วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

สังขารที่ชาวพุทธควรรู้

๑. บทนำ

คำว่า “สังขาร” ปรากฏขึ้นในพระพุทธศาสนาครั้งแรกเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งที่สอง ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งนั้นทำให้พระปัญจวัคคีย์ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ครบทั้ง ๕ ท่าน ใจความของพระธรรมเทศนาในวันนั้นพระองค์ทรงแสดงรายละเอียดของขันธ์ ๕ ซึ่งพระองค์ได้ทรงยกขึ้นแสดงไว้โดยย่อในการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก การแสดงในครั้งนี้ในเบื้องต้นพระองค์ทรงแสดงให้พระปัญจวัคคีย์รู้ว่า ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนของเราอย่างแท้จริง เพราะถ้าขันธ์เหล่านี้เป็นอัตตา คือเป็นตัวตนของเราจริง ๆ เราก็สามารถจะบังคับบัญชาให้ขันธ์เหล่านี้เป็นอย่างที่เราต้องการ แต่ความเป็นจริงเราบังคับไม่ได้ จากนั้นพระองค์ตรัสถามเพื่อให้พระปัญจวัคคีย์ตอบเป็นข้อ ๆ ต่อไปว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า ไม่เที่ยง พระองค์ตรัสถามต่อไปว่า สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า เป็นทุกข์ พระองค์ตรัสถามต่อไปว่า สิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์มีความแปรปวนเป็นธรรมดา ควรหรือไม่ที่จะยึดถือเอาว่า สิ่งนั้นเป็นของเรา หรือว่าเราเป็นสิ่งนั้น หรือว่า สิ่งนั้นเป็นตัวตนของเรา พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า ไม่ควร



การแสดงสังขารซึ่งเป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ ในครั้งนั้นพระองค์ยังไม่ได้ทรงแสดงรายละเอียดของสังขารเป็นการตรัสถึงสังขารโดยรวม จากจุดเริ่มต้นที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันในครั้งนั้น ต่อมาการเผยแผ่คำสอนของพระองค์ก็แผ่ขยายไปทั่วชมพูทวีปอย่างรวดเร็วเพราะพระองค์ได้ส่งพระอรหันตสาวกออกไปช่วยเผยแผ่ด้วย ส่วนพระองค์เองก็เสด็จจาริกไปสู่พระนคร ชนบทและคามนิคมน้อยใหญ่เพื่อเผยแผ่คำสอนเช่นเดียวกัน ในเบื้องต้นพระองค์เผยแผ่คำสอนเฉพาะในกลุ่มของบรรพชิตหรือนักบวชที่แสวงหาโมกขธรรมหรือความหลุดพ้นจากกิเลส เมื่อกาลเวลาผ่านไปนานวันเข้า นอกจากกลุ่มของบรรพชิตแล้วยังมีคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนสนใจเข้ามาฟังพระธรรมเทศนาจากพระองค์เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินชีวิตของตน ๆ เมื่อมีคนหลายระดับเข้ามาฟัง การอธิบายหลักคำสอนของพระองค์จึงเริ่มมีรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มมากขึ้นตามลำดับชั้นของผู้ฟัง การอธิบายขยายความเรื่องสังขารในรูปแบบต่าง ๆ จึงเริ่มมีมากขึ้น


