วัดดอนทองวราราม บ้านดอนหัน-ดงไทรทอง ตำบลโพนงาม อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ Watdontong Bandonhan Phon-ngarm Subdistrict Kamalasai District Kalasin Province
รายการบล็อกของฉัน
วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554
โอกขาสูตร ว่าด้วยการให้ทานและการเจริญเมตตาภาวนา
ปีใหม่แล้ว อยากให้ชาวไทยและชาวพุทธมีเมตตาต่อกันมาก ๆ เพราะอานิสงส์ของเมตตาก็มีมากเหมือนกัน ในพระสูตรที่จะนำเสนอต่อไปนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า การเจริญเมตตาภาวนา ต่อกันและกัน หรือต่อสรรพสัตว์ในโลกนี้ชั่วเวลาเพียงหยดน้ำนมโค มีอานิสงส์มากกว่าการถวายทาน ๑๐๐ หม้อ (ใหญ่)
ดังนั้น ถ้าอยากได้บุญมาก ๆ ก็อย่าลืมแผ่เมตตาทุกวัน บิดามารดา แผ่เมตตาให้ลูก ๆ สามี ภรรยา แผ่เมตตาให้กันและกัน ครู อาจารย์แผ่เมตตาให้ลูกศิษย์ ลูก หลาน แผ่เมตตาให้ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ถ้าครอบครัวใดทำได้อย่างนี้ ครอบครัวนั้นจะมีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ปราศจาก ความทุกข์ ความยากจน ตลอดไป
พระสูตรนี้ชื่อว่า โอกขาสูตร ว่าด้วยการให้ทาน เคยนำเสนอครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อเดือน กันยายน ๒๕๕๔ ผู้ต้องการทราบที่มาของพระสูตร กรุณาดูในที่นั้นเถิด.
๔. โอกขาสูตร ว่าด้วยการให้ทาน
[๒๒๖] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ...
ภิกษุ ทั้งหลาย บุคคลใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเช้า บุคคลใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเที่ยง บุคคลใดพึงให้ทาน ประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเย็น บุคคลใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเช้าอย่างน้อย เพียงขณะการหยดน้ำนมโค[1] บุคคลใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเที่ยงอย่างน้อยเพียง ขณะการหยดน้ำนมโค หรือบุคคลใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเย็นอย่างน้อยเพียงขณะการหยดน้ำนมโค การเจริญเมตตาจิตนี้มีผลมากกว่าทานที่บุคคลให้แล้ว ๓ ครั้ง ในวันหนึ่งนั้น
ภิกษุ ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญเมตตาเจโตวิมุตติ จักทำให้มาก ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ทำให้ตั้งมั่น สั่งสม ปรารภดี เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้
โอกขาสูตรที่ ๔ จบ
ปริหานิสูตร ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุเสื่อม
ธรรมจากพระสูตร
นำเสนอ
ปริหานิสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุเสื่อม
พระสูตรนี้เป็นคำกล่าวของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ท่านนำเอาพระดำรัสของพระพุทธเจ้ามาแสดงแก่พวกภิกษุ ใจความย่อว่า
คนใดคนหนึ่ง จะเป็นบรรพชิตก็ตาม ฆราวาสก็ตาม (ในพระสูตรท่านว่าภิกษุณี แต่ธรรมเหล่านี้ใช้ได้กับคนทุกกลุ่มทุกประเภท และทุกเพศทุกวัย จึงใช้คำว่า ฆราวาส แทน เพื่อให้ฆราวาสได้นำไปปฏิบัติด้วย) ถ้าเป็นคนมีราคะจัด มีโทสะจัด มีโมหะจัด และมีปัญญาทราม (มีปัญญาแบบ เฉโก ขี้โกง) จะพบกับความเสื่อม แต่ถ้าใครพยายามทำให้ ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง และพัฒนาปัญญาให้ถูกต้องเที่ยงตรง จะพบกับความเจริญรุ่งเรือง
พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่๒๑ ข้อ ๑๕๘ หน้า ๑๔๐ ชื่อนิกายว่า อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
๘. ปริหานิสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุเสื่อม
[๑๕๘] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการอยู่ในตน พึงแน่ใจได้เลยว่า จะเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมี ธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความเสื่อม
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีราคะหนา
๒. ความเป็นผู้มีโทสะหนา
๓. ความเป็นผู้มีโมหะหนา
๔. ไม่มีปัญญาจักษุ๑ในเรื่องที่ควรและไม่ควรอันลึกซึ้ง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการนี้อยู่ในตน พึงแน่ใจได้ว่า จะเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมี
ธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความเสื่อม
