วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประมวลภาพพายายราตรี และโยมทักษภร (น้ำ) สง่าชาติ ไปไหว้พระทันตธาตุของพระกัสสปพุทธเจ้า















บรรยากาศภายในเต๊นท์ จะมีพระภิกษุชาวภูฐาน มานั่งอยู่เป็นประจำเพื่อปลุกเศกเมล็ดข้าวสารให้แก่พุทธศาสนิกชนที่บูชาแผ่นภาพพระทันตธาตุ เพื่อนำไปสักการะบูชาต่อไป 
การได้มีโอกาสได้กราบไหว้ พระทันตธาตุของพระกัสสปพุทธเจ้า ถือว่าเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง เพราะผู้เขียนเองก็ไม่คิดว่า พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จะเหลืออยู่ในโลกนี้ เพราะกาลเวลาผ่านไปนานมากแล้ว 
มีคำถามมากมายเกิดขึ้นในจิตใจ เช่น เป็นพระทันตธาตุของพระองค์จริงหรือ ถ้าเป็นจริง แล้วอยู่ได้อย่างไร ด้วยเวลาอันยาวนานขนาดนี้  
เพราะ เฉพาะพระชนมายุของพระองค์ก็ ๒๐,๐๐๐ ปี (สองหมื่นปี) แล้ว ตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท บอกว่า ช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากพระพุทธเจ้านั้นก็นานเป็นอสงไขย และที่สำคัญตามคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) บอกว่า จะมีอายุถึง ๕,๐๐๐ ปี (ห้าพันปี) เมื่อเหลืออยู่ ๗ วัน จะครบ ห้าพันปี  พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ที่ต่าง ๆ ในโลกนี้จะมารวมกันอยู่ที่ต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้  จากนั้นพระบรมสารีริกธาตุเหล่านั้นจะเนรมิตรรูปเป็นพระพุทธเจ้า ประทับนั่งแสดงธรรมตลอด ๗ วัน ๗ คืน ในวันที่ ๗ จะเกิดเตโชธาตุลุกขึ้นเผาพระพุทธนิมิตรนั้นจนหมดสิ้น เป็นอันหมดระยะกาลแห่งศาสนาของพระพุทธเจ้า โคดม 
จากนั้นรอไปอีกไม่รู้กี่อสงไขย กี่กัปป์ พระศรีอริยเมตไตย์จึงจะเสด็จลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ ของภัททกัปนี้ 
(การตั้งข้อสงสัยอย่างนี้ไม่บาปเพราะไม่ใช่การลบหลู่  พระพุทธเจ้าเคยสอนให้พระสาวกให้พิสูจน์ก่อน ก่อนที่จะเชื่อว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นความจริง เมื่อมีพระสาวกตั้งข้อสังเกตอย่างนี้พระองค์กลับยกย่องอีกว่า สาวกของพระองค์มีปัญญา สมกับเป็นสาวกของพระองค์  เรื่องอย่างนี้มีปรากฏอยู่ในอรรถกถาธรรมบท เรื่องพระสารีบุตร ไม่เชื่อคำที่พระองค์ตรัสจนกว่าจะได้พิสูจน์ว่า เป็นจริง พระพุทธองค์ ให้สาธุการแก่พระเถระ ว่า ดีแล้ว ที่กล่าวอย่างนั้น) 



หลังจากไหว้พระทันตธาตุ ของพระกัสสปพุทธเจ้า ที่สนามหลวงแล้ว ก็พายายไปไหว้พระแก้วมรกต ที่วัดพระแก้ว  แต่ไม่ได้ถ่ายภาพภายในพระอุโบสถ  เพราะเจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้ถ่าย  ขนาดยืนเฝ้าคอยชี้ป้ายห้ามถ่ายภาพอยู่  แต่ยังมีชาวต่างประเทศที่ทำทีไม่รู้แอบถ่ายเหมือนกัน  เจ้าหน้าที่ต้องคอยเอามือเคาะป้ายแรง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สติ 

บรรยากาศภายในพระอุโบสถ เจ้าหน้าที่จะจัดให้พระเป็นส่วนเฉพาะ  จึงทำให้มีสถานที่นั่งสมาธิ อย่างสนิทใจไม่ต้องกังวลว่าจะขวางทางคนอื่น หลังจากไหว้พระแก้ว แล้วก็ท่องบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ตามทำเนียม จบแล้วก็นั่งสมาธิ ต่อด้วยการเจริญเมตตาภาวนา เพื่อเพิ่มบุญ ตามพระพุทธพจน์ใน โอกขาสูตร ว่า  การเจริญเมตตาภาวนา เพียงชั่วเวลารีดน้ำนมโคหนึ่งหยด  มีอานิสงส์มากกว่า การให้ทาน ๑๐๐ หม้อ 





เมื่อ ออกจากวัดพระแก้วแล้ว วัดที่จะขาดไม่ได้คือ วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งอยู่ติดกัน พระพุทธรูปที่นักท่องเที่ยวไปไหว้ที่วัดนี้ คือพระพุทธไสยาส ที่ยาวใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของประเทศ ตามคัมภีร์เล่าว่า พระพุทธไสยาส เป็นปรางโปรด อสุรินทราหู คืออสุรินทราหู เป็นยักษ์ ธรรมดายักษ์มีร่างกายใหญ่โตมาก อสุรินทราหู จึงมีความวิตกกังวลว่า ตัวเองมีตัวสูงใหญ่ เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วเกรงว่า ตัวเองจะสูงกว่าพระพุทธเจ้า จะทำให้พระพุทธเจ้าต้องแหงนมอง  จะเป็นบาปแก่ตัวเอง  แต่เมื่อได้ตั้งใจจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่เปลี่ยนใจ  พระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตของเขา จึงเนรมิตรพระองค์อยู่ในท่าสีหไสยาส มีพระสรีระ ใหญ่ยาว และสูงมาก จนอสุรินทราหู  ต้องยืนแหงนหน้ามองพระองค์ 
ด้วยเหตุที่พระองค์แสดงปาฏิหาริย์นี้ พระพุทธไสยาส จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธศาสนิกชน ตลอดมา (ดูประวัติเพิ่มเติมด้านล่าง)

ประวัติพระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ (พระนอนวัดโพธิ์) วัดโพธิ์พระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ หรือเรียกกันว่า พระนอนวัดโพธิ์ ประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่เรียกกันว่าวัดโพธิ์
ซึ่งตั้งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวังด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพระนอนที่มีขนาดยาวเป็นอันดับสามของประเทศไทย คือยาวถึงสองเส้นสามวา, รองลงมาจากพระนอนจักรสีห์ (ยาวสามเส้น สามวา สองศอก หนึ่งคืบ เจ็ดนิ้ว) และพระนอนวัดขุนอินทประมูล (ยาวสองเส้นห้าวา)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพลฯ ทั้งวัด องค์พระก่อด้วยอิฐคือปูน ลงรักปิดทองทั้งองค์





((พระพุทธรูปในภาพนี้เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดโพธิ์)










สุดท้ายก่อนกลับวัดและบ้าน โยมน้ำนิมนต์ไปฉันคาลาเมลร้อนและเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่ร้านอาหาร S & P ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้ภาพวิวฝั่งตรงข้ามสวย ๆ มาฝาก ด้านซ้ายเป็นวัดระฆังโฆสิตาราม  ด้านขวา เป็นตึกโรงพยาบาลศิริราช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น