ถึงแม้พระองค์ทรงแสดงสังขารในรูปแบบต่าง ๆ ต่างกาลต่างวาระกันก็จริง แต่เมื่อประมวลความหมายและประเภทของสังขารแล้วพอสรุปได้ดังนี้ คือ สังขาร หมายถึง สิ่งที่ถูกปรุงแต่งได้แก่สังขตธรรมหรือสังขตธาตุกล่าวคือสภาพที่ถูกปรุงแต่งทุกอย่างที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต สังขารประเภทนี้คือสังขารในไตรลักษณ์ ซึ่งสังขารเหล่านี้ถ้ามองอีกมุมหนึ่งนอกจากจะถูกปรุงแต่งแล้วยังปรุงแต่งสิ่งอื่นหรือปรุงแต่งกันเองอีกด้วย เช่น วิญญาณปรุงแต่งนามรูปแต่นามรูปก็ปรุงแต่งวิญญาณ สังขารอีกประเภทหนึ่งหมายถึงสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยกล่าวคือสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดี ให้ชั่ว ให้เป็นกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว สังขารประเภทนี้คือสังขารในขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังขารในไตรลักษณ์ สังขารประเภทนี้จะมีอำนาจปรุงแต่งเฉพาะสิ่งที่มีชีวิต ไม่สามารถปรุงแต่งสิ่งไม่มีชีวิตได้ สังขารอีกประเภทหนึ่งคือสังขารในปฎิจจสมุปบาทอันได้แก่เจตนา เป็นสังขารที่ทำหน้าที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยแก่ปัจจัยอื่นเกิดขึ้นในบรรดาปัจจัยสิบสองประการ กล่าวคือ สังขารในปฎิจจสมุปบาทเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดขึ้น ซึ่งสังขารก็เกิดขึ้นเพราะได้รับปัจจัยอื่นมาก่อนคืออวิชชา เมื่อว่าโดยภาพรวมสังขารในขันธ์ ๕ กับสังขารในปฏิจจสมุปบาทมีความเกี่ยวข้องเฉพาะกับสิ่งที่มีชีวิต และสังขารในปฏิจจสมุปบาทเป็นส่วนหนึ่งของสังขารในขันธ์ ๕ สรุปแล้วสังขารทั้งสองนี้ยังตกอยู่ภายใต้การปรุงแต่งของสังขารในไตรลักษณ์หรือเป็นส่วนหนึ่งของสังขารในไตรลักษณ์


เมื่อว่าโดยประเภทของสังขารทั้งหลายที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนพุทธบริษัทมีอยู่ ๒ ประเภทคือ สังขารทำหน้าที่ปรุงแต่งสรรพสิ่งที่ไม่มีชีวิตในจักรวาลให้เป็นตามกฎของสามัญลักษณะ ๓ ประการ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งที่ถูกปัจจัยภายนอก กล่าวคือ แดด ลม ฝน เป็นต้นปรุงแต่งก็ดี ทั้งปัจจัยภายในกล่าวคือ เนื้อสารหรือคุณภาพภายในของสรรพสิ่งปรุงแต่งก็ดี สังขารประเภทนี้เรียกว่า อนุปาทินนกสังขารสังขารที่ไม่มีชีวิตหรือสังขารที่ไม่มีใจครอง ส่วนสังขารที่มีชีวิตหรือมีใจครองเรียกว่า อุปาทินนกสังขาร สังขารที่หมายถึงเจตนาซึ่งเกิดขึ้นในสังขารที่มีใจครองนี้ยังแยกย่อยออกได้อีก ๓ ประเภท คือสังขารที่ปรุงแต่งทางกายหมายถึงเจตนาที่ทำให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกทางกาย เช่น การเดิน การนั่ง การนอน เป็นต้น เรียกว่า กายสังขาร สังขารที่ปรุงแต่งทางวาจากล่าวคือเจตนาที่ทำให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกทางวาจา เช่น การพูดจริง พูดเท็จ พูดคำส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเสียงดัง พูดเสียงค่อย เป็นต้น เรียกว่า วจีสังขาร สังขารที่ปรุงแต่งจิตใจให้คิดดี คิดชั่ว เสียใจ ดีใจ กล่าวคือเจตนาที่ทำให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ทางใจและส่งผลให้เกิดการแสดงออกทางกาย วาจา เช่น การยิ้ม การหัวเราะ การโกรธ หน้าบึ้ง หน้าย่น เป็นต้น การปรุงแต่งลักษณะอย่างนี้เรียกว่า จิตตสังขาร


