วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ตัวอย่างการเขียนกระทู้ธรรม นักธรรมชั้นโท และธรรมศึกษาชั้นโท


ตัวอย่างการแก้กระทู้ธรรม (ธรรมศึกษาชั้นโท)

                                                            อติสีตํ  อติอุณหํ              อติสายมิทํ  อหุ
                                                            อิติ  วิสฺสฏฺฐกมฺมนฺเต        อตฺถา  อจฺเจนฺติ  มาณเว.
                                                            ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยคนผู้ทอดทิ้งการงาน
                                                            ด้วยอ้างว่าหนาวนัก  ร้อนนัก  เย็นเสียแล้ว.
            ณ บัดนี้จักได้อธิบายขยายความแห่งกระทู้ธรรมที่ได้ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นนั้น พอเป็นแนวทางในการศึกษาและปฏิบัติสืบต่อไป
            คำว่า  ประโยชน์ คือสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประพฤติ หรือผู้ประกอบกิจการต่างๆ คำว่าประโยชน์ โดยย่อมี ๓ อย่าง คือ ประโยชน์ตนเอง ประโยชน์คนอื่นหรือประโยชน์ส่วนรวม และประโยชน์สูงสุด คือ มรรค ผล นิพพาน  ประโยชน์ตนเองก็มี ๒ อย่างคือประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในสัมปรายภพ คือประโยชน์ในภพหน้า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ทั้ง ๒ อย่างนั้น ต้องเป็นคนขยันทำการงาน ไม่เกียจคร้าน ไม่มีข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้น มุ่งมั่นทำงานของตนจนสำเร็จ ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออก ไม่อ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก แล้วไม่ทำงาน ผู้มีปัญญาต้องหาอุบายวิธีทำงานจนสำเร็จให้ได้ ไม่ว่าดินฟ้าอากาศจะเป็นอย่างไร ถ้าฝนตก ก็ต้องมาทำงานในร่มในที่มุงบัง ถ้าแดดออกก็ต้องหาร่มหรือหาสิ่งมุงบังมากั้นไว้เพื่อป้องกันแสงแดดแผดเผา  ผู้ที่ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่ความเพียรของตน  การทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร  ก็เหมือนการปลูกฝังความขยันให้เกิดขึ้นในใจของตน เขาย่อมได้ความขยันหมั่นเพียรเกิดขึ้นในจิตใจของเขา คนมีความขยันหมั่นเพียรย่อมประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาในสังยุตตนิกาย  สคาถวรรคว่า
                                                ยาทิสํ  วปเต  พีชํ             ตาทิสํ  ลภเต  ผลํ
                                                กลฺยาณการี  กลฺยาณํ        ปาปการี จ ปาปกํ.
                                                บุคคลหว่านพืชเช่นใด  ย่อมได้รับผลเช่นนั้น 
                                                ผู้ทำกรรมดี  ย่อมได้ผลดี  ผู้ทำกรรมชั่ว  ย่อมได้ผลชั่ว.
            บุคคลหว่านพืชเช่นใด  ย่อมได้รับผลเช่นนั้น เช่น  ผู้ปลูกกล้วยย่อมได้กล้วย ผู้ปลูกข้าวย่อมได้ข้าว ผู้ปลูกอ้อย ย่อมได้อ้อย ฉันใด ผู้ทำความดีย่อมได้ผลดี ผู้ทำความชั่วย่อมได้รับผลชั่วฉันนั้น ผู้ทำทั้ง ๒ อย่างก็ย่อมได้รับผลทั้ง ๒ อย่างเหมือนกัน คือได้รับทั้งกรรมดีและไม่ดี ตามเหตุที่ตนทำไว้  ทำเหตุเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น เหตุดี ผลดี  เหตุไม่ดี ผลก็ไม่ดี  ผู้ที่มีปัญญา ควรทำแต่เหตุดี หรือความดี ควรเว้นเหตุไม่ดี เพื่อจะได้ผลดีฝ่ายเดียว หรืออีกอย่างหนึ่งพึงทำแต่กุศลเว้นอกุศล เพราะกุศลให้ผลเป็นสุข อกุศลให้ผลเป็นทุกข์ ควรทำกุศลบ่อยๆ เพราะการทำกุศลนำสุขมาให้  ผู้ที่หวังความสุข เพื่อตน ไม่พึงอกุศล เช่น การเบียดเบียนคนอื่นให้ได้รับความทุกข์ ความลำบาก พึงแผ่เมตตาให้แก่คนอื่น ปรารถนาให้คนมีความสุขเช่นเดียวกับตน เพราะถ้าเราปรารถนาความสุข แต่ยังเบียดเบียนคนอื่นอยู่ เมื่อตายจากโลกนี้ไป จะไม่ได้รับความสุข  ตรงกันข้ามจะได้ไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน  ภูมิใดภูมิหนึ่ง    เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด  คนอื่นสัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น  ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงไม่ควรเบียดเบียนกันให้ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาในขุททกนิกาย  ธรรมบทว่า
