วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2555

จังกมสูตร ว่าด้วยการจงกรม


 สมัยหนึ่งขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ ภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์  พระองค์ได้ชี้ให้ภิกษุทั้งหลาย ดูพระมหาเถระและลูกศิษย์ ที่กำลังเดินจงกรมอยู่ มี พระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานเถระ พระมหากัสสปเถระ พระอนุรุทธเถระ พระปุณณมันตานีบุตรเถระ พระอุบาลีเถระ  พระอานนทเถระ และพระเทวทัต ว่า ภิกษุที่เดินจงกรมอยู่กับพระสารีบุตรล้วนแต่เป็นผู้มีปัญญา  ภิกษุที่เดินจงกรมอยู่กับพระมหาโมคคัลลานะล้วนแต่เป็นผู้มีฤทธิ์  ภิกษุที่เดินจงกรมอยู่กับพระมหากัสสปะล้วนแต่ชอบถือธุดงค์  ภิกษุที่เดินจงกรมอยู่กับพระอนุรุทธล้วนแต่ได้อภิญญา หูทิพย์ ตาทิพย์  ภิกษุที่เดินจงกรมอยู่กับพระปุณณมันตานีบุตรล้วนแต่เป็นพระธรรมถึก (พระนักเทศน์) ภิกษุที่เดินจงกรมอยู่กับพระอุบาลีล้วนแต่เป็นผู้ทรงวินัย ภิกษุที่เดินจงกรมอยู่กับพระอานนท์ล้วนแต่เป็นผู้คงแก่เรียน (เป็นพหูสูต) ภิกษุที่เดินจงกรมอยู่กับพระเทวทัตล้วนแต่เป็นคนมีความปรารถนาลามก (คิดชั่ว) 
จากนั้นพระองค์ก็สรุปว่า คนคบกันเพราะมีอัธยาศัยเหมือนกัน  หรือมีธาตุเหมือนกัน  

 พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๙๙  อ่านเนื้อความเต็ม ของพระสูตรได้ตามที่ปรากฏข้างล่างนี้

 
. จังกมสูตร ว่าด้วยการจงกรม
[๙๙]    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรกำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากในที่ไม่ไกลพระผู้มี พระภาค ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็กำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระมหากัสสปะก็กำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระอนุรุทธะก็กำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมาก ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็กำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระอุบาลีก็กำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระอานนท์ก็กำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุ จำนวนมากในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค แม้พระเทวทัตก็กำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
บุคคลผู้มีอัธยาศัยเหมือนกันจึงคบกันได้
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นสารีบุตรกำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากหรือไม่
เห็น พระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุทั้งหมดนี้ล้วนมีปัญญามาก
เธอทั้งหลายเห็นมหาโมคคัลลานะกำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากหรือไม่
เห็น พระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุทั้งหมดนี้ล้วนมีฤทธิ์มาก
เธอทั้งหลายเห็นมหากัสสปะกำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากหรือไม่
เห็น พระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุทั้งหมดนี้ล้วนกล่าวเรื่องธุดงค์[1]
เธอทั้งหลายเห็นอนุรุทธะกำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากหรือไม่
เห็น พระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุทั้งหมดนี้ล้วนมีตาทิพย์
เธอทั้งหลายเห็นปุณณมันตานีบุตรกำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากหรือไม่
เห็น พระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุทั้งหมดนี้ล้วนเป็นธรรมกถึก
เธอทั้งหลายเห็นอุบาลีกำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากหรือไม่
เห็น พระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุทั้งหมดนี้ล้วนทรงวินัย
เธอทั้งหลายเห็นอานนท์กำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากหรือไม่
เห็น พระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพหูสูต
เธอทั้งหลายเห็นเทวทัตกำลังเดินจงกรมอยู่กับภิกษุจำนวนมากหรือไม่
เห็น พระพุทธเจ้าข้า
ภิกษุทั้งหมดนี้ล้วนมีความปรารถนาชั่ว
สัตว์ทั้งหลายคบค้าสมาคมกันโดยธาตุอย่างเดียวกัน คือสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัย เลว คบค้าสมาคมกับสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยเลว สัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยงาม คบค้าสมาคมกับสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยงาม
แม้ในอดีต สัตว์ทั้งหลายก็ได้คบค้าสมาคมกันโดยธาตุอย่างเดียวกัน คือ สัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยเลว ได้คบค้าสมาคมกับสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยเลว สัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยงาม ได้คบค้าสมาคมกับสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยงาม
แม้ในอนาคต สัตว์ทั้งหลายก็จักคบค้าสมาคมกันโดยธาตุอย่างเดียวกัน คือสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยเลว จักคบค้าสมาคมกับสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยเลว สัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยงาม จักคบค้าสมาคมกับสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยงาม
ภิกษุทั้งหลาย แม้ในปัจจุบันนี้ สัตว์ทั้งหลายคบค้าสมาคมกันโดยธาตุ อย่างเดียวกัน คือสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยเลว คบค้าสมาคมกับสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัธยาศัยเลว สัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยงาม คบค้าสมาคมกับสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัยงาม

