วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โกธนสูตร ว่าด้วยบุคคลผู้มักโกรธ


 ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ตรัสถึงโทษของความโกรธ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ถ้าไม่ได้อ่านพระสูตรนี้ ก็จะไม่รู้ว่า ความโกรธมีโทษมากน้อยแค่ไหน  ผู้เขียนเคยได้ยินคนแก่คนเฒ่าสอนลูกหลานด้วยภาษาอีสานว่า "โมโหนี่ พาโตตกต่ำ" แปลว่า ความโกรธนี้  พาตัวเองตกต่ำ

เชิญอ่านเนื้อหาเต็มในพระสูตรได้ครับ  พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ อังคุตตรนิกาย  สัตตกนิบาต ข้อและหน้า อาจจะไม่ตรงกัน กับฉบับอื่น ฉบับนี้เป็นฉบับของ มหาจุฬาฯ มจร. ถ้านำไปอ้างอิงในงานวิชาการ เขียนเป็นลักษณะอย่างนี้
องฺ.สตฺตก. (ไทย) ๒๓/๖๔/๑๒๕-๑๓๐.

 โกธนสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มักโกรธ
[๖๔]    ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ ย่อมมาถึงบุคคลผู้มักโกรธ จะเป็นสตรี หรือบุรุษก็ตาม
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
.       ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้มีผิวพรรณทรามเถิดข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรูมีผิวพรรณงาม ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธ ครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้อาบน้ำดีแล้ว ไล้ทาดีแล้ว ตัดผม โกนหนวดแล้วนุ่งผ้าขาวก็จริง แต่บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำนั้น ก็เป็นคนมีผิวพรรณทรามอยู่นั่นเอง นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ที่ศัตรู มุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
 ๒.      ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้นอนเป็นทุกข์เถิดข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรูนอนสบาย ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้นอนอยู่บนเตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย ลาดด้วยพรมขนสัตว์ ลาดด้วยเครื่องลาดมีลายรูปดอกไม้ มีเครื่องลาดหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้างก็จริง แต่บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำนั้น ก็นอนเป็นทุกข์ อยู่นั่นเอง นี้เป็นธรรม ประการที่ ๒ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
.       ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้ อย่าได้ มีความเจริญเลยข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรูมีความเจริญ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้ได้ความเสื่อมก็เข้าใจว่า ตนได้ความเจริญแม้ได้ความเจริญก็เข้าใจว่า ตนได้ความเสื่อมธรรมเหล่านี้เป็นข้าศึกต่อกันและกัน ที่บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำนั้นยึดถือแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน นี้เป็นธรรมประการ ที่ ๓ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
.       ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้เป็นคนไม่มีโภคทรัพย์เถิดข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรูมีโภคทรัพย์ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธ ครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรมก็จริง แต่พระราชาก็รับสั่งให้ริบโภคทรัพย์ของบุคคล ผู้ถูกความโกรธครอบงำ นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
.       ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้เป็นคนไม่มียศเถิดข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรู มียศ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้มียศที่ได้มาด้วยความไม่ประมาทก็จริง แต่บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำก็เสื่อมจากยศนั้น นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
.       ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้เป็นคนไม่มีมิตรเถิดข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรูมีมิตร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้มีมิตร อำมาตย์ ญาติ สาโลหิต๑ก็จริง แต่คน เหล่านั้นก็พากันหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำนั้นไปห่างไกล นี้เป็นธรรมประการที่ ๖ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
