วสลสูตร ว่าด้วยลักษณะของคนเลว เรื่องนี้เกิดขึ้นขณะที่พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปบิณฑบาต
ในกรุงสาวัตถี ถูกพราหมณ์ชื่อว่า อัคคิกภารทวาชะ ด่าว่า สมณะหัวโล้น เป็นคนเลว
พระองค์จึงถามเขาว่า
รู้จักคนเลวหรือลักษณะของคนเลวหรือ พราหมณ์ตอบว่า ไม่รู้ ถ้าพระองค์รู้จงบอกแก่เขาด้วย พระองค์จึงตรัสแก่เขา
ลักษณะของคนเลวตามทัศนะของพระพุทธองค์มีอยู่ ๒๐ ข้อ บางข้อมีหลายลักษณะด้วยกัน
ดังนี้
ข้อที่ ๑ คนมักโกรธ ชอบผูกอาฆาต
ชอบลบหลู่ดูหมิ่น เห็นชอบเป็นผิด มีมายา
ข้อที่ ๒ ชอบเบียดเบียนสัตว์
ไม่มีความเอ็นดูเพื่อนมนุษย์และสัตว์อื่น
ข้อที่ ๓ ชอบทำลายชีวิตผู้อื่น
เที่ยวปล้นสะดม ถูกประณามว่า เป็นโจรปล้นฆ่าชาวบ้าน
ข้อที่ ๔
คนเที่ยวลักขโมยทรัพย์สินของคนอื่น
ข้อที่ ๕ คนกู้หนี้ยืมสินเขามาแล้ว
ถูกทวงกลับกล่าวว่า ไม่ได้ยืม หรือหลบหนีเจ้าหนี้
ข้อที่ ๖ คนดักฆ่าหรือทำร้ายคนเดินทาง
ชิงเอาทรัพย์สมบัติเขา
ข้อที่ ๗
คนถูกอ้างเป็นพยานแล้วกล่าวคำเท็จ เพราะเห็นแก่หน้า หรือทรัพย์สิน
ข้อที่ ๘ คนประพฤติล่วงเกินภรรยาของญาติ
หรือของเพื่อน จะด้วยการข่มขืนหรือด้วยความยินยอมกันก็ตาม
ข้อที่ ๙
คนผู้สามารถเลี้ยงตนเองและผู้อื่นได้ แต่ไม่เลี้ยงมารดาบิดา ผู้แก่ชรา
ข้อที่ ๑๐ คนทุบตี ดุด่ามารดาบิดา
พี่น้อง พ่อตา แม่ยาย หรือพ่อผัว แม่ผัว
ข้อที่ ๑๑
คนถูกถามถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์แต่กลับบอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือพูดกลบเกลื่อนบอกไม่ชัดเจน
ข้อที่ ๑๒
คนทำบาปกรรมแล้วปรารถนาไม่ให้คนอื่นรู้ว่าตนทำ
ข้อที่ ๑๓ คนไปบ้านผู้อื่นถูกต้อนรับด้วยโภชนาหารอย่างดี
แต่พอเขามาบ้านตนบ้าง กลับไม่ต้อนรับเขาเช่นนั้น
ข้อที่ ๑๔ คนกล่าวมุสาวาท
หลอกลวงสมณะหรือพราหมณ์ หรือแม้กระทั่งวณิพกยาจก
ข้อที่ ๑๕
คนเมื่อสมณะหรือพราหมณ์มาบิณฑบาตแต่เช้า ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต กลับด่าว่าขับไล่
ข้อที่ ๑๖ คนถูกโมหะครอบงำ
อยากได้สิ่งของเล็กน้อยของผู้อื่น พูดจาหลอกลวงเขา
ข้อที่ ๑๗ คนชอบยกตนข่มคนอื่น
ข้อที่ ๑๘ คนโหดร้าย มีใจคับแคบ
ปรารถนาชั่ว มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ
ข้อที่ ๑๙
คนกล่าวร้ายพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกของพระพุทธเจ้าที่เป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์
ข้อที่ ๒๐
คนไม่เป็นพระอรหันต์แต่ปฏิญญาว่าเป็นพระอรหันต์ ข้อนี้ถือว่าเลวที่สุด
เป็นดุจโจรในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก
สุดท้ายพระพุทธองค์สรุปว่า
คนจะชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
แต่ชื่อว่าเป็นเคนเลวเพราะกรรม (การกระทำ)
ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
คนที่เกิดในตระกูลต่ำแต่ทำความดี
ก็ได้รับคำชม ตายไปแล้วก็ไปเกิดในสุคติ ชาติกำเนิดไม่อาจห้ามเขาได้
คนที่เกิดในตระกูลสูงแต่ทำความชั่ว
เขาย่อมได้รับคำติฉินนินทา ตายแล้วไปเกิดในทุคติ ชาติกำเนิดป้องกันเขาไม่ได้
พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕
ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ข้อที่ ๑๑๖-๑๔๒ หน้าที่ ๕๒๘-๕๓๓
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น