วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อารามทูสกชาดก ว่าด้วยการประทุษร้ายสวน


 
ชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนไม่มีปัญญาหรือมีปัญญาน้อย เมื่อคิดจะทำการใด ๆ ก็ตามที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตน กลับเป็นการทำลายประโยชน์ เพราะฉะนั้นผู้หวังประโยชน์ควรแสวงหาปัญญาที่ถูกต้องด้วย จะได้ไม่เสียเวลาเปล่า เหมือนพวกลิงในชาดกนี้ 
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญญามีอยู่ ๒ ประการใหญ่ ๆ คือ ปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ ปรโตโฆสะ แปลว่า เสียงจากคนอื่น โยนิโสมนสิการ แปลว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย หรือแปลเอาใจความว่า การพิจารณาไตร่ตรองโดยรอบคอบ
ปรโตโฆสะ แยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นบุคคลโดยตรง เช่น บิดามารดา ครู อาจารย์ ผู้เป็นกัลยาณมิตร คอยแนะนำตักเตือน ในสิ่งที่ดีงามก่อให้เกิดความรู้หรือปัญญา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปัจจัยภายนอก

ส่วนที่สองได้แก่ คัมภีร์ต่าง ๆ ที่บันทึกคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลาย เช่น ตำรับตำรา หรือหนังสือเรียน เป็นต้น  เป็นแหล่งความรู้ที่เป็นประโยชน์เมื่อได้อ่านแล้วจะทำให้เกิดปัญญา
โยนิโสมนสิการ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปัจจัยภายใน ได้แก่การพิจารณาไตร่ตรองใคร่ครวญสิ่งที่ได้รับฟังมาจากบิดามารดา ครูอาจารย์นั้น หรือที่ได้อ่านมานั้นตามกำลังสติปัญญา ก็จะทำให้เกิดปัญญาเพิ่มขึ้น เช่น ได้ยินบิดามารดาบอกว่า การดื่มสุราไม่ดีเพราะจะทำให้สูญเสียการทรงตัว สติจะอ่อนกำลังไม่สามารถควบคุมความคิดหรืออวัยวะร่างกายของตนให้อยู่ในสภาวะปกติได้  เมื่อได้รับฟังมาอย่างนี้แล้ว ก็นำไปคิดไตร่ตรองต่อว่า เพราะเหตุไร สุราจึงมีฤทธิ์ทำให้คนที่ดื่มเป็นอย่างนั้น ก็ต้องไปศึกษาต่อว่า สุราประกอบด้วยสารอะไรบ้าง หรือว่า สุราทำมาจากอะไร เมื่อคิดพิจารณาอย่างนี้แล้วก็จะทราบข้อเท็จจริงของสุรา ความรู้ที่ได้ก็กลายเป็นปัญญา ที่เกิดขึ้นด้วยโยนิโสมนสิการ  
 ชาดกเรื่องนี้อยู่ในพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ ข้อ ๔๖ หน้าที่ ๑๙ สว่นอรรถกถาอยู่ในภาคที่ ๒ หน้า ๑๒-๑๓
. อารามทูสกชาดก (๔๖)
ว่าด้วยลิงทำลายสวน
(บุรุษผู้เป็นบัณฑิตได้ฟังคำของลิง จึงกล่าวว่า)
[๔๖]              ผู้ไม่ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถึงจะบำเพ็ญประโยชน์
          ก็ไม่สามารถจะนำความสุขมาได้เลย
          คนมีปัญญาทรามทำประโยชน์ให้เสียหาย เหมือนลิงเฝ้าสวน
อารามทูสกชาดกที่ ๖ จบ
 