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการอยู่ในตน พึงแน่ใจได้ว่า จะไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมีธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่มีความเสื่อม
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้มีราคะเบาบาง
๒. ความเป็นผู้มีโทสะเบาบาง
๓. ความเป็นผู้มีโมหะเบาบาง
๔. มีปัญญาจักษุในเรื่องที่ควรและไม่ควรอันลึกซึ้ง
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการนี้อยู่ในตน พึงแน่ใจได้ว่า ไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะการมีธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่มีความเสื่อม
ปริหานิสูตรที่ ๘ จบ
โรคสูตร ว่าด้วยโรค (ของภิกษุ)
ธรรมจากพระสูตร
วันนี้นำเอา โรคสูตร มาเสนอ ใจความย่อของพระสูตรว่า
คนเราเกิดมาจะมีโรคติดตัวมา ๒ อย่าง คือ โรคทางกาย และโรคทางใจ โรคทางกายนั้นพอมีระยะเวลาว่างเว้นอยู่บ้าง แต่ในที่สุดก็ต้องเจอ ส่วนโรคทางใจนั้น ไม่มีเวลาว่างเว้นเลย ทุกคนจะเป็นโรคทางใจอยู่ตลอดเวลา เพราะทุกคนมีเชื้อโรคอยู่ในตัวเป็นประจำ เชื้อโรคนั้น คือ ราคะ (สำหรับบรรพชิต) หรือ โลภะ (สำหรับฆราวาส) โทสะ และโมหะ โรคทั้ง ๓ นี้ติดตัวอยู่ตลอดเวลา นี้คือเนื้อความท่อนแรกของพระสูตร
ส่วนเนื้อความท่อนต่อมา พระพุทธองค์เน้นไปที่บรรพชิตหรือภิกษุโดยเฉพาะ พระองค์ตรัสว่า โรคของบรรพชิตมี ๔ อย่าง คือ
๑. ไม่พอใจในสิ่งที่มี ไม่ยินดีในสิ่งที่ได้
๒. เมื่อไม่พอใจในสิ่งที่มี ไม่ยินดีในสิ่งที่ได้ ก็ตั้งความปรารถนาชั่ว เพื่อ
จะได้ในสิ่งที่อยากได้
๓. เมื่อตั้งความปรารถนาชั่วแล้วก็วิ่งเต้น ขวนขวายหา เพื่อให้คนรู้จัก
๔. เมื่อขวนขวายหา เพื่อให้คนรู้จักตนเอง ก็เข้าหาตระกูลต่าง ๆ
พระองค์ตรัสพระสูตรนี้ก็เพื่อเตือนสติพระสาวกทั้งหลาย ไม่ให้ประพฤติอย่างนี้ จะทำให้ญาติโยมเสื่อมศรัทธา จะเป็นเหตุให้อายุพระพุทธศาสนาสั้นลงกว่ากาลอันสมควร
พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ ข้อ ๑๕๗ หน้า ๑๓๙
อ่านเนื่้อความเต็มของพระสูตรด้านล่างนี้
๗. โรคสูตร
ว่าด้วยโรค
[๑๕๗] ภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้
โรค ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑.โรคทางกาย ๒.โรคทางใจ
สัตว์ผู้อ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางกายตลอดระยะเวลา ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง ๓ ปี บ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง แม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีบ้าง ยังพอมีอยู่ แต่สัตว์ผู้จะกล่าวอ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางใจ ตลอดระยะเวลาแม้ครู่เดียว หาได้โดยยาก ยกเว้นท่านผู้หมดกิเลสแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้
โรค ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑.ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นคนมักมาก คับแค้น ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้
๒. เธอเมื่อมักมาก คับแค้น ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ ย่อมตั้งความปรารถนา ชั่วเพื่อไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่น เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง
๓. เธอวิ่งเต้น ขวนขวาย พยายามเพื่อไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่น เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง
๔. เธอเข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย นั่งกล่าวธรรม กลั้นอุจจาระและปัสสาวะเพื่อให้เขานับถือ
ภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้แล
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายในธรรมวินัยนี้พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราจักไม่เป็นคนมักมาก ไม่เป็นคนมีจิตคับแค้น ไม่เป็นคนไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ เราจักไม่ตั้งความปรารถนาชั่ว เพื่อให้คนอื่นรู้จัก เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง เราจักไม่วิ่งเต้น ไม่ขวนขวาย ไม่พยายามเพื่อให้คนอื่นรู้จัก เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง เราจักอดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิวกระหาย ต่อการถูกเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายรบกวน ต่อถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆ จักเป็นผู้อดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิต”