จังกมสูตรที่ ๕ จบ




[1] กล่าวเรื่องธุดงค์ ในที่นี้หมายถึงการไต่ถามเกี่ยวกับการรักษาธุดงค์ อานิสงส์ การสมาทาน การอธิษฐาน และการขาดธุดงค์ (สํ.นิ.. /๙๙/๑๕๗)

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

กุมภสูตร ว่าด้วยอุปมาด้วยหม้อ พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ สังยุตตนิกาย มหาวรรค


กุมภสูตร ว่าด้วยอุปมาด้วยหม้อ เนื้อหาในพระสูตรนี้พระพุทธองค์ตรัสถึงธรรมเป็นเครื่องรับรองจิตใจ โดยยกเอาหม้อมาเป็นข้ออุปมาว่า หม้อ ถ้ามีเครื่องรองรับก็จะกลิ้งไปได้ยาก จิตใจถ้ามีเครื่องรองรับก็จะกลิ้งไปได้ยากเหมือนกัน แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเครื่องรองรับจิต จะอธิบายสักข้อหนึ่งพอเป็นตัวอย่าง คือข้อว่า สัมมาวาจา การพูดจาชอบ ก็คือ การเว้นวจีทุจริต ๔ อย่าง ได้แก่ ไม่พูดคำเท็จ ไม่พูดคำส่อเสียด ยุยงให้แตกกัน ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อหาประโยชน์ไม่ได้ ที่โบราณพูดว่า 

"ไปไหนมาสามวาสองศอก ไปไหนก็ไม่บอกสองศอกสามวา" 

หมายความว่า ถามอย่างหนึ่ง ตอบอีกอย่างหนึ่ง เลยไม่รู้เรื่องกันทั้งสองฝ่าย

 
. กุมภสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยหม้อ
[๒๗]   เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ภิกษุทั้งหลาย หม้อที่ไม่มีเครื่องรองรับ กลิ้งไปได้ง่าย ที่มีเครื่องรองรับกลิ้งไปได้ยาก แม้ฉันใด จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ไม่มีธรรมเครื่องรองรับ กลับกลอก ได้ง่าย ที่มีธรรมเครื่องรองรับ กลับกลอกได้ยาก
อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องรองรับจิต
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
. สัมมาทิฏฐิ   ๒. สัมมาสังกัปปะ ๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ ๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ ๗. สัมมาสติ . สัมมาสมาธิ

นี้เป็นธรรมเครื่องรองรับจิต
หม้อที่ไม่มีเครื่องรองรับ กลิ้งไปได้ง่าย ที่มีเครื่องรองรับ กลิ้งไปได้ยาก แม้ฉันใด จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ไม่มีธรรมเครื่องรองรับ กลับกลอกได้ง่าย ที่มีธรรม เครื่องรองรับ กลับกลอกได้ยาก
กุมภสูตรที่ ๗ จบ 



วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

สคาถาสูตร ว่าด้วยธรรมเทศนาที่มีคาถา


ป่าคือกิเลส เกิดเพราะการคลุกคลีกัน
ย่อมขาดไป เพราะการไม่คลุกคลีกัน
บุคคลเกาะท่อนไม้เล็กพึงจมลงในห้วงน้ำใหญ่ฉันใด
แม้สาธุชนอาศัยคนเกียจคร้านก็ย่อมจมลงฉันนั้น
เพราะฉะนั้น พึงเว้นคนเกียจคร้าน
ผู้มีความเพียรย่อหย่อนนั้นเสีย
พึงอยู่ร่วมกับบัณฑิตผู้สงัด เป็นอริยะ
มีใจเด็ดเดี่ยว เพ่งพินิจ ปรารภความเพียรเป็นนิจ

พระสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า คนจะคบกันโดยมีธาตุที่เหมือนกัน ในอดีตก็เป็นอย่างนี้  ในอนาคตก็จะเป็นอย่างนี้ แม้ปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ เหมือน  คูถ (อุจจาระ) เข้ากันได้กับอุจจาระ  มูต (ปัสสาวะ) เข้ากันได้กับปัสสาวะ
แต่ตอนสุดท้ายพระองค์ตรัสเป็นคาถาว่า ให้เลือกคบคนดี คนขยันไว้ก่อน ถึงแม้ว่าธาตุจะไม่เหมือนกันก็ตาม เพราะคนดี  คนขยัน จะแนะนำแต่ในทางที่ดีงาม ทางเจริญ  
พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ สังยุตตนิกาย  นิทานวรรค  



เสียงอ่านเข็มทิศชีวิต เล่ม ๑ ภาค ๑

เจาะใจ ฐิตินาถ ณ พัทลุง ๒

เจาะใจ ฐิตินาถ ณ พัทลุง ๑

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

ชาครสูตร พระสูตรนี้ อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค


. ชาครสูตร
ว่าด้วยความตื่น
[]      เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
เมื่อธรรมทั้งหลายตื่นอยู่ ธรรมประเภทไหนชื่อว่าหลับอยู่
เมื่อธรรมทั้งหลายหลับแล้ว ธรรมประเภทไหนชื่อว่าตื่นอยู่
บุคคลหมักหมมธุลีคือกิเลสเพราะธรรมประเภทไหน
บุคคลบริสุทธิ์เพราะธรรมประเภทไหน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เมื่ออินทรีย์ ๕ ตื่นอยู่ นิวรณ์ ๕ ชื่อว่าหลับอยู่
เมื่อนิวรณ์ ๕ หลับแล้ว อินทรีย์ ๕ ชื่อว่าตื่นอยู่
บุคคลหมักหมมธุลีคือกิเลสเพราะนิวรณ์ ๕
บุคคลบริสุทธิ์เพราะอินทรีย์ ๕

 พระพุทธพจน์จากพระสูตรนี้ ทำให้ทราบว่า อินทรีย์ ๕ ได้แก่
๑) สัทธินทรีย์ 
๒) วิริยินทรีย์  
๓) สตินทรีย์  
๔) สมาธินทรีย์  
๕) ปัญญินทรีย์  

อินทรีย์ แปลว่า ความเป็นใหญ่  สัทธินทรีย์ หมายถึง ความเป็นใหญ่เกี่ยวกับความเชื่อ คือ ถ้าเป็นความเชื่อ สัทธา จะเป็นใหญ่กว่าข้อธรรมอย่างอื่น  ที่มีความหมายว่า ความเชื่อเหมือนกัน 
อินทรีย์ทั้ง ๕ นี้ ถ้าได้รับากรพัฒนาถึงขั้นสูงสุดแล้ว สามารถทำให้มนุษย์บริสุทธิ์จากกิเลสได้ และกิเลส ๕ อย่าง หรือ นิวรณ์ ๕ อยางซึ่งแปลว่า เครื่องกั้นจิตไม่ให้ลุถึงความดีที่ต้องการ เหล่านี้ คือ 
๑) กามฉันทะ ความพอใจในกามคุณ ๕ อย่าง ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส 
๒) พยาบาท ความอาฆาต ปองร้าย 
๓) ถีนมิทธะ ความเซื่องซึม หดหู่ ง่วงเหงา หาวนอน  
๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ 
๕) วิจิกิจฉา ความลังเล สงสัย 
ถ้าถูกละได้หรือถูกทำลายไปจนหมดจากจิตใจ มนุษย์ก็เป็นอิสระ พ้นจากเครื่องพันธนาการทั้งหลาย



วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

ธนัญชานีสูตร

พระสูตรนี้มีความย่อว่า นางธนัญชานีพราหมณี  มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เวลาที่นางทำอะไรผิดพลาด หรือเกิดเหตุที่ทำให้นางตกใจ  นางจะเปล่งอุทานออกว่า  นโม ตัสสะ ภควโต  อรหโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ  แปลว่า ขอความนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทุกครั้ง  จนภารทวาชพราหมณ์ผู้เป็นสามีรำคาญ ด่ากลับไปด้วยภาษาที่หนัก คือ ใช้คำว่า หญิงถ่อย ซึ่งถือว่า เป็นคำด่าคนชั้นต่ำในอินเดียในสมัยนั้น  พราหมณ์ถามว่า พระศาสดาของเองมีอะไรดีนักหนา เองจึงได้สรรเสริญขนาดนี้ ฉันจะไปทดสอบถามปัญหาให้จนในคำถามของฉัน  นางก็ย้อนกลับมาว่า ไปเถอะ  ท่านสู้พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้หรอก  อย่าว่าแต่ท่านเลย ฉันยังไม่เห็นใคร ในโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่จะถามปัญหาให้พระองค์ติดตันได้  

จากนั้นพราหมณ์ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วถามปัญหา ตามที่ปรากฏข้างล่างนี้ 


บุคคลกำจัดอะไรได้จึงอยู่เป็นสุข
กำจัดอะไรได้จึงไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม
พระองค์ทรงพอพระทัยการกำจัดธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลกำจัดความโกรธได้จึงอยู่เป็นสุข
กำจัดความโกรธได้จึงไม่เศร้าโศก พราหมณ์
พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญการกำจัดความโกรธ
ซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน
เพราะบุคคลกำจัดความโกรธนั้นได้แล้ว จึงไม่เศร้าโศก


เมื่อพระองค์ตรัสตอบอย่างนี้แล้วพราหมณ์เกิดความเลื่อมใส จึงขอบวช  แล้วตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

จากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่า คนบางคน จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว แข็งกระด้าง  แต่พอได้รับการอบรมสั่งสอนในสิ่งที่ดีงาม กลับเปลี่ยนพฤติกรรมจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างในเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่า ทุกคนต้องการเป็นคนดี  แต่ที่ยังไม่ดีเพราะมีกิเลสคอยผลักดันให้เขาแสดงพฤติกรรมหยาบกระด้างออกมา  ถ้าเขาไม่ได้กัลยาณมิตรคอยแนะนำอาจจะกลายเป็นคนเลวไปเลยก็ได้  แต่เรื่องอย่างนี้ก็ขึ้นอยู่กับบุพพกรรมของคน ๆ นั้นด้วย เพราะบางคนถึงแม้จะได้กัลยาณมิตรดี ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาได้ เช่น พระเทวทัต  พระนางมาคันทิยา มเหสีของพระเจ้าอุเทน เป็นต้น ถึงแม้จะอยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาได้ 

 

