วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

นันทมาตาสูตร ว่าด้วยอริยธรรมของนันทมาตาอุบาสิกา



พระสูตรนี้มีเนื้อความที่น่าสนใจอยู่ตอนหนึ่งคือ ตอนที่ท้าวเวสสุวรรณมหาราช ผู้เป็นหนึ่งในบรรดาท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ หยุดฟังเสียงอุบาสิกา สวดมนต์ พอจบแล้ว ก็ให้เสียงสาธุการ และบอกอุบาสิกา ว่า ตัวเอง เป็นพี่ชาย ของนาง บอกอีกว่า วันพรุ่งนี้ จะมีพระภิกจำนวนมากมาสู่เมืองนี้ ขอให้นางทำอาหารเตรียมไว้เพื่อถวายพระด้วย แล้วอุทิศส่วนบุญให้ด้วย ทำให้พระเถระที่นำโดยพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ แปลกใจว่า อุบาสิการู้ได้อย่างไรว่า จะมีพระมา พอสอบถาม จึงรู้เรื่อง นางเล่าให้พระเถระฟัง พระเถระ เปล่งอุทานว่า น่าอัศจรรย์จริง เพิ่งได้ยิน เลยเข้าทางของนาง นางจึงโม้ต่อไปว่า ไม่ใช่แต่เพียงเท่านี้นะพระคุณเจ้า ยังมีอีก ว่าแล้ว นางก็พูดอวดสรรพคุณของนาง ไปเรื่อย พระเถระก็ได้แต่เปล่งอุทานว่า น่าอัศจรรย์จริง น่าอัศจรรย์จริง ไปเรื่อยเหมือนกัน 
 สรุปแล้วเรื่องที่อัศจรรย์ของนางมีอยู่ ๗ อย่าง คือ 
๑. สวดมนต์แล้วสามารถทำให้ท้าวเวสสุวรรณ หยุดฟังได้ แสดงว่า นางสวดมนต์ทำนองสรภัญญะ ได้เพราะ
๒. ลูกชายคือนายนันทะ ถูกพระราชา จับ ถูกพระราชาฆ่า เธอก็ไม่เสียใจ ไม่หวั่นไหว
๓. สามีตายไปเกิดเป็นยักษ์ กลับมาปรากฏตัวให้เห็น เธอก็ไม่กลัว 
๔. ตั้งแต่มาอยู่กับสามี ไม่เคยคิดนอกใจสามีเลย 
๕. ตั้งแต่แสดงตนเป็นอุบาสิกา ไม่เคยจงใจล่วงละเมิดศีลเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ส่วนข้อ ๖ และ๗. เป็นเรื่องของการได้บรรลุฌานและละสังโยชน์ 

พออ่านมาถึงข้อสุดท้ายพอสรุปได้ว่า อุบาสิกา คนนี้ เป็นพระอริยบุคคลระดับ พระอนาคามี  เพราะละสังโยชน์เบื้อต่ำ ๕ อย่างได้แล้ว

พระสูตรนี้ค่อนข้างยาวแต่ก็มีเนื้อหาสาระน่าสนใจ น่าติดตาม ลองอ่านดูตามอัธยาศัย (อยู่ในเล่ม ๒๓ อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต)
 