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
โรคสูตรที่ ๗ จบ
วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2554
ตโมตมสูตร ว่าด้วยผู้มืดมาและมืดไป
ตโมตมสูตร ว่าด้วยผู้มืดมาและมืดไป
ความย่อในพระสูตรนี้ คือ คน ๔ จำพวก ที่มีคติต่างกันเพราะความประพฤติ เรียงตามลำดับดังนี้
๑. ผู้ที่มืดมาและมืดไป หมายถึง บุคคลที่เกิดมาในตระกูลต่ำ มีสติปัญญาน้อย มีบุญวาสนาน้อย แต่ก็ไม่ได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม
๒. ผู้มืดมาแต่สว่างไป หมายถึง บุคคลที่เกิดมาในตระกูลต่ำ และมีปัญญาน้อย แต่ขวนขวายพัฒนาตัวเอง อยู่ตลอดเวลา ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท
๓. ผู้สว่างมาแต่มืดไป หมายถึง บุคคลที่เกิดมาในตระกูลสูง มีสติปัญญาดี แต่ไม่พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น กลับประพฤติในทางที่เสื่อม จึงทำตนเองให้ลำบาก
๔. ผู้สว่างมาและสว่างไป หมายถึง บุคคลที่เกิดมาในตระกูลสูง มีสติปัญญาดี และพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม
พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อที่ ๘๕ หน้า ๘๐
(อ่านเนื้อความพิสดารของพระสูตร ด้านล่าง)
๕. ตโมตมสูตร
ว่าด้วยผู้มืดมาและมืดไป
[๘๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มืดมาและมืดไป๒. บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป
๓. บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป๔. บุคคลผู้สว่างมาและสว่างไป
บุคคลผู้มืดมาและมืดไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูลช่างสาน ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนเทขยะ เป็นตระกูลยากจน มีข้าว น้ำและสิ่งของเครื่องใช้น้อย เป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หาของกินและเครื่องนุ่งห่มได้ยาก และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มีความเจ็บป่วยมาก ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป และเขายังประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลผู้มืดมาและมืดไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูลช่างสาน ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนเทขยะ เป็นตระกูลยากจน มีข้าว น้ำและสิ่งของเครื่องใช้น้อย เป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หาของกินและเครื่องนุ่งห่มได้ยาก และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มีความเจ็บป่วยมาก ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แต่เขาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูล พราหมณมหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล๑ เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก
มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติ มากมาย และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แต่เขาประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้สว่างมาและสว่างไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูล พราหมณมหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มี โภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติ มากมาย และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป และเขาก็ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์ บุคคลผู้สว่างมาและสว่างไป เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ตโมตมสูตรที่ ๕ จบ
โกธเปยยาล ว่าด้วยเหตุให้มีความสุขและความทุกข์
ธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องตรวจสอบตัวเองได้ดีมาก เราจะรู้ว่า เราเป็นคนเช่นไร ให้ตรวจดู แล้วจะได้แก้ไขปรับปรุงตัวเองถูก เมื่อปรับปรุงตัวเองถูกแล้ว ชีวิต จะเจริญรุ่งเรืองไม่มีเสื่อม
ธรรมเหล่านี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ข้อ ๑๘๑-๑๙๐, หน้า ๗๔-๗๗.
๑. โกธเปยยาล
[๑๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้
ธรรม ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. โกธะ (ความโกรธ) ๒. อุปนาหะ (ความผูกโกรธ) ...
