วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

ธรรมในอรรถกถาธรรมบท เรื่องนางสุมนาเทวี (ธิดาของอนาถปิณฑิกเศรษฐี)


เรื่องนี้ค่อนข้างยาวแต่อ่านแล้วสนุกได้ข้อคิดดี ๆ หลายอย่าง สรุปเนื้อหาโดยย่อก็คือ คนทำความดี จะได้รับความสุข ความเพลิดเพลินบันเทิงใจทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า นางสุมนาเทวี เป็นธิดาของอนาถปิณฑิกเศรษฐี  ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี ตอนใกล้จะตายจึงเรียกพ่อของตัวเองที่เป็นพระโสดาบันว่า น้องชาย  พ่อไม่รู้ว่าลูกสาวเป็นพระสกทาคามี คิดว่า ลูกสาวเพ้อหลงสติตอนใกล้จะตาย เลยเกิดความเสียใจ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสความจริงให้ฟัง เศรษฐีจึงมีจิตใจเบิกบานขึ้น
อรรถกถาธรรมบทเรื่องนี้บอกให้รู้ว่า พระอริยบุคคลขั้นสูงจะรู้จักพระอริยบุคคลที่ต่ำกว่าตัวเอง เปรียบเหมือนกับคนที่อยู่บนต้นไม้จะมองเห็นคนที่ยืนอยู่บนพื้นดิน  แต่คนที่ยืนอยู่บนพื้นดินจะมองไม่เห็นคนอยู่บนต้นไม้


อรรถกถาธรรมบท เรื่องนี้อยู่ในภาคที่ ๑ (อรรถกถาธรรมบทมีอยู่ ๘ ภาค)