อักโกสวัตถุสูตร


บุคคลผู้ไม่โกรธ ฝึกตนแล้ว

มีความเป็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ

สงบ คงที่ จักมีความโกรธแต่ที่ไหนเล่า

ผู้ใดโกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ

ผู้นั้นย่อมเลวกว่าผู้โกรธ เพราะการโกรธตอบนั้น

บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ

ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก

ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธ เป็นผู้มีสติ สงบใจไว้ได้

ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์ของคนทั้ง ๒ ฝ่าย

คือฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น

เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์ของคนทั้ง ๒ ฝ่าย

คือฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น

ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมเข้าใจว่าเป็นคนโง่


พระพุทธพจน์ข้างบนนี้ พระองค์ตรัสแก่พราหมณ์ที่ชอบด่า หรืออาจจะเป็นคนด่าเก่งก็ได้ จึงได้ชื่อเพิ่มเข้ามาว่า อักโกสภารทวาชโครต ในอินเดียมีคนในตระกูลหรือมีชื่อว่า ภารทวาชะ หลายคนเฉพาะที่ผู้เขียนเห็นปรากฏในพระไตรปิฎก เช่น พระภารทวาชะ ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะ องค์ที่เหาะขึ้นไปเอาบาตไม้แก่นจันท์แดงของเศรษฐี รูปหนึ่ง สามเณรภารทวาชะ ที่ปรากฏในอัคคัญญสูตร รูปหนึ่ง และพราหมณ์สองคนนี้ คือ ภารทวาชพราหมณ์คนก่อนนี้ เป็นสามีของนางธนัญชานี มาเฝ้าพระพุทธเจ้าตั้งใจว่า จะมาถามปัญหาให้พระองค์ติด แต่พระองค์ไม่ติดในปัญหาของเขา เลยบวชและได้บรรลุเป็นอรหันต์ ส่วนพราหมณ์คนที่กล่าวถึงอยู่นี้ เมื่อทราบว่า ภารทวาชพราหมณ์มาบวชก็โกรธมาก กะว่า จะมาด่าพระพุทธองค์ให้สมใจ  แต่เหตุการณ์กลับกัน คือพระองค์ไม่ด่าตอบ และถามย้อนกลับไปเป็นเชิงอุปมาอุปไมยว่า เมื่อมีญาติพี่น้องหรือแขกมาเยี่ยมบ้าน พราหมณ์หาข้าวปลาอาหารต้อนรับญาติหรือแขกที่มาเยี่ยมแล้ว ถ้าญาติหรือแขกไม่รับ  อาหารเหล่านั้นจะเป็นของใคร  พราหมณ์จนในข้อเท็จจริงจึงรับว่า เป็นของของเขาเอง  พระองค์จึงตรัสว่า ข้อนั้นเป็นฉันใด ข้อนี้ก็เป็นฉันนั้น เมื่อพราหมณ์ด่าพระองค์  พระองค์ก็ไม่รับ เพราะฉะนั้นคำด่าต่าง ๆ เหล่านั้นจึงเป็นของพราหมณ์นั่นเอง จากนั้นพระองค์ก็ตรัสพระพุทธพจน์ตามที่ปรากฏในข้างต้นนั้น

การที่มีคนมาด่าแล้วเราด่าตอบกลับไปนั้น บางคนอาจจะมองว่า เป็นคนทันคน มีไหวพริบปฏิภาณ  แต่ผลในระยะยาวคือคน ๆ นั้นจะมีศัตรูเพิ่มขึ้น มากขึ้น เป็นการก่อเวร  ถ้านิ่งเสียไม่โต้ตอบ บางคนอาจจะมองว่า เป็นคนโง่ ไม่ทันคน ไม่มีไหวพริบปฏิภาณ  แต่ผลในระยะยาว คน ๆ นั้น จะเป็นน่าเคารพนับถือ ไม่ก่อศัตรูเพิ่ม แถมคนที่เคยด่าอาจจะกลับมาเป็นมิตรในภายหลังก็ได้  ดังเนื้อความในพระสูตรนี้เป็นตัวอย่าง  พระองค์ไม่โต้ตอบแต่กลับได้คนที่ด่าเป็นสาวกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน 

พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค 






 