๑. มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน) ๒. ปฬาสะ (ความตีเสมอ) ...
๑. อิสสา (ความริษยา ๒. มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ...
๑. มายา (มารยา) ๒. สาเถยยะ (ความโอ้อวด) ...
๑. อหิริกะ (ความไม่อายบาป) ๒. อโนตตัปปะ (ความไม่กลัวบาป)
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้แล (๑-๕)
[๑๘๒] ธรรม ๒ อย่างนี้
ธรรม ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. อักโกธะ (ความไม่โกรธ) ๒. อนุปนาหะ (ความไม่ผูกโกรธ) ...
๑. อมักขะ (ความไม่ลบหลู่คุณท่าน) ๒. อปฬาสะ (ความไม่ตีเสมอ) ...
๑. อนิสสา (ความไม่ริษยา) ๒. อมัจฉริยะ (ความไม่ตระหนี่) ...
๑. อมายา (ไม่มีมารยา) ๒. อสาเถยยะ (ความไม่โอ้อวด) ..
๑. หิริ (ความอายบาป) ๒. โอตตัปปะ (ความกลัวบาป)
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้แล (๖-๑๐)
[๑๘๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒ อย่างย่อมอยู่เป็นทุกข์
ธรรม ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. โกธะ ๒. อุปนาหะ ...
๑. มักขะ ๒. ปฬาสะ ...
๑. อิสสา ๒. มัจฉริยะ ...
๑. มายา ๒. สาเถยยะ ...
๑. อหิริกะ ๒. อโนตตัปปะ ...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒ อย่างนี้แลย่อมอยู่เป็นทุกข์ (๑๑-๑๕)
[๑๘๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒ อย่างย่อมอยู่เป็นสุข
ธรรม ๒ อย่างอะไรบ้าง คือ
๑. อักโกธะ ๒. อนุปนาหะ ...
๑. อมักขะ ๒. อปฬาสะ ...
๑. อนิสสา ๒. อมัจฉริยะ ...
๑. อมายา ๒. อสาเถยยะ ...
๑. หิริ ๒. โอตตัปปะ ...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒ อย่างนี้แลย่อมอยู่เป็นสุข (๑๖-๒๐)
[๑๘๕] ธรรม ๒ อย่างนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมของภิกษุผู้ยังเป็นเสขะ
ธรรม ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. โกธะ ๒. อุปนาหะ ...
๑. มักขะ ๒. ปฬาสะ ...
๑. อิสสา ๒. มัจฉริยะ ...
๑. มายา ๒. สาเถยยะ ...
๑. อหิริกะ ๒. อโนตตัปปะ ...
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมของภิกษุผู้ยังเป็น
เสขะ (๒๑-๒๕)
[๑๘๖] ธรรม ๒ อย่างนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของภิกษุผู้ยังเป็นเสขะ
ธรรม ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. อักโกธะ ๒. อนุปนาหะ ...
๑. อมักขะ ๒. อปฬาสะ ...
๑. อนิสสา ๒. อมัจฉริยะ ...
๑. อมายา ๒. อสาเถยยะ ...
๑. หิริ ๒. โอตตัปปะ ...
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของภิกษุผู้ยัง เป็นเสขะ (๒๖-๓๐)
[๑๘๗] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒ อย่างย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. โกธะ ๒. อุปนาหะ ...
๑. มักขะ ๒. ปฬาสะ ...
๑. อิสสา ๒. มัจฉริยะ ...
๑. มายา ๒. สาเถยยะ ...
๑. อหิริกะ ๒. อโนตตัปปะ ...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒ อย่างนี้แลย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้ (๓๑-๓๕)
[๑๘๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒ อย่างย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. อักโกธะ ๒. อนุปนาหะ ...
๑. อมักขะ ๒. อปฬาสะ ...
๑. อนิสสา ๒. อมัจฉริยะ ...
๑. อมายา ๒. อสาเถยยะ ...
๑. หิริ ๒. โอตตัปปะ ...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒ อย่างนี้แลย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ (๓๖-๔๐)
[๑๘๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยธรรม ๒ อย่าง
หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ธรรม ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. โกธะ ๒. อุปนาหะ ...
๑. มักขะ ๒. ปฬาสะ ...
๑. อิสสา ๒. มัจฉริยะ ...