๖. อรรถกถาอารามทูสกชาดกที่ ๖
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภคนประทุษร้ายอุทยาน ในหมู่บ้านโกศลตำบลหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า น เว อนตฺถกุสเลน ดังนี้. ดังได้สดับมา เมื่อพระบรมศาสดา เสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลทรงบรรลุถึงหมู่บ้านตำบลหนึ่ง. กุฏุมพีในหมู่บ้านนั้นหนึ่ง นิมนต์พระตถาคตเจ้าให้ประทับนั่งในอุทยานของตนถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุขแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงเสด็จเที่ยวไปในสวนนี้ตามความพอพระทัยเถิด. ภิกษุทั้งหลายก็พากันลุก ชวนนายอุทยานบาล (คนเฝ้าสวน) ไปเที่ยวอุทยาน เห็นที่โล่งเตียนแห่งหนึ่ง จึงถามนายอุทยานบาลว่า อุบาสก อุทยานนี้ ตอนอื่นมีต้นไม้ชะอุ่มร่มรื่น แต่ที่ตรงนี้ไม่มีต้นไม้หรือกอไผ่อะไรเลย ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรหนอ ? นายอุทยานบาลตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าเจริญ ในเวลาปลูกสร้างอุทยานนี้ มีเด็กชาวบ้านคนหนึ่ง เมื่อจะรดน้ำต้นไม้ ต้องถอนต้นไม้ที่เพิ่งปลูกในที่ตรงนี้ ขึ้นดูรากเสียก่อนแล้วจึงรดน้ำตามความสั้นยาวของรากเป็นประมาณ ต้นไม้ปลูกใหม่เหล่านั้นก็เหี่ยวแห้งตายไม่เหลือ ด้วยเหตุนั้น ที่ตรงนี้จึงโล่งเตียนไป.
ภิกษุทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วจึงกราบทูลเรื่องนั้น. พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เด็กชาวบ้านคนนั้นมิใช่เพิ่งเป็นคนทำลายสวนในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ก็เคยเป็นคนทำลายสวนเหมือนกันแล้วทรงน้ำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :- ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พวกชาวเมืองป่าวร้อง การเล่นนักขัตฤกษ์ในพระนคร. จำเดิมแต่กาลที่ได้ยินเสียงกลองประโคมในนักขัตฤกษ์. ชาวพระนครทั่วถ้วนล้วนพากันเที่ยวเล่นการนักขัตฤกษ์ไปมาสนุกสนาน.
ครั้งนั้น อุทยานของพระราชา มีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นอันมาก, คนเฝ้าสวนคิดว่า ในเมืองมีงานนักขัตฤกษ์เอิกเกริกเราบอกให้ลิงเหล่านี้มันรดน้ำต้นไม้แล้วเราก็จักเล่นนักขัตฤกษ์ได้แล้วก็ไปหาวานรตัวจ่าฝูงถามว่า แนะวานรผู้เป็นจ่าฝูง ผู้เป็นสหาย อุทยานนี้ มีอุปการะเป็นอย่างมากแก่ท่านทั้งหลายพวกท่านได้พากันขบเคี้ยวดอกผลและใบอ่อนในอุทยานนี้ บัดนี้ในพระนครกำลังมีงานนักขัตฤกษ์เอิกเกริก เราจักไปเล่นงานนักขัตฤกษ์กับเขาบ้าง พวกท่านจงช่วยรดน้ำต้นไม้ที่กำลังปลูกใหม่ ๆในสวนนี้ ตลอดเวลาที่เรายังไม่มาก จักได้ไหม ? วานรจ่าฝูง รับคำว่า ดีแล้ว พวกเราจักรดน้ำให้. นายอุทยานบาลก็กำชับว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงระมัดระวังอย่าประมาทนะจัดหากระออมหนังและกระออมไม้ สำหรับตักน้ำให้แก่พวกวานรแล้วก็ไป. พวกวานรพากันถือกระออมหนัง ละกระออมไม้จะไปรดน้ำต้นไม้ ครั้งนั้น วานรจ่าฝูง จึงพูดกะวานรด้วยกันอย่างนี้ว่า วานรผู้เจริญทั้งหลาย ธรรมดาน้ำเป็นสิ่งพึงสงวนพวกท่านจักรดน้ำต้นไม้ต้องถอนต้นไม้ขึ้น ถอนขึ้นดูราก ต้นไหนรากหยั่งลึก ต้องรดน้ำให้มาก ต้นไหนรากหยั่งลงไม่ลึก รดแต่น้อย ภายหลังน้ำของเราจักหาได้ยาก.
พวกวานรต่างรับคำว่า ดีแล้ว พากันทำตามนั้น. สมัยนั้น มีบุรุษฉลาดคนหนึ่ง เห็นพวกวานรในพระราชอุทยานเหล่านั้นพากันทำเช่นนั้น จึงกล่าวว่า แนะวานรทั้งหลาย เหตุไรพวกท่านจึงถอนต้นไม้อ่อน ๆขึ้นแล้วรดน้ำตามประมาณรากอย่างนี้เล่า ? พวกวานรตอบว่า วานรเป็นหัวหน้าสอนไว้อย่างนี้. บัณฑิตฟังคำนั้นแล้ว ดำริว่า อนาถหนอ ลิงโง่ ช่างไม่เฉลียวเสียเลย คิดว่า จักทำประโยชน์กลับทำความพินาศไปเสียฉิบแล้วกล่าวคาถานี้ว่า :- การประพฤติประโยชน์ โดยผู้ไม่ฉลาด ในประโยชน์ มิได้นำความสุขมาให้เลย คนโง่ ๆทำประโยชน์เสื่อมเหมือนลิงเฝ้าสวน ฉะนั้น ดังนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น