วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

อาณิสูตร ว่าด้วยลิ่ม

ได้อ่านพระสูตร ๆ หนึ่ง พออ่านพระสูตรนี้แล้วมีความรู้สึกสลดใจพอสมควร ใจความในพระสูตรนั้น พอสรุปใจความได้ว่า ต่อไปในอนาคต พวกภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา จะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคำสอนหรือพระสูตรที่พระพุทธ องค์แสดงไว้ดีแล้ว พอเหมาะพอควรต่อการนำไปปฏิบัติ และสามารถนำออกจากทุกข์ได้ แต่กลับไปสนใจศึกษาเล่าเรียน พระสูตรอื่นซึ่งไม่ใช่พระพุทธพจน์ที่นักกวี หรือนักปราชญ์สมัยใหม่เขียนไว้ด้วยถ้อยคำสละสลวย งดงาม เข้าใจยาก แต่ไม่สามารถนำออกจากทุกข์ได้

พออ่านแล้วก็มานั่งคิดว่า หรือว่า เรา ก็กำลังเป็น หนึ่ง ในจำนวนนั้นด้วยหรือเปล่า ที่มัวมาศึกษาแต่เรื่องยากๆ ศึกษาไปก็เครียดไป แล้วก็คิดปลอบใจตัวเองไป 

พระสูตรนี้ชื่อว่า อาณิสูตร ครับ ถ้ามีเวลาขอนิมนต์/เชิญอ่านดูเนื้อความเต็มๆ ได้ครับ



๗. อาณิสูตร
ว่าด้วยลิ่ม
[๒๒๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ...
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีตะโพนชื่ออานกะของพวกกษัตริย์ผู้มีพระนามว่าทสารหะ เมื่อตะโพนแตก พวกกษัตริย์ทสารหะได้ตอกลิ่มอื่นลงไป ต่อมาไม้โครงเก่าของตะโพนชื่ออานกะก็หายไปเหลือแต่โครงลิ่ม ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ในอนาคต เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ตถาคตกล่าวไว้ล้ำลึก มีเนื้อความลึกซึ้ง เป็นโลกุตตรธรรม ประกอบด้วยความว่าง ภิกษุทั้งหลายจักไม่ตั้งใจฟังให้ดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ทั่วถึง และไม่ให้ความสำคัญธรรมว่า ควรเรียน ควรท่องจำให้ขึ้นใจ ฉันนั้น
แต่เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ท่านผู้เชี่ยวชาญได้รจนาไว้ เป็นบทกวี มีอักษรวิจิตร มีพยัญชนะวิจิตร อยู่ภายนอก[1] เป็นสาวกภาษิต[2] ภิกษุเหล่านั้นกลับตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยหูฟัง เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ทั่วถึง และจักสำคัญธรรมว่า ควรเรียน ควรท่องจำ ให้ขึ้นใจ[3] ฉันใด แต่เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ตถาคตกล่าวไว้ล้ำลึก มีเนื้อความลึกซึ้ง เป็นโลกุตตรธรรม ประกอบด้วยความว่าง ก็จักอันตรธานไป ฉันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อผู้อื่น กล่าวสูตรที่ตถาคตกล่าวไว้ล้ำลึก มีเนื้อความลึกซึ้ง เป็นโลกุตตรธรรม ประกอบด้วย ความว่าง เราทั้งหลายจักตั้งใจฟังด้วยดี เงี่ยหูฟัง เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ทั่วถึง และให้ความสำคัญธรรมว่า ควรเรียน ควรท่องจำให้ขึ้นใจ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้
อาณิสูตรที่ ๗ จบ


[1] อยู่ภายนอก หมายถึงภายนอกพระพุทธศาสนา (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๘/๕๕)
[2] สาวกภาษิต หมายถึงภาษิตอันเหล่าสาวกของเจ้าลัทธิคนใดคนหนึ่งที่ไม่ได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธสาวกได้ภาษิตไว้ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๘/๕๕, องฺ.ทุก.ฏีกา ๒/๔๘/๕๓)
[3] ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๔๘/๙๑-๙๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น