.      ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเถิดข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรูไปสู่สุคติ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ โกรธจัดนี้ ประพฤติทุจริตทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นธรรม ประการที่ ๗ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ ย่อมมาถึงบุคคลผู้มักโกรธ จะเป็นสตรี หรือบุรุษก็ตาม
          บุคคลผู้มักโกรธนั้น
          มีผิวพรรณทราม นอนเป็นทุกข์
          ได้ความเจริญแล้ว ก็ยังถึงความเสื่อม
          บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ
          ทำการเข่นฆ่าทางกาย วาจา
          ย่อมประสบความเสื่อมทรัพย์
          บุคคลผู้มัวเมาด้วยความมัวเมาเพราะโกรธ
          ย่อมถึงความเสื่อมยศ
          ญาติมิตรและสหาย ย่อมหลีกเว้นบุคคลผู้มักโกรธ
          ความโกรธก่อความเสียหาย
          ความโกรธทำจิตให้กำเริบ
          บุคคลผู้มักโกรธย่อมไม่รู้ภัยที่เกิดจากภายใน
          บุคคลผู้โกรธย่อมไม่รู้อรรถ
          บุคคลผู้โกรธย่อมไม่เห็นธรรม
          ความโกรธครอบงำนรชนในกาลใด
          ความมืดย่อมมีในกาลนั้น
          บุคคลผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย
          ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว
          เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้
          บุคคลผู้โกรธย่อมแสดงความเก้อยากก่อน
          เหมือนไฟแสดงควันก่อน
          ความโกรธเกิดขึ้นในกาลใด
          คนทั้งหลายย่อมโกรธในกาลนั้น
          บุคคลผู้โกรธไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ
          ไม่มีคำพูดที่น่าเคารพ
          บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำไม่มีความสว่างแม้แต่น้อย
          กรรมเหล่าใดห่างไกลจากธรรม เป็นเหตุให้เดือดร้อน
          เราจักบอกกรรมเหล่านั้น
          เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้นไปตามลำดับ
          บุคคลผู้โกรธ ฆ่าบิดาก็ได้
          บุคคลผู้โกรธ ฆ่ามารดาก็ได้
          บุคคลผู้โกรธ ฆ่าพราหมณ์๑ก็ได้
          บุคคลผู้โกรธ ฆ่าปุถุชนก็ได้
          ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตามองโลกนี้
          เป็นผู้มีกิเลสหนา โกรธขึ้นมา
          ย่อมฆ่าแม้มารดาผู้ให้ชีวิตนั้น
          สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ
          เพราะตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง
          ผู้โกรธหมกมุ่นในรูปต่างๆ ย่อมฆ่าตนเองเพราะเหตุต่างๆ
          คือฆ่าตนเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษตายบ้าง
          ใช้เชือกผูกคอตายบ้าง กระโดดลงในซอกเขาตายบ้าง
          คนเหล่านั้นเมื่อทำกรรม
          อันมีแต่ความเสื่อมและทำลายตน ก็ไม่รู้สึก
          ความเสื่อมเกิดจากความโกรธ
          ตามที่กล่าวมา ความโกรธนี้ เป็นบ่วงแห่งมัจจุ
          มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย โดยรูปของความโกรธ
          พึงตัดความโกรธนั้นด้วยทมะ (ความข่มใจ)
          คือปัญญา ความเพียร และทิฏฐิ
          บัณฑิตพึงตัดอกุศลธรรมแต่ละอย่าง
          พึงศึกษาในธรรมเหมือนอย่างนั้น
          เธอทั้งหลายปรารถนาอยู่ว่า
          “ขอความเป็นผู้เก้อยากอย่าได้มีแก่เราทั้งหลาย
          บุคคลผู้ปราศจากความโกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ
          ปราศจากความโลภ ไม่มีความริษยา
          ฝึกฝนตนแล้ว ละความโกรธได้แล้ว
          เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน
โกธนสูตรที่ ๑๑ จบ


ภาพชาวบ้านกำลังเกี่ยวข้าวหนีน้ำ เป็นภาพประวัติศาสตร์ ในรอบ ๗๐ ปี เพิ่งจะเห็นน้ำท่วมโดยฝนไม่ตก และท่วมในเดือนสิบสอง ตอนข้าวใกล้จะแก่ และน้ำที่มาท่วมไม่ได้มาทางทิศเหนือแต่มาทางทิศใต้ (น้ำไหลขึ้น) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่น้ำท่วมโคราช (เขาใหญ่) แล้วปล่อยน้ำลงแม่น้ำมูล แม่น้ำชี น้ำชีจึงไหลบ่าขึ้นไปแม่น้ำปาว ท่วมไร่นาของชาวกาฬสินธุ์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น