อรักขิตสูตร เป็นสูตรว่าด้วยการไม่รักษาจิตใจ จะทำให้มีผลตามมา คือ จะทำ จะพูด จะคิด อะไร ก็จะผิดพลาดได้ง่าย แล้วความเสียหายก็จะตามมา เช่น เสียชื่อเสียง เสียทรัพย์สินเงินทอง ถึงคราวจะต้องตายก็ยังเสียอาการกิริยาที่ใกล้จะตาย เช่น บางคนร้องโอดโอย บางคนแสดงกิริยาของสัตว์เดรัจฉานบางชนิด ที่จิตของตนเคยผูกพันธ์และเมื่อตายแล้วจะไปเกิดเป็นสัตว์ประเภทนั้น
เนื้อความในพระสูตรทั้งสองไม่หนักขนาดนี้ แต่ตีความได้อย่างนี้
พระสูตรทั้งสองอยู่นี้อยู่ในพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๐ อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ข้อที่ ๑๑๐-๑๑๑ หน้า ๓๕๒-๓๕๓.
๗. อรักขิตสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่รักษาจิต
[๑๑๐] ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า
คหบดี เมื่อบุคคลไม่รักษาจิต ชื่อว่าไม่รักษากายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม เขาผู้ไม่รักษากายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ย่อมมีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมเปียกชุ่ม เขาผู้มีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมเปียกชุ่ม ย่อมมีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมเสียหาย เขาผู้มีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม เสียหาย ย่อมมีการตายที่ไม่ดี กาลกิริยา(การตาย)ก็ไม่งาม
เมื่อเรือนยอดมุงไว้ไม่ดี ยอดเรือน ไม้กลอน และฝาเรือนชื่อว่าไม่ได้รับการรักษา ยอดเรือน ไม้กลอน และฝาเรือนชื่อว่าถูกฝนรั่วรด ยอดเรือน ไม้กลอนและฝาเรือนก็ผุพัง แม้ฉันใด
เมื่อบุคคลไม่รักษาจิต ฯลฯ ย่อมมีการตายที่ไม่ดี กาลกิริยาก็ไม่งาม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อบุคคลรักษาจิต ชื่อว่ารักษากายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม เขา ผู้รักษากายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ย่อมมีกายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรมที่ไม่เปียกชุ่ม เขาผู้มีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมที่ไม่เปียกชุ่ม ย่อมมีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมที่ไม่เสียหาย เขาผู้มีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมไม่เสียหาย ย่อมมีการตายที่ดี กาลกิริยาก็งาม
เมื่อเรือนยอดมุงไว้ดี ยอดเรือน ไม้กลอน และฝาเรือนชื่อว่าได้รับการรักษา ยอดเรือน ไม้กลอน และฝาเรือนชื่อว่าไม่ถูกฝนรั่วรด ยอดเรือน ไม้กลอน ฝาเรือนก็ไม่ผุพัง แม้ฉันใด
คหบดี เมื่อบุคคลรักษาจิต ฯลฯ ย่อมมีการตายที่ดี กาลกิริยาก็งาม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
อรักขิตสูตรที่ ๗ จบ
๘. พยาปันนสูตร
ว่าด้วยจิตถึงความผิดปกติ
[๑๑๑] ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า
คหบดี เมื่อจิตถึงความผิดปกติ แม้กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมก็ถึงความผิดปกติ เขาผู้มีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมถึงความผิดปกติ ย่อมมีการตายที่ไม่ดี กาลกิริยาก็ไม่งาม
เมื่อเรือนยอดมุงไว้ไม่ดี ยอดเรือน ไม้กลอน และฝาเรือนย่อมถึงความผิดปกติแม้ฉันใด เมื่อจิตถึงความผิดปกติ ฯลฯ ย่อมมีการตายที่ไม่ดี กาลกิริยาก็ไม่งาม ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อจิตไม่ถึงความผิดปกติ แม้กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมก็ไม่ถึงความผิดปกติ เขาผู้มีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมไม่ถึงความผิดปกติ ย่อมมีการตายที่ดี กาลกิริยาก็งาม
เมื่อเรือนยอดมุงไว้ดี แม้ยอดเรือน ไม้กลอน ฝาเรือนก็ไม่ถึงความผิดปกติแม้ฉันใด
คหบดี เมื่อจิตไม่ถึงความผิดปกติ ฯลฯ ย่อมมีการตายที่ดี กาลกิริยาก็งาม ฉันนั้นเหมือนกัน
พยาปันนสูตรที่ ๘ จบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น