๑. มายา ๒. สาเถยยะ ...
๑. อหิริกะ ๒. อโนตตัปปะ ...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก (๔๑-๔๕)
[๑๙๐] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยธรรม ๒ อย่าง หลัง จากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ธรรม ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. อักโกธะ ๒. อนุปนาหะ ...
๑. อมักขะ ๒. อปฬาสะ ...
๑. อนิสสา ๒. อมัจฉริยะ ...
๑. อมายา ๒. อสาเถยยะ ...
๑. หิริ ๒. โอตตัปปะ ...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยธรรม ๒ อย่างนี้แล หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ (๔๖-๕๐)
โกธเปยยาล จบ
วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554
ภาพมหาจุฬาฯ ก่อนน้ำท่วม และตอนน้ำท่วม ปี ๒๕๕๔
อาคารที่เห็นสองหลัง ด้านซ้ายมือเป็นอาคารสำนักงานอธิการบดี เจดีย์ตรงกลางเป็นหอพระไตรปิฎก และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และรูปเหมือน ร. ๕ องค์สถาปนา มหาจุฬาฯ อาคารด้านขวามือเป็นหอสมุดกลาง
ภาพสามเณรจากโรงเรียนจิตรลดา บวชถวายเป็นราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา (ภาพก่อนที่น้ำจะท่วม หลังจากน้ำท่วมคณะสามเณรก็กลับไปอบรมต่อที่โรงเรียนจิตรลดา)
ภาพ ขณะน้ำเข้าท่วมวันที่สอง คือวันที่ ๑๒ ต.ค. ๕๔ หลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จกลับจากการมาเยี่ยมศูนย์ผู้ประสบภัย เมื่อวันที่ ๑๑ ต.ค. น้ำก็เริ่มไหลบ่าเข้ามาอย่างแรง
ภาพปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ
ประมวลภาพคุณยายราตรี พร้อมด้วยลูกสาวลูกเขยและหลาน ๆ ร่วมกันทำบุญเลี้ยงพระนิสิตปฏิบัติธรรมที่ มจร. วังน้อย
ป้ายโครงการปฏิบัติธรรมของพระนิสิต ปีนี้จัดปฏิบัติรวมกันที่นี่ทุกคณะ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาส พระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา
หลังจากรับพรเสร็จ ขออนุญาตถ่ายรูปกับ พระอาจารย์เจ้าคุณ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดี ของ มจร. เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส และกรรมการมหาเถรสมาคม (๒๘ ธ.ค. ๕๔ วันสุดท้ายของโครงการ)
ยายราตรี กับโยมน้ำ จัดเตรียมแบรนด์ เอาไว้ถวายพระอาจารย์เจ้าหน้าที่ และพระวิปัสสนาจารย์ จำนวน ๑๐๘ ขวด
ภาพนิสิตกำลังเดิมมารับอาหารบิณฑบาต ที่หอฉัน (ตอนเพล) ตั้งขบวนเดินมาจากหอประชุม วมก. ๔๘ พรรษา (ถ่ายจากมุมสูงของอาคาร ๙๒ ปัญญานันทะ)
วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554
วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554
ประมวลภาพคณะญาติธรรม สายบุญ ร่วมกันทำบุญเลี้ยงพระนิสิตปฏิบัติธรรมที่ มจร. วังน้อย
คุณสมชาย (คนที่สองจากซ้ายมือ) คุณสิริพร (คนกำลังโทรศัพท์) หอมบุญมี เจ้าของกิจการสมชายสปริง และคณะ ประกอบด้วยคุณประยูร คุณจวน (คนเสื้อขาวลายดอกไม้) เจ้าของกิจการโรงกลึง พร้อมด้วยลูกหลาน ไปร่วมเป็นเจ้าภาพถวายปัจจัยเป็นค่าภัตตาหารแก่พระนิสิต ที่ มจร. วังน้อย เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ ธ.ค. ๕๔ ที่ผ่านมา
