วันนี้ขอนำเสนอ ๒ สูตร เพราะเห็นว่า ว่างเว้นมาหลายวันแล้ว พระสูตรนี้ก็น่าสนใจ พูดถึงอานิสงส์ของการให้ทาน ใจความของพระสูตรว่า คน ๒ คน เป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งให้ทาน คนหนึ่งไม่ให้ทาน คนทั้งสองนี้ถ้าตายจากโลกนี้ไปเกิดเป็นเทวดา หรือมาเกิดเป็นมนุษย์อีก จะมีอานุภาพต่างกันอยู่ ๕ อย่าง คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตย หรืออำนาจ ความเป็นไหญ่ เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะพระนางสุมนาราชกุมารี พระราชธิดาของพระเจ้าโกศล ได้ยินเสียงเด็กทารก ๒ คน คุยกัน เกิดความสงสัยจึงเข้าไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า เรื่องกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า เด็กทารกแรกเกิด ๒ คน เคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน เคยบวชเป็นพระภิกษุด้วยกัน รูปหนึ่งชอบให้ทาน อีกรูปหนึ่งไม่ชอบให้ทาน ถึงแม้เพื่อนจะบอกอยู่บ่อยๆ ก็ไม่เชื่อ พระภิกษุ ๒ รูปนี้ มรณภาพแล้วไปเกิดเป็นเทพบุตร หมดอายุจากสวรรค์จึงมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เทพที่เคยให้ทานได้เกิดในครรภ์ของพระมเหสีของพระเจ้าโกศล เทพที่ไม่ให้ทานเกิดในครรภ์ของนางทาสีในวัง ทั้งสองเกิดวันเดียวกัน พระเจ้าโกศลจึงให้นำมานอนเคียงข้างกันเพื่อจะให้เป็นเพื่อนกัน ฝ่ายเทพที่เกิดเป็นโอรสของพระเจ้าโกศล นอนอยู่บนที่นอนอย่างดี มีฉัตรกั้นอยู่ข้างบน ส่วนเทพที่เกิดเป็นลูกนางทาสี นอนอยู่บนเตียงไม้มีผ้าหยาบๆ ปูลาด ทารกที่เป็นโอรส มองเห็นที่นอนของตนจึงคิดว่า เพื่อนเราอยู่ที่ไหนหนอ มองไปมองมาเห็นเพื่อนนอนอยู่ข้างๆ เห็นแล้วก็อดสงสารและสมเภชไม่ได้ เมื่อจะข่มเพื่อนของตนจึงพูดขึ้นว่า เห็นไหมเพื่อน เราบอกแล้วไม่เชื่อว่า ให้ให้ทาน ดูท่านกับเราซิ ต่างกันไหม ที่นอนของเราอ่อนนุ่มมีฉัตรกั้นด้วย ที่นอนของเพื่อน เป็นไม้แคร่มีผ้าหยาบๆ ปูรองไว้ เพื่อนคนนี้แทนที่จะสลดสังเวชใจกลับตอบว่า เพื่อนก็พูดมากไปได้ มันก็แค่ปฐวีธาตุเท่านั้นแหละ
พอทารกพูดคำว่า ธาตุเท่านั้น พระนางสุมนา ก็รู้ได้ทันทีว่า เด็ก ๒ คนนี้ ต้องเคยเป็นพระมาก่อนแน่ๆ เพราะคนชาวบ้านทั่วไปไม่ค่อยรู้เรื่องธาตุ พระนางไม่บอกเรื่องนี้ให้ใครทราบเกรงว่า คนจะหาว่า เด็ก ๒ คนนี้เป็นอมนุษย์มาเกิดเลยนำความไปทูลถามพระพุทธเจ้า ดังเนื้อความที่ปรากฏในพระสูตรนี้
พระสูตรนี้อยู่ในเล่มที่ ๒๒ ข้อ ๓๑ อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต
๑. สุมนสูตร
ว่าด้วยสุมนาราชกุมารี
[๓๑] สมัยหนึ่ง ฯลฯ อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น สุมนาราชกุมารีมีรถ ๕๐๐ คัน และกุมารี ๕๐๐ คนแวดล้อม เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร๒ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส สาวกของพระผู้มีพระภาค ๒ คน มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน คนหนึ่งเป็นทายก๓ คนหนึ่งไม่ใช่ทายก คนทั้งสองนั้น หลังจากตายแล้ว ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ท่านทั้งสองผู้เป็นเทวดานั้น พึงมีความพิเศษ มีเหตุแตกต่างกันหรือไม่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มี สุมนา คือเทวดาผู้เคยเป็นทายก ย่อมข่มเทวดา ผู้ไม่เคยเป็นทายกด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ
