วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

อักโกสวัตถุสูตร


บุคคลผู้ไม่โกรธ ฝึกตนแล้ว

มีความเป็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ

สงบ คงที่ จักมีความโกรธแต่ที่ไหนเล่า

ผู้ใดโกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ

ผู้นั้นย่อมเลวกว่าผู้โกรธ เพราะการโกรธตอบนั้น

บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ

ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก

ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธ เป็นผู้มีสติ สงบใจไว้ได้

ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์ของคนทั้ง ๒ ฝ่าย

คือฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น

เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์ของคนทั้ง ๒ ฝ่าย

คือฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น

ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมเข้าใจว่าเป็นคนโง่


พระพุทธพจน์ข้างบนนี้ พระองค์ตรัสแก่พราหมณ์ที่ชอบด่า หรืออาจจะเป็นคนด่าเก่งก็ได้ จึงได้ชื่อเพิ่มเข้ามาว่า อักโกสภารทวาชโครต ในอินเดียมีคนในตระกูลหรือมีชื่อว่า ภารทวาชะ หลายคนเฉพาะที่ผู้เขียนเห็นปรากฏในพระไตรปิฎก เช่น พระภารทวาชะ ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะ องค์ที่เหาะขึ้นไปเอาบาตไม้แก่นจันท์แดงของเศรษฐี รูปหนึ่ง สามเณรภารทวาชะ ที่ปรากฏในอัคคัญญสูตร รูปหนึ่ง และพราหมณ์สองคนนี้ คือ ภารทวาชพราหมณ์คนก่อนนี้ เป็นสามีของนางธนัญชานี มาเฝ้าพระพุทธเจ้าตั้งใจว่า จะมาถามปัญหาให้พระองค์ติด แต่พระองค์ไม่ติดในปัญหาของเขา เลยบวชและได้บรรลุเป็นอรหันต์ ส่วนพราหมณ์คนที่กล่าวถึงอยู่นี้ เมื่อทราบว่า ภารทวาชพราหมณ์มาบวชก็โกรธมาก กะว่า จะมาด่าพระพุทธองค์ให้สมใจ  แต่เหตุการณ์กลับกัน คือพระองค์ไม่ด่าตอบ และถามย้อนกลับไปเป็นเชิงอุปมาอุปไมยว่า เมื่อมีญาติพี่น้องหรือแขกมาเยี่ยมบ้าน พราหมณ์หาข้าวปลาอาหารต้อนรับญาติหรือแขกที่มาเยี่ยมแล้ว ถ้าญาติหรือแขกไม่รับ  อาหารเหล่านั้นจะเป็นของใคร  พราหมณ์จนในข้อเท็จจริงจึงรับว่า เป็นของของเขาเอง  พระองค์จึงตรัสว่า ข้อนั้นเป็นฉันใด ข้อนี้ก็เป็นฉันนั้น เมื่อพราหมณ์ด่าพระองค์  พระองค์ก็ไม่รับ เพราะฉะนั้นคำด่าต่าง ๆ เหล่านั้นจึงเป็นของพราหมณ์นั่นเอง จากนั้นพระองค์ก็ตรัสพระพุทธพจน์ตามที่ปรากฏในข้างต้นนั้น

การที่มีคนมาด่าแล้วเราด่าตอบกลับไปนั้น บางคนอาจจะมองว่า เป็นคนทันคน มีไหวพริบปฏิภาณ  แต่ผลในระยะยาวคือคน ๆ นั้นจะมีศัตรูเพิ่มขึ้น มากขึ้น เป็นการก่อเวร  ถ้านิ่งเสียไม่โต้ตอบ บางคนอาจจะมองว่า เป็นคนโง่ ไม่ทันคน ไม่มีไหวพริบปฏิภาณ  แต่ผลในระยะยาว คน ๆ นั้น จะเป็นน่าเคารพนับถือ ไม่ก่อศัตรูเพิ่ม แถมคนที่เคยด่าอาจจะกลับมาเป็นมิตรในภายหลังก็ได้  ดังเนื้อความในพระสูตรนี้เป็นตัวอย่าง  พระองค์ไม่โต้ตอบแต่กลับได้คนที่ด่าเป็นสาวกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน 

พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค 






 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น