นอกจากนั้น สังขารที่ปรุงแต่งในทางดีมีประโยชน์ไม่ว่าจะแสดงออกทางกาย วาจา ใจ ทางใดทางหนึ่งหรือทั้งสามทางพร้อมกันเรียกว่าปุญญาภิสังขาร สังขารที่ปรุงแต่งในทางชั่วเป็นโทษไม่ว่าจะแสดงออกทางกาย วาจา ใจ ทางใดทางหนึ่งหรือทั้งสามทางพร้อมกันเรียกว่า อปุญญาภิสังขาร สังขารทั้งสองนี้เป็นสังขารของปุถุชนหรือกัลยาชนทั่วไป ส่วนสังขารที่ปรุงแต่งจิตที่เป็นอรูปาวจรเรียกว่า อเนญชาภิสังขาร เป็นสังขารของบุคคลผู้ฝึกฝนจิตตนเองจนได้บรรลุอรูปฌานสมาบัติ


เมื่อว่าโดยพิสดารสังขารแบ่งเป็น ๓ ประเภทหรือ ๓ กลุ่มคือ กลุ่มที่ ๑ ได้แก่ อุปาทินนกสังขาร อนุปาทินนกสังขาร กลุ่มที่ ๒ ได้แก่ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร กลุ่มที่ ๓ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร เมื่อว่าโดยย่อสังขารแบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ อุปาทินนกสังขารกับอนุปาทินนกสังขาร โดยจัดเอาสังขารกลุ่มที่ ๒ และกลุ่มที่ ๓ เข้าในอุปาทินนกสังขาร


สังขารในไตรลักษณ์ประเภทอุปาทินนกสังขารอันได้แก่อัตภาพร่างกายของมนุษย์ พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงอยู่บ่อยครั้ง ดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่งต่างกาลต่างวาระ เช่น ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ขณะที่พระองค์ได้เกิดอาการพระประชวรอย่างรุนแรงมีทุกขเวทนาแสนสาหัสใกล้จะปรินิพพาน พระองค์ทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นเวทนาไว้ทรงพระดำริว่า “การที่เราไม่บอกผู้อุปัฏฐากไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานนั้นไม่เหมาะแก่เรา ทางที่ดีเราควรใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่ต่อไป” ตอนหนึ่งตรัสกับพระอานนท์ว่า


อย่าเลย อานนท์ เธออย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย เราบอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ‘ความพลัดพรากความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมีฉะนั้น จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น มีขึ้นถูกปัจจัยปรุงแต่งล้วนแตกสลายเป็นธรรมดา เป็นไปไม่ได้ที่จะปรารถนาว่า ‘ขอสิ่งนั้นอย่าเสื่อมสลายไปเลย


ในปัจฉิมโอวาทตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายไม่ให้ประมาทในชีวิตเพราะสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นสิ่งไม่เที่ยงมีความเสื่อมสิ้นสลายไปเป็นธรรมดา อีกสูตรหนึ่งตรัสว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยสังขาร


บางแห่งก็ตรัสแยกย่อยอุปาทินนกสังขารออกมาจากอุปาทินนกสังขารที่เป็นร่างกายโดยรวม คือหมายเอาเฉพาะการปรุงแต่งที่เป็นไปทางกาย เช่นตรัสว่า


ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันระงับได้ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว จึงบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์และไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันระงับได้ เป็นอย่างนี้แล


บุรุษบุคคลนี้ตกอยู่ในอวิชชา ถ้าสังขารที่เป็นบุญปรุงแต่ง วิญญาณก็ประกอบด้วยบุญ ถ้าสังขารที่เป็นบาปปรุงแต่ง วิญญาณก็ประกอบด้วยบาป ถ้าสังขารที่เป็นอาเนญชาปรุงแต่ง วิญญาณก็ประกอบด้วยอาเนญชา ในกาลใด ภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้น ในกาลนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ปรุงแต่งปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น