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

พระพุทธพจน์จากพระโอษฐ์



พระพุทธพจน์จากพระโอษฐ์

อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม

อานิสงส์ทันตา !
ถือศีล 7 วัน ได้ลูกสาวฟรี
เศรษฐีร้อยล้านยกให้-ไม่เอาสินสอดทองหมั้น
 
อา..ศีลธรรมมีค่าขึ้นมาทันที เพราะต่อไปนี้คนจะรักษาศีลกันมากขึ้น หลังจากถูกมองว่า "โบราณคร่ำครึ" มานาน นี่ถ้าประกาศว่าจะบวชซักพรรษา รับรองว่าได้เมียฟรีทีละ 3 แบบว่าอิสลามยังอาย

 
 
 
 
 
'หนุ่มพิสูจน์รักแท้' เข้าวัดปฏิบัติธรรม
 
เศรษฐินีร้อยล้านเมืองกรุงเก่าใจป้ำยกลูกสาวให้หนุ่มพนักงานบริษัทแบบฟรีๆ หลังว่าที่ลูกเขยทำตามคำมั่นปฏิบัติธรรม นั่งวิปัสสนากรรมฐานในวัดเป็นเวลา 7 วัน เตรียมจัดงานแต่งยิ่งใหญ่ 21 เมษานี้ เผยต้องการให้ว่าที่ลูกเขยรู้ซึ้งในรสพระธรรมนำไปปฏิบัติในการใช้ชีวิตคู่
 
เรื่องราวของเศรษฐินีสาวใหญ่ เจ้าของธุรกิจนับร้อยล้านที่ยอมยกลูกสาวให้แต่งงานกับหนุ่มพนักงานบริษัทแบบฟรีๆ ไม่เรียกร้องค่าสินสอดแม้แต่บาทเดียว แต่มีข้อแม้เพียงหนุ่มผู้โชคดีต้องเข้าวัดปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 7 วัน โดยเรื่องราวดังกล่าวเปิดเผยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม นางมะปรางค์ ไวยพันทา อายุ 52 ปี เจ้าของธุรกิจขายส่งรองเท้ามูลค่านับร้อยล้านบาทในตลาดบ้านสร้าง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ได้ยก น.ส.สุมาลี ไวยพันทา หรือน้องเปิ้ล อายุ 24 ปี ลูกสาวคนเดียวให้แก่ นายธนิต พานคำ อายุ 28 ปี โดยไม่คิดค่าสินสอดทองหมั้น หลังจากนายธนิตได้ทำตามคำมั่นและเงื่อนไขที่ข้อตกลงไว้ คือ ต้องเข้าวัดปฏิบัติธรรม กินอาหารมื้อเดียว นั่งวิปัสสนากรรมฐานเป็นเวลา 7 วัน ที่วัดคลองตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
 
นางมะปรางค์ กล่าวว่า สามีเสียชีวิตไปกว่า 3 ปี อยู่กับลูกสาวเพียงสองคน โดยลูกสาวรักชอบกับนายธนิต หนุ่มพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง และส่วนตัวก็เห็นว่า นายธนิตเป็นคนดี ขยันหมั่นเพียร ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงเข้าวัดปฏิบัติธรรม นั่งวิปัสสนากรรมฐาน กินอาหารมื้อเดียวที่วัดคลองตาลอง ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้ชักชวนลูกสาว และนายธนิต ว่าที่ลูกเขย ไปปฏิบัติธรรม นั่งกรรมฐาน กินอาหารวันละมื้อที่วัดคลองตาลอง โดยสัญญาว่า หากว่าที่ลูกเขยปฏิบัติธรรมครบ 7 วัน จะยกลูกสาวให้ฟรีๆ ซึ่งปรากฏว่านายธนิตสามารถปฏิบัติธรรมครบ 7 วัน ในวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา

 
"นายธนิตมาชอบลูกสาว ดิฉันเห็นว่าเขารักลูกสาวคอยดูแล ช่วยเหลือตลอด ประพฤติตัวดีมีความตั้งใจจริง จึงเอ่ยปากบอกว่า ถ้าชอบลูกสาวให้มาขอ แต่จะไม่เรียกค่าสินสอดทองหมั้น ไม่เรียกค่าน้ำนมแม้แต่บาทเดียว เพียงแต่ขอให้นายธนิตเข้าวัดปฏิบัติธรรมที่วัดคลองตาลองเป็นเวลา 7 วัน เพื่อศึกษาคำสั่งสอนการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เพราะคำสั่งสอนของพระธรรมวินัยมีคุณค่าสูงส่งมากกว่ามูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด เงินนับร้อยล้านพ้นล้านยังสู้คำสั่งสอนพระธรรมวินัยไม่ได้ และเขาทำได้จริงๆ ดิฉันจึงได้กำหนดวันแต่งงานในวันที่ 21 เมษายนนี้นางมะปรางค์ กล่าว
    
ด้าน นายธนิต กล่าวว่า ดีใจมากที่สุดในชีวิตที่ทำความสำเร็จตามตั้งใจ ขอขอบพระคุณนางมะปรางค์ที่ยกลูกสาวให้ และทำให้ได้พบกับพระธรรมที่สูงส่ง ทำให้รู้ค่าชีวิตของคนมากขึ้น
    
ขณะที่ น.ส.สุมาลี กล่าวว่า เชื่อมั่นในตัวแฟนหนุ่มว่าต้องปฏิบัติธรรมได้แน่นอน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาอยู่กันด้วยความรักความเข้าใจ ทั้งนี้ขอสัญญาว่า ทั้งคู่จะสืบสานงานธุรกิจของแม่ให้เจริญต่อไป เพื่อให้แม่ได้พักผ่อน หายเหนื่อยบ้าง
 
 
 
ที่มา : คมชัดลึก
16 มีนาคม 2555
 

วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประมวลภาพพับลิค อ.สุมาลี พระอาจารย์ระพิน พระครูพิพิธปริยัติกิจ (ชยันต์) ๒




















ประมวลภาพพับลิค อ. สุมาลี พระอาจารย์ระพิน พระครูพิพิธปรยัติกิจ (ชยันต์ ) ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๕
















ประมวลภาพขั้นตอนการสร้างพระพุทธตรีโลกนาถ ถิรโรจน์กุลวิลาสสง่าชาติอุปถัมภ์



































รูปภาพ ขั้นตอนการปั้นองค์พระ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากโยมเปี๊ยก เถ้าแก่ใหญ่ เจ้าของโรงหล่อ ให้มาเพื่อดูประกอบ จะได้เก็บไว้เป็นที่ระลึก ส่วนมากงานที่โรงหล่อนี้ทำจะเป็นงานสั่งทำเกือบทั้งหมด ไม่มีทำไว้เพื่อส่งจำหน่ายตามห้างร้าน (คือทำพิมพ์เดียวขายได้ตลอดชีวิต อย่างนั้นไม่มี)  และส่วนมากจะเป็นงานระดับชาติ เพราะเจ้าภาพเชื่อฝีมือของช่างที่นี่  เจ้าของโรงหล่อบอกว่า ถึงจะเหนื่อยและมีกำไรน้อย  แต่ก็ภาคภูมิใจ ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นมรดกทางพุทธศิลป์  ช่างที่นี่ก็อยู่ด้วยใจรัก  เพราะถ้าไม่รักงานนี้จริง ๆ ก็อยู่ไม่ได้ เนื่องจากเวลาเลิกงานไม่ค่อยแน่นอนตายตัว  ขึ้นอยู่กับว่า งานเร่งด่วน มากน้อยแค่ไหน  บางครั้งก็ไปต่างจังหวัด เพราะส่วนมากจะเป็นการเททองนอกสถานที่ส่วนมากจะเป็นที่ต่างจังหวัดเกือบทั้งหมด เทแล้วก็ขนย้ายกลับมาตกแต่งที่โรงงานอีก แล้วก็อัญเชิญไปประดิษฐาน เป็นการถาวรอีกครั้งหนึ่งจึงถือว่าเสร็จสิ้น กระบวนการ