ศึกษาวิเคราะห์เกณฑ์ตัดสินอสังขตธรรมในพุทธศาสนาเถรวาท
An
Analytical Study of the Criteria of Asamkhatadhamma in Theravãda Buddhism
พระมหาวราทิต อาทิตวโร, ป.ธ.๙,พธ.ด.
อาจารย์ประจำสาขาวิชาพระพุทธศาสนา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
หน่วยวิทยบริการจังหวัดกาฬสินธุ์
บทคัดย่อ
การศึกษาวิเคราะห์เรื่องเกณฑ์ตัดสินอสังขตธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท
เป็นการศึกษาเกี่ยวกับ ความหมาย ลักษณะ จำนวน และเกณฑ์ตัดสินอสังขตธรรม
จากการศึกษาพบว่า อสังขตธรรม
หมายถึงธรรมชาติที่ไม่ถูกปัจจัยทำ ปรุงแต่ง สร้าง
อสังขตธรรมตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมีลักษณะ ๓ ประการ คือ ๑)
ความเกิดขึ้นไม่ปรากฏ ๒) ความดับไม่ปรากฏ ๓)ขณะดำรงอยู่ความเปลี่ยนแปลไปเป็นอย่างอื่นไม่ปรากฏ
อสังขตธรรมตามแนวพระสูตรมี ๓ กลุ่มความหมาย คือ ๑)ความสิ้นกิเลส ได้แก่
ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ หมายถึง นิพพาน ๒) ธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลง ๓)
ธรรมชาติที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง แนวคิดเรื่องอสังขตธรรมในพระสูตรในช่วงแรกยืนยันว่าอสังขตธรรมมีอยู่อย่างเดียว
คือ นิพพาน แนวคิดในพระอภิธรรมเพื่อพุทธกาลล่วงมาประมาณ ๒๓๐-๓๐๐ ปี
เกิดมีแนวคิดว่าอสังขตธรรมมีมากถึง ๗ อย่าง คือ นิพพาน นิยาม ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ
นิโรธสมาบัติ อรูปฌาน และอากาส อสังขตธรรมในอรรถกถาพระสูตรและพระอภิธรรมมีอย่างเดียว
คือ นิพพาน ในฎีกาพระอภิธรรมและฎีกาพระวินัย มี ๒ อย่าง คือ นิพพาน และบัญญัติ
ในมิลินทปัญหา มี ๒ อย่าง คือ นิพพาน และอากาส
เกณฑ์ตัดสินอสังขตธรรมในพระสูตรมี
๒ ประการ คือ ความสิ้นกิเลสทั้ง ๓ ประการ คือ ความสิ้นโลภะ ความสิ้นโทสะ
ความสิ้นโมหะ และการที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง หรือสภาวะที่ไม่เปลี่ยนแปลง เกณฑ์ตัดสินอสังขตธรรมของนิกายอื่นที่ปรากฏในพระอภิธรรมมี
๑ อย่าง คือ “การไม่ถูกปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่ง” ส่วนเกณฑ์ตัดสินของฝ่ายเถรวาทคือ
“การไม่ถูกปัจจัยคือกิเลสปรุงแต่ง” หมายถึง นิพพาน เกณฑ์ตัดสินในคัมภีร์ฎีกาพระอภิธรรม
คือ “การไม่เป็นไปในกาลทั้ง ๓ หรือไม่เปลี่ยนแปลงในกาลทั้ง ๓ คือ อดีตกาล
ปัจจุบันกาล และอนาคตกาล” เกณฑ์ตัดสินในคัมภีร์ฎีกาของพระวินัยปิฎกคือ
“การไม่ถูกกระทำขึ้นหรือไม่ถูกปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่ง
โดยที่สิ่งนั้นอาจจะมีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริงก็ได้” เกณฑ์ตัดสินในคัมภีร์มิลินปัญหา
คือ การไม่เกิดจาก “กรรม เหตุ และฤดู”
สรุปว่า
เกณฑ์ตัดสินอสังขตธรรมมี ๔ ประการ คือ ๑) ความสิ้นกิเลส
