนอื่นมากขึ้น สร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม ให้ความช่วยเหลือสังคม ทั้งด้านวัตถุสิ่งของและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิต แก่เพื่อนร่วมงานและคนอื่นๆ ที่สมควรแนะนำได้  ด้วยการทำแต่ความเจริญอย่างนี้จึงทำให้ชีวิตมีความสุข จิตใจดีงามขึ้น สมกับพุทธภาษิตที่มาในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า
                                                            จิตฺตํ  ทนฺตํ  สุขาวหํ
                                                            จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้
            จิตที่ได้รับการพัฒนาอยู่บ่อยๆ จะเป็นจิตที่อ่อนโยน ควรแก่การงาน หมายความว่าจิตที่ได้รับการฝึกอบรมดีแล้วจะเป็นจิตมีพลังมากกว่าปกติ จะเกื้อกูลแก่ร่างกายทำให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น จิตใจเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ตกไปสู่อำนาจของอกุศลได้ง่าย ทำงานได้มากกว่าแต่ก่อน มีความขยัน อดทนกว่าแต่ก่อน
            สรุปว่า ความเจริญทั้งในทางโลกและทางธรรมเป็นที่ควรทำบ่อยๆ เพราะทำแล้วมีผลเป็นสุข ทำให้ชีวิตดีขึ้น ฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น จิตใจดีขึ้น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น สมดังพระพุทธภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ในเบื้องต้นนั้นว่า
                                                           
ผาตึ  กยิรา  อวิเหเฐยฺยํ  ปรํ 
ควรทำความเจริญ  ไม่พึงเบียดเบียนเขา

ดังมีอรรถาธิบายมาด้วยประการฉะนี้แล 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น