๑๐. นันทมาตาสูตร

ว่าด้วยอริยธรรมของนันทมาตาอุบาสิกา
[๕๓]    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านมหาโมคคัลานะ จาริกไปในทักขิณาคีรี ชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ สมัยนั้นแล ในเวลาใกล้รุ่ง นันทมาตาอุบาสิกาชาวเมืองเวฬุกัณฏกะ๒ลุกขึ้นสวดปารายนสูตร๓เป็นทำนองสรภัญญะ
ท้าวเวสวัณมหาราชมีกรณียกิจบางอย่าง เสด็จจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ ได้สดับ เสียงของนันทมาตาที่กำลังสวดปารายนสูตรเป็นทำนองสรภัญญะ ได้ประทับยืนสดับ จนสวดจบ
ครั้นนันทมาตาอุบาสิกาสวดปารายนสูตรเป็นทำนองสรภัญญะจบแล้วก็นิ่งอยู่
ท้าวเวสวัณมหาราชทรงทราบว่านันทมาตาอุบาสิกาสวดจบ จึงอนุโมทนาว่า “ดีละ น้องหญิง ดีละ น้องหญิง
ท่านผู้มีพักตร์ผ่องใสนี้คือใคร
เราคือเวสวัณมหาราช พี่ชายของเธอ
ท่านผู้มีพักตร์ผ่องใส ดีละ ถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยายที่ดิฉันสวดนี้จงเป็นเครื่องต้อนรับท่าน
ดีละ น้องหญิง นั่นแหละจงเป็นเครื่องต้อนรับเรา พรุ่งนี้ ภิกษุสงฆ์มีท่านพระ สารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประธาน ยังไม่ทันฉันอาหารเช้า จักมาถึงเมืองเวฬุกัณฏกะ เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์นั้นอุทิศทักษิณาทานแก่เรา การทำอย่างนี้จักเป็นเครื่องต้อนรับเรา
ครั้นคืนนั้นผ่านไป นันทมาตาอุบาสิกาได้จัดของขบฉันอย่างดีไว้ในนิเวศน์ของตน ลำดับนั้นแล ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประธาน ยังไม่ทันฉันอาหารเช้า ก็ได้เดินทางมาถึงเมืองเวฬุกัณฏกะ นันทมาตาอุบาสิกาจึงเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า “มานี่ พ่อหนุ่ม เธอจงไปยังอารามบอกภัตตกาล(เวลา ฉันอาหาร)แก่ภิกษุสงฆ์ว่า ท่านผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารในนิเวศน์ของคุณแม่ นันทมาตาอุบาสิกาเสร็จแล้ว
บุรุษนั้นรับคำแล้วก็ไปยังอารามบอกภัตตกาลแก่ภิกษุสงฆ์ว่า “ท่านผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารในนิเวศน์ของคุณแม่นันทมาตาอุบาสิกาเสร็จแล้ว
ครั้นเวลาเช้า ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประธาน ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของนันทมาตาอุบาสิกาแล้วนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้
ลำดับนั้นแล นันทมาตาอุบาสิกาได้อังคาส๑ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประธานให้อิ่มหนำสำราญด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต ด้วยมือตนเอง
เมื่อท่านพระสารีบุตรฉันเสร็จวางมือจากบาตร นันทมาตาอุบาสิกาจึงนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า ท่านพระสารีบุตรได้ถามนันทมาตาอุบาสิกาว่า
นันทมาตา ใครบอกการมาของภิกษุสงฆ์แก่เธอ
นันทมาตาอุบาสิกาตอบว่า
๑.       “ท่านผู้เจริญ ขอโอกาสเจ้าค่ะ ในเวลาใกล้รุ่ง ดิฉันลุกขึ้นสวดปารายนสูตร เป็นทำนองสรภัญญะจบแล้วได้นิ่งอยู่ ขณะนั้น ท้าวเวสวัณมหาราชทรงทราบว่าดิฉันสวดจบแล้ว จึงอนุโมทนาว่า ดีละ น้องหญิง ดีละ น้องหญิงดิฉันจึงถามว่า ท่านผู้มีพักตร์ผ่องใสนี้คือใครท้าวเวสวัณตอบว่า เราคือเวสวัณมหาราช พี่ชาย ของเธอดิฉันกล่าวว่า ท่านผู้มีพักตร์ผ่องใส ดีละ ถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยายที่ดิฉัน สวดนี้จงเป็นเครื่องต้อนรับท่านท้าวเวสวัณตอบว่า ดีละ น้องหญิง นั่นแหละจงเป็น เครื่องต้อนรับเรา พรุ่งนี้ ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประธาน ยังไม่ทันฉันอาหารเช้า จักมาถึงเมืองเวฬุกัณฏกะ เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์นั้นอุทิศทักษิณาทานแก่เรา การทำอย่างนี้จักเป็นเครื่องต้อนรับเราท่านผู้เจริญ ขอบุญอันมีผลมากในทานนี้จงอำนวยผลเพื่อความสุขแด่ท้าวเวสวัณมหาราชเถิด
นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่เธอเจรจากันต่อหน้าท้าวเวสวัณมหาราชผู้เป็นเทพบุตรมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีศักดิ์มากอย่างนี้
๒.       “ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน มิใช่มีเท่านี้ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน แม้อย่างอื่นยังมีอยู่ ขอโอกาสเจ้าค่ะ ดิฉันมีบุตรคนเดียวชื่อนันทะ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ พระราชาได้กดขี่ ข่มเหงฆ่าเธอเพราะสาเหตุเพียงนิดเดียว เมื่อเด็กนั้นถูกจับแล้วก็ตาม กำลังถูกจับก็ตาม ถูกฆ่าแล้วก็ตาม กำลังถูกฆ่าก็ตาม ถูกประหารแล้วก็ตาม กำลังถูกประหารก็ตาม ดิฉัน ไม่รู้สึกว่าจิตจะหวั่นไหวเลย
นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ แม้เพียงจิตตุปบาทเธอก็ทำให้บริสุทธิ์ได้
๓.       “ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน มิใช่มีเท่านี้ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน แม้อย่างอื่นยังมีอยู่ ขอโอกาสเจ้าค่ะ สามีของดิฉันตายแล้วไปเกิดเป็นยักษ์ตนหนึ่ง มาปรากฏตัวอย่างเดิมให้ดิฉันเห็น ดิฉัน ไม่รู้สึกว่าจิตจะหวั่นไหวเพราะเหตุนั้นเลย
นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ แม้เพียงจิตตุปบาทเธอก็ทำให้บริสุทธิ์ได้
๔.       “ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน มิใช่มีเท่านี้ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน แม้อย่างอื่นยังมีอยู่ ขอโอกาสเจ้าค่ะ นับแต่เวลาที่สามีหนุ่มนำดิฉันผู้ยังเป็นสาวมา ดิฉันไม่เคยคิดที่จะประพฤตินอกใจ สามีเลย ไหนเลย จะประพฤตินอกใจด้วยกายเล่า
นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ แม้เพียงจิตตุปบาทเธอก็ทำให้บริสุทธิ์ได้
๕.       “ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน มิใช่มีเท่านี้ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน แม้อย่างอื่นยังมีอยู่ ขอโอกาสเจ้าค่ะ เมื่อดิฉันแสดงตนเป็นอุบาสิกาแล้ว ไม่รู้สึกว่าได้จงใจล่วงละเมิดสิกขาบทเลย
นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ แม้เพียงจิตตุปบาทเธอก็ทำให้บริสุทธิ์ได้
๖.       “ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน มิใช่มีเท่านี้ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน แม้อย่างอื่นยังมีอยู่ ขอโอกาสเจ้าค่ะ ดิฉันยังหวังว่า เราจะต้องสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มี วิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุ ทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติ สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุขเพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุ จตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
๗.      “ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน มิใช่มีเท่านี้ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏของดิฉัน แม้อย่างอื่นก็ยังมีอยู่ บรรดาสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ดิฉันไม่เห็นสังโยชน์อะไรในตนเองที่ยังละไม่ได้
นันทมาตา น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้ชี้แจงให้นันทมาตาอุบาสิกาเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลุกจากอาสนะแล้วจากไป
นันทมาตาสูตรที่ ๑๐ จบ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น