ภาพยายราตรี กับลูกสาว ลูกเขย หลานชาย และหลานสาว ประกอบ นายชูชนม์ (น้องแชมป์) นางสาวกัญญาภรณ์ (น้องเบ๊นซ์ ที่เพิ่งกลับมาจากอเมริกา น้องเขาไปเรียนการออกแบบ ที่วิทยาลัย พาสัน ที่มีชื่อเสียงที่สุดในนิวยอร์ค และค่าเรียนก็สุดยอดเหมือนกัน แต่คุณแม่น้ำบอกว่า สู้ไหว เพื่อลูกสาวคนโปรด) และนายปาลพงศ์ (น้องแบ๊งก์) พากันไปร่วมเป็นเจ้าภาพถวายปัจจัยค่าภัตตาหารติดต่อกัน ๓ วัน คือ วันที่ ๒๕, ๒๖, ๒๗ วันละ ๕,๐๐๐ บาท ขออนุโมทนาบุญกับคุณยายและลูก ๆ หลาน ๆ ด้วย
ภาพพระนิสิตกำลังรับภัตตาหาร ที่ชั้นล่างแล้วขึ้นไปฉันบนชั้น ๓
ภาพสุดท้าย น้องนัต (ลูกชายคนโต ของสมชาย) กับน้องแฝด ทั้งสองมาร่วมถ่ายรูปด้วย มาครั้งนี้ต้องเข้าไปบอกให้เสียงเบา ๆ เพราะคนเยอะ ครั้งก่อนตอนเข้าพรรษาพากันมาร่วมเป็นเจ้าภาพครั้งหนึ่งแล้ว
วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554
ประมวลภาพพายายราตรี และโยมทักษภร (น้ำ) สง่าชาติ ไปไหว้พระทันตธาตุของพระกัสสปพุทธเจ้า
บรรยากาศภายในเต๊นท์ จะมีพระภิกษุชาวภูฐาน มานั่งอยู่เป็นประจำเพื่อปลุกเศกเมล็ดข้าวสารให้แก่พุทธศาสนิกชนที่บูชาแผ่นภาพพระทันตธาตุ เพื่อนำไปสักการะบูชาต่อไป
การได้มีโอกาสได้กราบไหว้ พระทันตธาตุของพระกัสสปพุทธเจ้า ถือว่าเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง เพราะผู้เขียนเองก็ไม่คิดว่า พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จะเหลืออยู่ในโลกนี้ เพราะกาลเวลาผ่านไปนานมากแล้ว
มีคำถามมากมายเกิดขึ้นในจิตใจ เช่น เป็นพระทันตธาตุของพระองค์จริงหรือ ถ้าเป็นจริง แล้วอยู่ได้อย่างไร ด้วยเวลาอันยาวนานขนาดนี้
เพราะ เฉพาะพระชนมายุของพระองค์ก็ ๒๐,๐๐๐ ปี (สองหมื่นปี) แล้ว ตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท บอกว่า ช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากพระพุทธเจ้านั้นก็นานเป็นอสงไขย และที่สำคัญตามคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) บอกว่า จะมีอายุถึง ๕,๐๐๐ ปี (ห้าพันปี) เมื่อเหลืออยู่ ๗ วัน จะครบ ห้าพันปี พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ที่ต่าง ๆ ในโลกนี้จะมารวมกันอยู่ที่ต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้ จากนั้นพระบรมสารีริกธาตุเหล่านั้นจะเนรมิตรรูปเป็นพระพุทธเจ้า ประทับนั่งแสดงธรรมตลอด ๗ วัน ๗ คืน ในวันที่ ๗ จะเกิดเตโชธาตุลุกขึ้นเผาพระพุทธนิมิตรนั้นจนหมดสิ้น เป็นอันหมดระยะกาลแห่งศาสนาของพระพุทธเจ้า โคดม
จากนั้นรอไปอีกไม่รู้กี่อสงไขย กี่กัปป์ พระศรีอริยเมตไตย์จึงจะเสด็จลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ ของภัททกัปนี้
(การตั้งข้อสงสัยอย่างนี้ไม่บาปเพราะไม่ใช่การลบหลู่ พระพุทธเจ้าเคยสอนให้พระสาวกให้พิสูจน์ก่อน ก่อนที่จะเชื่อว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นความจริง เมื่อมีพระสาวกตั้งข้อสังเกตอย่างนี้พระองค์กลับยกย่องอีกว่า สาวกของพระองค์มีปัญญา สมกับเป็นสาวกของพระองค์ เรื่องอย่างนี้มีปรากฏอยู่ในอรรถกถาธรรมบท เรื่องพระสารีบุตร ไม่เชื่อคำที่พระองค์ตรัสจนกว่าจะได้พิสูจน์ว่า เป็นจริง พระพุทธองค์ ให้สาธุการแก่พระเถระ ว่า ดีแล้ว ที่กล่าวอย่างนั้น)