หรือการไม่ถูกปัจจัยคือกิเลสปรุงแต่ง ๒) การไม่เป็นไปในกาลทั้ง ๓ หรือการไม่เปลี่ยนแปลงในกาลทั้ง
๓ คือ อดีตกาล ปัจจุบันกาล และอนาคตกาล ๓) การไม่ถูกปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่ง คือ กรรม
เหตุ และฤดู ปรุงแต่งหรือสร้างขึ้น ๔) การไม่ถูกปัจจัยต่างๆ
ปรุงแต่งโดยที่สิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริงก็ได้
คำสำคัญ
: เกณฑ์ตัดสิน, อสังขตธรรม,
๑. บทนำ
คำสอนเรื่องสังขตธรรมครอบคลุมสิ่งมีจริงทั้งหมดตามคำสอนในพระพุทธศาสนา
เพราะมีความหมายตามรูปศัพท์ว่า ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยหรือตามกฎของธรรมชาตินั้น ๆ
ซึ่งก็คือสภาวธรรมหรือสิ่งมีจริงทั้งมวลที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สังขตธรรมนี้บางครั้งก็ตรัสว่า สังขตธาตุ[1] ธาตุคือสังขตธรรม
หมายเอา ธาตุ ๖ ธาตุ ๑๘ เมื่อประกอบกันแล้ว ได้แก่ ขันธ์ ๕
ส่วนสภาวธรรมที่มีลักษณะตรงข้ามจากนี้
เรียกว่า อสังขตธรรม คือ
ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ได้แก่ธรรมที่ไม่ปรากฏความเกิดขึ้น ไม่ปรากฏความเสื่อมสลายไป
และขณะดำรงอยู่ไม่ปรากฏความแปรปรวนไปเป็นอย่างอื่น ดังที่ตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย อสังขตลักษณะแห่งอสังขตธรรม
๓ ประการนี้ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ความเกิดขึ้นไม่ปรากฏ ๑ ความดับสลายไม่ปรากฏ ๑
เมื่อตั้งอยู่ ความแปรไม่ปรากฏ ๑ ภิกษุทั้งหลาย อสังขตลักษณะแห่ง อสังขตธรรม ๓ ประการนี้แล[2]
ในพระพุทธศาสนาเถรวาทกระแสหลักซึ่งยึดความเห็นของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระผู้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ
ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในจำนวนคัมภีร์ทั้งเจ็ดในพระอภิธรรมปิฎกมีความเห็นว่า อสังขตธรรมมีเพียงหนึ่งเดียวคือ
พระนิพพาน นิกายวาตสีปุตรียะและนิกายสัมมตียะหรือพวกวัชชีปุตตกวาทซึ่งเป็นนิกายที่แยกออกมาจากพระพุทธศาสนาเถรวาทก็ยอมรับว่านิพพานเป็นอสังขตธรรมเพียงอย่างเดียว[3] ส่วนนิกายอื่นมีความเห็นว่า อสังขตธรรม
มีหลายอย่างไม่ใช่นิพพานอย่างเดียว และมีนักคิดทางพุทธศาสนาสมัยใหม่ในประเทศไทยบางท่าน[4]
ให้ความเห็นสอดคล้องกับฝ่ายหลัง คือ มีความเห็นว่า
อสังขตธรรมมีมากกว่าหนึ่ง คือ
นอกจากพระนิพพานแล้วยังมี นิยาม
อากาสะ เป็นต้น
เป็นอสังขตธรรม บางท่าน[5]
มีความเห็นตามฝ่ายแรก คือเห็นว่าอสังขตธรรมคือพระนิพพานอย่างเดียว
ในคัมภีร์มิลินทปัญหา
พระยามิลินท์ตรัสถามเรื่องสิ่งที่ไม่เกิดแต่กรรม แต่เหตุ
แต่ฤดู ว่ามีอยู่หรือไม่
พระนาคเสนตอบว่า มีอยู่ ๒ อย่าง คือ
นิพพาน และอากาศ[6] จากบทสนทนาดังกล่าวนี้ถึงแม้ว่า
พระนาคเสนจะไม่ได้บอกโดยตรงว่า อสังขตธรรมมีมากกว่าหนึ่งอย่าง ก็พออนุมานได้ว่า
แม้อากาศก็เป็นอสังขตธรรมด้วย เพราะมีลักษณะเช่นเดียวกับนิพพาน คือ