๑. อายุที่เป็นทิพย์ ๒. วรรณะที่เป็นทิพย์
๓. สุขที่เป็นทิพย์๔. ยศที่เป็นทิพย์
๕. อธิปไตยที่เป็นทิพย์
เทวดาผู้เคยเป็นทายก ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่เคยเป็นทายกด้วยฐานะ ๕ ประการนี้
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเทวดาทั้งสองนั้น จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ ท่านทั้งสองผู้เป็นมนุษย์นั้น พึงมีความพิเศษ มีเหตุแตกต่างกันหรือไม่
“มี สุมนา คือมนุษย์ผู้เคยเป็นทายก ย่อมข่มมนุษย์ผู้ไม่เคยเป็นทายกด้วย ฐานะ ๕ ประการ คือ
๑. อายุที่เป็นของมนุษย์ ๒. วรรณะที่เป็นของมนุษย์
๓. สุขที่เป็นของมนุษย์ ๔. ยศที่เป็นของมนุษย์
๕. อธิปไตยที่เป็นของมนุษย์
มนุษย์ผู้เคยเป็นทายก ย่อมข่มมนุษย์ผู้ไม่เคยเป็นทายกด้วยฐานะ ๕ ประการนี้
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าคนทั้งสองนั้นออกบวชเป็นบรรพชิต ท่านทั้งสองผู้เป็นบรรพชิตนั้น พึงมีความพิเศษ มีเหตุแตกต่างกันหรือไม่
“มี สุมนา บรรพชิตผู้เคยเป็นทายก ย่อมข่มบรรพชิตผู้ไม่เคยเป็นทายกด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ
๑. เมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยจีวรมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงใช้สอยน้อย
๒. เมื่อเขาขอร้องจึงฉันบิณฑบาตมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงฉันน้อย
๓. เมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยเสนาสนะมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงใช้สอยน้อย
๔. เมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงใช้สอยน้อย
๕. อยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจารีเหล่าใด เพื่อนพรหมจารีเหล่านั้นก็ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมเป็นที่พอใจ เป็นส่วนมาก ที่ไม่พอใจเป็นส่วนน้อย นำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก ที่ไม่พอใจเป็นส่วนน้อย
บรรพชิตผู้เคยเป็นทายก ย่อมข่มบรรพชิตผู้ไม่เคยเป็นทายกด้วยฐานะ ๕ ประการนี้
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าคนทั้งสองนั้นบรรลุอรหัตตผล ท่านทั้งสองผู้บรรลุอรหัตตผล พึงมีความพิเศษ มีเหตุแตกต่างกันหรือไม่
“สุมนา เราไม่กล่าวว่าแตกต่างกันเลยในระหว่างวิมุตติกับวิมุตติ
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ข้อนี้กำหนดได้ว่า ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่ บรรพชิต
“อย่างนั้น สุมนา ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน โคจรไปในอากาสธาตุ
ย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งสิ้นในโลกด้วยรัศมี ฉันใด
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมรุ่งเรืองกว่าผู้ตระหนี่ทั้งหมดในโลกด้วยจาคะ
เมฆที่ลอยไปตามอากาศ มีสายฟ้าแลบแปลบปลาบ
มียอดตั้งร้อย ให้ฝนตกรดแผ่นดินเต็มที่ดอนและที่ลุ่ม ฉันใด
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ
เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ด้วยเหตุ ๕ ประการ
คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และโภคทรัพย์
เขาตายไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์
สุมนสูตรที่ ๑ จบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น