๑๓. เรื่องนางสุมนาเทวี [๑๓]
 [ข้อความเบื้องต้น]
 พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางสุมนาเทวี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติเป็นต้น.
[อบรมลูกหลานให้รับหน้าที่ของตน]
 ความพิสดารว่า ภิกษุสองพันรูป ย่อมฉันในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีในกรุงสาวัตถีทุกวัน, ในเรือนของนางวิสาขามหาอุบาสิกาเช่นนั้น. ก็บุคคลใด ๆ ในกรุงสาวัตถี เป็นผู้ประสงค์จะถวายทาน, บุคคลนั้น ๆ ต้องได้โอกาสของท่านทั้ง ๒นั้นก่อนแล้ว จึงทำได้. ถามว่า เพราะเหตุไร ? ตอบว่า เพราะคนอื่น ๆ ถามว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีหรือนางวิสาขา มาสู่โรงทานของท่านแล้วหรือ? เมื่อเขาตอบว่าไม่ได้มา, ย่อมติเตียน แม้ทานอันบุคคลสละทรัพย์ตั้งแสนแล้วทำว่า นี่ชื่อว่าทานอะไร ?. เพราะท่านทั้ง ๒นั้น ย่อมรู้จักความชอบใจของภิกษุสงฆ์และกิจอันสมควรแก่ภิกษุสงฆ์. เมื่อท่านทั้ง ๒นั้นอยู่, พวกภิกษุย่อมฉันได้ตามพอใจทีเดียว. เพราะฉะนั้น ทุก ๆ คนที่ประสงค์จะถวายทาน จึงเชิญท่านทั้ง ๒นั้นไป. ท่านทั้ง ๒นั้นย่อมไม่ได้เพื่อจะอังคาสภิกษุทั้งหลายในเรือนของตน ด้วยเหตุนี้. เพราะเหตุนั้น นางวิสาขา เมื่อใคร่ครวญว่า ใครหนอแล ? จักดำรง ในหน้าที่ของเรา เลี้ยงภิกษุสงฆ์, เห็นธิดาของบุตรแล้ว จึงตั้งเขา ไว้ในหน้าที่ของตน. นางอังคาสภิกษุสงฆ์ในเรือนของนางวิสาขานั้น. ถึงท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็ตั้งธิดาคนใหญ่ ชื่อมหาสุภัททาไว้. ก็นางมหาสุภัททานั้น ทำการขวนขวายแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่(และ) ฟังธรรมอยู่ เป็นพระโสดาบันแล้ว ได้ไปสู่สกุลแห่งสามี. แต่นั้น ท่านอนาถบิณฑิกะ ก็ตั้งนางจุลสุภัททา (แทน). แม้นางจุลสุภัททานั้น ก็ทำอยู่อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นพระโสดาบันแล้วก็ไปสู่สกุลแห่งสามี. ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกะ จึงตั้งธิดาคนเล็กนามว่าสุมนาเทวี (แทน) .
[นางสุมนาป่วยเรียกบิดาว่าน้องชาย]
 ก็นางสุมนาเทวีนั้น ฟังธรรมแล้ว บรรลุสกทาคามิผล ยังเป็นกุมาริกา (รุ่นสาว) อยู่เทียว, กระสับกระส่ายด้วยความไม่ผาสุกเห็นปานนั้น ตัดอาหาร มีความประสงค์จะเห็นบิดา จึงให้เชิญมา. ท่านเศรษฐีนั้น พอได้ยินข่าวของธิดาในโรงทานแห่งหนึ่ง ก็มาหาแล้วพูดว่า เป็นอะไรหรือ ? แม่สุมนา. ธิดานั้น ตอบบิดาว่าอะไรเล่า ? น้องชาย.
บ. เจ้าเพ้อไปหรือ ? แม่.
ธ. ไม่เพ้อ น้องชาย.
บ. เจ้ากลัวหรือ ? แม่.
ธ. ไม่กลัว น้องชาย.
แต่พอนางสุมนาเทวี กล่าวได้เพียงเท่านี้ ก็ได้ทำกาละแล้ว.
[ท่านเศรษฐีผู้บิดาร้องไห้ไปทูลพระศาสดา]
 ท่านเศรษฐีนั้น แม้เป็นพระโสดาบัน ก็ไม่สามารถจะกลั้นความโศกอันเกิดในธิดาได้ ให้ทำการปลงศพของธิดาเสร็จแล้ว ร้องไห้ ไปสู่สำนักพระศาสดา, เมื่อพระองค์ตรัสว่า คฤหบดี ทำไม่ ?ท่านจึงมีทุกข์ เสียใจ มีหน้าอาบไปด้วยน้ำตา ร้องไห้ มาแล้ว จึงกราบทูลว่า นางสุมนาเทวี ธิดาของข้าพระองค์ ทำกาละเสียแล้วพระเจ้าข้า.
ศ. เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร ? ท่านจึงโศก, ความตาย ย่อมเป็นไปโดยส่วนเดียวแก่สรรพสัตว์ มิใช่หรือ ?
อ. ข้าพระองค์ทราบข้อนั้นพระเจ้าข้า แต่ธิดาของข้าพระองค์ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะเห็นปานนี้, ในเวลาจวนตาย นางไม่สามารถคุมสติไว้ได้เลย บ่นเพ้อตายไปแล้ว, ด้วยเหตุนั้น โทมนัสไม่น้อย จึงเกิดแก่ข้าพระองค์.
ศ. มหาเศรษฐี ก็นางพูดอะไรเล่า ?
อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เรียกนางว่า เป็นอะไรหรือ ? สุมนา  ทีนั้น นางก็กล่าวกะข้าพระองค์ว่า อะไร ? น้องชาย ?แต่นั้น เมื่อข้าพระองค์กล่าวว่า เจ้าเพ้อไปหรือ ? แม่ ก็ตอบว่าไม่เพ้อ น้องชาย เมื่อข้าพระองค์ถามว่า เจ้ากลัวหรือ ? แม้ก็ตอบว่า ไม่กลัว น้องชาย เมื่อข้าพระองค์ถามว่า  เจ้ากลัวหรือ ? แม่ก็ตอบว่า ไม่กลัว น้องชาย พอกล่าวได้เท่านี้ก็ทำกาละแล้ว. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสกะเศรษฐีนั้นว่า มหาเศรษฐี ธิดาของท่าน จะได้เพ้อก็หามิได้. อ. เมื่อเช่นนั้น เหตุไร ? นางจึงพูดอย่างนั้น.
ศ. เพราะท่านเป็นน้องนางจริง ๆ (นางจึงพูดอย่างนั้นกะท่าน), คฤหบดี ก็ธิดาของท่านเป็นใหญ่กว่าท่านโดยมรรคและผล, เพราะท่านเป็นเพียงโสดาบัน, ส่วนธิดาของท่านเป็นสกทาคามินี, เพราะนางเป็นใหญ่โดยมรรคและผล นางจึงกล่าวอย่างนั้นกะท่าน.
อ. อย่างนั้นหรือ พระเจ้าข้า.
ศ. อย่างนั้น คฤหบดี.
อ. เวลานี้นางเกิดที่ไหน พระเจ้าข้า. เมื่อพระศาสดาตรัสว่า ในภพดุสิต คฤหบดี ท่านเศรษฐีจึงกราบทูลว่า ธิดาของข้าพระองค์เที่ยวเพลิดเพลินอยู่ในระหว่างหมู่ญาติในโลกนี้ แม้ไปจากโลกนี้แล้ว ก็เกิดในที่ ๆ เพลิดเพลินเหมือนกันหรือ ? พระเจ้าข้า.
[คนทำบุญย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้ง ๒]
 ทีนั้น พระศาสดาตรัสกะเศรษฐีนั้นว่า อย่างนั้น คฤหบดีธรรมดาผู้ไม่ประมาท เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้และโลกหน้าแท้ ดังนี้แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า ผู้มีบุญอันทำไว้แล้ว ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้, ละไปแล้ว ย่อมเพลิดเพลิน เขาย่อมเพลิดเพลิน ในโลกนี้ ๒, เขาย่อมเพลิดเพลินว่า เราทำบุญ ไว้แล้ว, ไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินยิ่ง ๆ ขึ้นไป. 
เรื่องนางสุมนาเทวี จบ.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น