ไม่เกิดแต่กรรม แต่เหตุ แต่ฤดู
พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ปรากฏความเกิด
ไม่ปรากฏความเสื่อมสลายไป
และเมื่อตั้งอยู่ก็ไม่ปรากฏความแปรปรวนไปเป็นอย่างอื่น
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ
ซึ่งเป็นคัมภีร์อรรถกถาพระอภิธรรมมีความเห็นว่านิพพานและบัญญัติเป็นอสังขตธรรม[7]
คัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินีและคัมภีร์ปรมัตถทีปนีซึ่งเป็นคัมภีร์ฎีกาของคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะมีความเห็น
ส่วนนักคิดสมัยใหม่ของไทยทั้งสามท่าน
สองท่านคือ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื้อม
อินฺทปญฺโญ) หรือ ท่านพุทธทาสภิกขุ และศาสตราจารย์ ดร. สมภาร พรมทา มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ เห็นว่า อสังขตธรรมมีหลายอย่าง ส่วนพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
มีความเห็นว่า อสังขตธรรมมีอย่างเดียวคือพระนิพพาน
จากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันนี้จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังขตธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นเป็นอย่างไร อสังขตธรรมมีกี่อย่าง
แล้วจะให้ยึดเอาความเห็นของฝ่ายใดจึงจะถูกต้องตามความเป็นจริงและถูกต้องตามพระประสงค์ของพระพุทธเจ้า
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าเรื่องอสังขตธรรมในเชิงลึกเพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องและชัดเจน
ในงานนี้ผู้วิจัยจึงได้ตั้งประเด็นคำถามที่ยังเป็นข้อสงสัยอยู่จนถึงทุกวันนี้เพื่อเป็นกรอบในการศึกษาวิจัยต่อไป
คือ ต้องการทราบว่า จำนวนของ อสังขตธรรมมีเท่าไหร่ อสังขตธรรมตามแนวพระสูตร
พระอภิธรรม อรรถกถา ฎีกา และ มิลินทปัญหา
เป็นอย่างไร อะไรคือเกณฑ์ตัดสินอสังขตธรรม
๒. อสังขตธรรม
คำว่า
“อสังขตธรรม” มาจากภาษาบาลี ๒ ศัพท์ คือ อสงฺขต + ธมฺม “อสงฺขต” มาจาก อ บทหน้า สํ บทหน้า กร ธาตุ ต
ปัจจัย “อ” มาจาก น นิบาตปฏิเสธนาม แปลว่า ไม่
เมื่อนำมาสมาสเข้ากับศัพท์ที่มีพยัญชนะขึ้นต้น นิยมแปลง น เป็น อ “สํ”
เป็นอุปสรรค แปลว่า พร้อม กับ
ดี “กร” แปลว่า ทำ ปรุงแต่ง สร้าง[8]
มีรูปวิเคราะห์ว่า
ปจฺจเยหิ น สํกริยเตติ อสงฺขตํ[9]
“ธมฺม” มาจาก “ธร” ธาตุ ในความว่าทรงไว้ รมฺม ปัจจัย ลบ ร ที่สุดธาตุ และ รฺ
ต้นปัจจัย แปลว่า สภาพที่ทรงไว้ ธรรมดา ธรรมชาติ[10] เมื่อนำเอาทั้งสองศัพท์มารวมกันจึงเป็น
อสังขตธรรม แปลว่า
ธรรมชาติที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง[11]
สรุปว่าอสังขตธรรม หมายถึงธรรมชาติที่ไม่ถูกปัจจัยทำ ปรุงแต่ง
สร้าง
อสังขตธรรม
ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมีลักษณะ ๓ ประการ
คือ ๑. ความเกิดขึ้นไม่ปรากฏ ๒.