หลังจากไหว้พระทันตธาตุ ของพระกัสสปพุทธเจ้า ที่สนามหลวงแล้ว ก็พายายไปไหว้พระแก้วมรกต ที่วัดพระแก้ว แต่ไม่ได้ถ่ายภาพภายในพระอุโบสถ เพราะเจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้ถ่าย ขนาดยืนเฝ้าคอยชี้ป้ายห้ามถ่ายภาพอยู่ แต่ยังมีชาวต่างประเทศที่ทำทีไม่รู้แอบถ่ายเหมือนกัน เจ้าหน้าที่ต้องคอยเอามือเคาะป้ายแรง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สติ
บรรยากาศภายในพระอุโบสถ เจ้าหน้าที่จะจัดให้พระเป็นส่วนเฉพาะ จึงทำให้มีสถานที่นั่งสมาธิ อย่างสนิทใจไม่ต้องกังวลว่าจะขวางทางคนอื่น หลังจากไหว้พระแก้ว แล้วก็ท่องบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ตามทำเนียม จบแล้วก็นั่งสมาธิ ต่อด้วยการเจริญเมตตาภาวนา เพื่อเพิ่มบุญ ตามพระพุทธพจน์ใน โอกขาสูตร ว่า การเจริญเมตตาภาวนา เพียงชั่วเวลารีดน้ำนมโคหนึ่งหยด มีอานิสงส์มากกว่า การให้ทาน ๑๐๐ หม้อ
เมื่อ ออกจากวัดพระแก้วแล้ว วัดที่จะขาดไม่ได้คือ วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งอยู่ติดกัน พระพุทธรูปที่นักท่องเที่ยวไปไหว้ที่วัดนี้ คือพระพุทธไสยาส ที่ยาวใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของประเทศ ตามคัมภีร์เล่าว่า พระพุทธไสยาส เป็นปรางโปรด อสุรินทราหู คืออสุรินทราหู เป็นยักษ์ ธรรมดายักษ์มีร่างกายใหญ่โตมาก อสุรินทราหู จึงมีความวิตกกังวลว่า ตัวเองมีตัวสูงใหญ่ เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วเกรงว่า ตัวเองจะสูงกว่าพระพุทธเจ้า จะทำให้พระพุทธเจ้าต้องแหงนมอง จะเป็นบาปแก่ตัวเอง แต่เมื่อได้ตั้งใจจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่เปลี่ยนใจ พระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตของเขา จึงเนรมิตรพระองค์อยู่ในท่าสีหไสยาส มีพระสรีระ ใหญ่ยาว และสูงมาก จนอสุรินทราหู ต้องยืนแหงนหน้ามองพระองค์
ด้วยเหตุที่พระองค์แสดงปาฏิหาริย์นี้ พระพุทธไสยาส จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธศาสนิกชน ตลอดมา (ดูประวัติเพิ่มเติมด้านล่าง)
ซึ่งตั้งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวังด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพระนอนที่มีขนาดยาวเป็นอันดับสามของประเทศไทย คือยาวถึงสองเส้นสามวา, รองลงมาจากพระนอนจักรสีห์ (ยาวสามเส้น สามวา สองศอก หนึ่งคืบ เจ็ดนิ้ว) และพระนอนวัดขุนอินทประมูล (ยาวสองเส้นห้าวา)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพลฯ ทั้งวัด องค์พระก่อด้วยอิฐคือปูน ลงรักปิดทองทั้งองค์
((พระพุทธรูปในภาพนี้เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดโพธิ์)
สุดท้ายก่อนกลับวัดและบ้าน โยมน้ำนิมนต์ไปฉันคาลาเมลร้อนและเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่ร้านอาหาร S & P ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้ภาพวิวฝั่งตรงข้ามสวย ๆ มาฝาก ด้านซ้ายเป็นวัดระฆังโฆสิตาราม ด้านขวา เป็นตึกโรงพยาบาลศิริราช
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)