วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปริหานิสูตร ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุเสื่อม



 ธรรมจากพระสูตร
นำเสนอ 

ปริหานิสูตร 
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุเสื่อม
พระสูตรนี้เป็นคำกล่าวของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ท่านนำเอาพระดำรัสของพระพุทธเจ้ามาแสดงแก่พวกภิกษุ ใจความย่อว่า 

คนใดคนหนึ่ง จะเป็นบรรพชิตก็ตาม ฆราวาสก็ตาม (ในพระสูตรท่านว่าภิกษุณี  แต่ธรรมเหล่านี้ใช้ได้กับคนทุกกลุ่มทุกประเภท และทุกเพศทุกวัย จึงใช้คำว่า ฆราวาส แทน เพื่อให้ฆราวาสได้นำไปปฏิบัติด้วย) ถ้าเป็นคนมีราคะจัด มีโทสะจัด มีโมหะจัด และมีปัญญาทราม (มีปัญญาแบบ เฉโก ขี้โกง) จะพบกับความเสื่อม  แต่ถ้าใครพยายามทำให้ ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง และพัฒนาปัญญาให้ถูกต้องเที่ยงตรง จะพบกับความเจริญรุ่งเรือง 

พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่๒๑ ข้อ ๑๕๘ หน้า ๑๔๐ ชื่อนิกายว่า อังคุตตรนิกาย  จตุกกนิบาต


๘. ปริหานิสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุเสื่อม
[๑๕๘] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการอยู่ในตน พึงแน่ใจได้เลยว่า จะเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมี ธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความเสื่อม
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีราคะหนา
๒. ความเป็นผู้มีโทสะหนา
๓. ความเป็นผู้มีโมหะหนา
๔. ไม่มีปัญญาจักษุ๑ในเรื่องที่ควรและไม่ควรอันลึกซึ้ง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการนี้อยู่ในตน พึงแน่ใจได้ว่า จะเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมี
ธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความเสื่อม
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการอยู่ในตน พึงแน่ใจได้ว่า จะไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมีธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่มีความเสื่อม
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีราคะเบาบาง
๒. ความเป็นผู้มีโทสะเบาบาง
๓. ความเป็นผู้มีโมหะเบาบาง
๔. มีปัญญาจักษุในเรื่องที่ควรและไม่ควรอันลึกซึ้ง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการนี้อยู่ในตน พึงแน่ใจได้ว่า ไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมีธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่มีความเสื่อม
ปริหานิสูตรที่ ๘ จบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น