                                                สุขกามานิ  ภูตานิ                        โย  ทณฺเฑน  วิหึสติ
                                                อตฺตโน  สุขเมสาโน                    เปจฺจ โส น ลภเต สุขํ.
                                                สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข  ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน
                                                เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา   ผู้นั้นละไปแล้ว  ย่อมไม่ได้สุข
            คำว่า เบียดเบียนคนอื่นด้วยอาชญา หมายถึง การใช้อำนาจบังคับข่มเหง ด้วยความไม่เป็นธรรม ไม่เคารพสิทธิอันชอบธรรมของคนอื่น  หรือไม่ใช้อำนาจแต่ใช้ความได้เปรียบทางด้านประสบการณ์ เบียดเบียนคนอื่น เช่น ใช้เล่เหลี่ยมทางกฎหมายทำคนผิดให้เป็นถูกทำคนถูกให้เป็นผิด เป็นต้น ผู้ที่ประพฤติอย่างนี้จะไม่ได้รับความสุขเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว เพราะกฎของปรโลกไม่มีการผัดผ่อนได้  ใครทำกรรมใดไว้ ย่อมได้รับผลตามนั้น ไม่มีการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่เหมือนในมนุษยโลก  ทำดีย่อมได้ดีตอบ ทำชั่วย่อมได้ชั่วตอบ  เพราะฉะนั้น ผู้หวังความสุขเพื่อตน พึงเว้นกรรมไม่ดีเสีย หมั่นสร้างแต่กรรมดี มีประโยชน์  เพื่อจะได้รับสิ่งดีมีประโยชน์แก่ตน  ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
            สรุปความว่า  ประโยชน์ คือสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประพฤติ หรือผู้ประกอบกิจการต่างๆ คำว่าประโยชน์ โดยย่อมี ๓ อย่าง คือ ประโยชน์ตนเอง ประโยชน์คนอื่นหรือประโยชน์ส่วนรวม และประโยชน์สูงสุด คือ มรรค ผล นิพพาน  ประโยชน์ตนเองก็มี ๒ อย่างคือประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในสัมปรายภพ คือประโยชน์ในภพหน้า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ทั้ง ๒ อย่างนั้น ต้องเป็นคนขยันทำการงาน ไม่เกียจคร้าน ผู้หวังประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่น พึงเป็นคนขยันหมั่นเพียร ทำงานของตนให้สำเร็จ ถึงฝนจะตกแดดจะออก ก็ไม่เอามาเป็นข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้น ใช้ความเพียรมุ่งมั่น ตั้งใจทำงานให้สำเร็จตามที่ตั้งไว้ ไม่อ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก เย็นนัก แล้วไม่ทำงาน ไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ สมดังพุทธสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ในเบื้องต้นนั้นว่า

                                                อติสีตํ  อติอุณหํ              อติสายมิทํ  อหุ
                                                อิติ  วิสฺสฏฺฐกมฺมนฺเต        อตฺถา  อจฺเจนฺติ  มาณเว.
                                                ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยคนผู้ทอดทิ้งการงาน
                                                ด้วยอ้างว่าหนาวนัก  ร้อนนัก  เย็นเสียแล้ว.

ดังมีอรรถาธิบายมาด้วยประการฉะนี้แล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น