ความดับไม่ปรากฏ ๓. ขณะดำรงอยู่ความเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นไม่ปรากฏ มีพระพุทธพจน์ปรากฏในคัมภีร์ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเกิดขึ้นไม่ปรากฏ ๑ ความเสื่อมไม่ปรากฏ
๑ เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรวนไม่ปรากฏ ๑ ภิกษุทั้งหลาย อสังขตลักษณะของ อสังขตธรรม ๓ ประการนี้แล[12]
อสังขตธรรมตามแนวพระสูตรมี
๓ กลุ่มความหมาย คือ
๑.
อสังขตธรรม ในความหมายว่า ความสิ้นกิเลส
ได้แก่ ความสิ้นราคะ
ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ มีปรากฏในกายคตาสติสูตร สมถวิปัสสนาสูตร
อสังขตสูตร[13] อสังขตธรรมในที่นี้ท่านหมายถึง พระนิพพาน ๒. อสังขตธรรม ในความหมายว่า ธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลง ๓. อสังขตธรรม ในความหมายว่า
ธรรมชาติที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
อสังขตธรรม
ในความหมายว่า ธรรมชาติไม่เปลี่ยนแปลง
และในความหมายว่าธรรมชาติที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีปรากฏในอสังขตลักขณสูตร[14]
อสังขตธรรมในพระอภิธรรม จากหลักฐานที่ปรากฏในพระสูตรและในสมัยพุทธกาลนั้นยังไม่มีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องจำนวนของอสังขตธรรมว่ามีกี่อย่าง
อะไรบ้าง เริ่มมีหลักฐานปรากฏขึ้นหลังจากที่ พระพุทธองค์ปรินิพพานมาแล้วประมาณ
๓๐๐ ปี หลักฐานนี้ปรากฏขึ้นในครั้งทำสังคายนาครั้งที่ ๓
ซึ่งมีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธาน มีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้อุปถัมภ์
ในการทำสังคายนาครั้งนั้นได้ตรวจสอบความถูกต้องของคำสอนที่เป็นพุทธพจน์เดิมหลายประเด็น
ประเด็นของจำนวนอสังขตธรรมเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกยกขึ้นสู่การสังคายนา
ข้อถกเถียงกันในครั้งนั้นเป็นการถกเถียงกันระหว่างกลุ่มภิกษุที่เห็นว่า
อสังขตธรรมมีอย่างเดียว คือ พระนิพพาน กับกลุ่มภิกษุที่เห็นว่า
อสังขตธรรมมีหลายอย่าง เช่น นิยาม, ปฏิจจสมุปบาท, อริยสัจ ๔, อรูปฌาน ๔,
นิโรธสมาบัติ, และอากาสะ ก็เป็นอสังขตธรรมด้วย
พระนิพพานเป็นหนึ่งในจำนวนที่เป็นอสังขตธรรมเหล่านั้น[15]
อสังขตธรรมในอรรถกถาพระสูตรมีอย่างเดียวคือ
พระนิพพาน ปรากฏในคัมภีร์ปปัญจสูทนี
ซึ่งเป็นคัมภีร์อรรถกถาของมัชฌิมนิกาย
อุปริปัณณาสก์[16]
อสังขตธรรมในอรรถกถาพระอภิธรรมมีอย่างเดียวคือ
พระนิพพาน ส่วนจำนวนของอสังขตธรรมที่ปรากฏเป็นข้อถกเถียงกันในพระอภิธรรมมีจำนวน
๖ ประเภท คือนิยาม ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ อรูปฌาน นิโรธสมาบัติ และอากาส
พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายตามลำดับดังนี้
๑. อรรถกถาจารย์อธิบายนิยามกถาเป็นอันดับแรก สรุปใจความได้ว่า คำว่า “นิยาม” ในที่นี้
หมายถึง อริยมรรค[17]
๒. อรรถกถาอธิบายปฏิจจสมุปปาทกถา สรุปใจความได้ว่า นิกายปุพพเสลิยะและ มหิสาสกะ ต่างก็เห็นว่า
ปฏิจจสมุปบาทเป็นอสังขตะ เพราะพระบาลีในนิทานวรรคว่า
การอุบัติขึ้นแห่งพระตถาคตเจ้าก็ดี การไม่อุบัติก็ดี ชื่อว่าธัมมัฏฐิตตา คือ
ความตั้งอยู่แห่งธรรม มีอยู่ เพราะมุ่งเอาตัวกฎธรรมชาติ ส่วนฝ่ายสกวาทีมุ่งเอาสภาวธรรมที่ดำเนินไปตามกฏของปฏิจจสมุปบาท[18]
๓. อรรถกถาจารย์อธิบายสัจจกถา สรุปใจความได้ว่า นิกายปุพพเสลิยะเห็นว่า สัจจะทั้ง ๔ คือ
ทุกขสัจจะ สมุทยสัจจะ นิโรธสัจจะ และมรรคสัจจะ เป็นอสังขตะ
เพราะอาศัยพระสูตรว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัจจะ ๔ อย่างนี้แท้ไม่ผิด
ไม่เป็นอย่างอื่น เป็นต้น
อรรถกถาจารย์อธิบายปัญหานั้นว่า บรรดาทุกข์ สมุทัย
และมรรคทั้งหลายชื่อว่าวัตถุสัจจะ เป็นสังขตะ ลักขณสัจจะ คือนิพพาน เป็นอสังขตะ วัตถุสัจจะย่อมไม่มีในนิโรธ
นิโรธนั้นเป็นอสังขตะอย่างเดียว
อรรถกถาจารย์อธิบายว่า ฝ่ายปรวาที เห็นว่า ทุกข์ สมุทัยและมรรคเป็นวัตถุสัจจะ
ส่วนธรรมที่มีการนำออกจากทุกข์อันเป็นเครื่องเบียดเบียน
และเหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมเหล่านั้นชื่อว่า ลักขณสัจจะ
๔. อรรถกถาจารย์อธิบายอรุปปกถา
สรุปใจความได้ว่า พระสงฆ์นิกายปุพพเสลิยะ
มีความเห็นว่า
อรูปฌานเป็นอสังขตธรรม เพราะอาศัยพระบาลีว่า ภพไม่มีรูปทั้ง ๔
เป็นสภาพไม่หวั่นไหว[19]
๕. อรรถกถาจารย์อธิบายนิโรธสมาปัตติกถา ไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นสังขตธรรม
หรือเป็นอสังขตธรรม เพราะไม่มีลักษณะแห่งสังขตธรรมและอสังขตธรรม[20]
๖. อรรถกถาจารย์อธิบายอากาสกถา สรุปใจความได้ว่า
อรรถกถาจารย์เห็นว่า อากาศมี ๓ อย่าง คือ
ปริจเฉทากาส คือช่องว่างอันเป็นที่กำหนด กสิณุคฆาฏิมากาส
คือช่องว่างที่เพิกขึ้นของกสิณ และอชฏากาส คือช่องว่างของท้องฟ้า
แม้ตุจฉากาสคือช่องว่างอันว่างเปล่า ก็เป็นชื่อของอชฏากาส ท่านขยายความว่า
ปริจเฉทากาส คือช่องว่างที่คั่นอยู่ระหว่างรูปกับรูป เป็นสังขตะ ส่วนอากาศที่เหลือแม้ทั้ง ๒ นี้สักว่าเป็นบัญญัติ แล้วบอกว่า
พระสงฆ์นิกาย อุตตราปถกะ
และมหิสาสกะเห็นผิดว่า อากาศแม้ทั้ง ๒ คือกสิณุคฆาฏิมากาส และอชฎากาสไม่ใช่สังขตะ
แต่เป็นอสังขตะ[21]
ในคัมภีร์มิลินทปัญหาไม่ได้พูดไว้โดยตรงว่า
อะไรบ้างเป็นอสังขตธรรม
แต่พอตีความได้จากบทสนทนาระหว่างพระยามิลินท์กับพระนาคเสนเถระว่า
อสังขตธรรมมีกี่อย่าง อะไรบ้างเนื้อความที่นักปราชญ์ทั้ง ๒ ได้สนทนากัน
ใจความตอนหนึ่งพระยามิลินท์ได้ถามปัญหาเกี่ยวกับความมีอยู่ของพระนิพพานกับพระนาคเสนเถระ
มีใจความสำคัญดังนี้
พระยามิลินท์ถามว่า
สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ที่เกิดเพราะกุศลกรรมและอกุศลกรรมได้แก่สัตว์โลกทั้งหมด
ที่เกิดแต่เหตุก็ปรากฏอยู่
ที่เกิดแต่ฤดูก็ปรากฏอยู่
สิ่งที่ไม่เกิดแต่กรรมคือบุญบาป ไม่เกิดแต่เหตุ และไม่เกิดแต่ฤดูมีอยู่หรือไม่ พระนาคเสนตอบว่า สิ่งที่ไม่ได้เกิดจากกรรม จากเหตุและจากฤดูมีอยู่
๒ ประการ คืออากาสและพระนิพพาน[22] จากบทสนทนานี้สรุปว่า
อสังขตธรรมในมิลินทปัญหามีจำนวน ๒ อย่าง คือ พระนิพพาน และอากาส
ในคัมภีร์ฎีกาของอภิธัมมัตถสังคหะ
ทั้งสองคัมภีร์คือ คัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี[23] แต่งโดยพระสุมังคลาจารย์ชาวอินเดีย และคัมภีร์ปรมัตถทีปนี[24] แต่งโดยพระญาณธชเถระ (แลดีสยาดอ) ชาวพม่า
มีความเห็นตรงกันว่า อสังขตธรรมมี ๒ อย่าง คือ นิพพานและบัญญัติ โดยให้เหตุผลว่า
นิพพานและบัญญัติพ้นจากกาลทั้ง ๓ คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ในคัมภีร์วิมติวิโนทนี
ซึ่งเป็นคัมภีร์ฎีกาพระวัย มีความเห็นว่า อสังขตธรรมมี ๒ อย่างคือ
นิพพานและบัญญัติ เช่นเดียวกัน ท่านนำเอาพระบาลีในคัมภีร์ปริวาร บทว่า
นิพฺพานญฺเจว ปญฺญตฺติ เป็นต้น มาอธิบายสรุปใจความได้ว่า บัญญัติและนิพพาน ท่านวินิจฉัยว่าเป็นอนัตตาเพราะเสมอกันโดยความเป็นอสังขตะ สมมติแม้ไม่มีอยู่จริง ก็เป็นอสังขตะ
เพราะไม่ถูกปัจจัยใด ๆ สร้างขึ้น[25]
๓. เกณฑ์ตัดสินอสังขตธรรม
ในพระสูตรจะปรากฏอยู่หลายแห่งที่บอกให้ทราบว่า
สังขตธรรมกับอสังขตธรรมมีลักษณะอย่างไร สิ่งใดบ้างที่เรียกว่าสังขตธรรมและสิ่งใดบ้างที่เรียกว่าอสังขตธรรม ลักษณะของอสังขตธรรม ๓ อย่าง คือ ไม่ปรากฏความเกิด ไม่ปรากฏความเสื่อม และเมื่อดำรงอยู่ไม่ปรากฏความเปลี่ยนแปร ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า
ภิกษุทั้งหลาย อสังขตลักษณะแห่งอสังขตธรรม
(ลักษณะที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแห่งธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) ๓ ประการนี้ อสังขตลักษณะแห่งอสังขตธรรม ๓
ประการ อะไรบ้าง คือ ความเกิดขึ้นไม่ปรากฏ
ความดับสลายไม่ปรากฏ เมื่อตั้งอยู่ ความแปรไม่ปรากฏ ภิกษุทั้งหลาย อสังขตลักษณะแห่งอสังขตธรรม ๓ ประการนี้แล[26]
สรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือสิ่งใดก็ตามที่เป็นอสังขตธรรม สิ่งนั้นจะต้องประกอบด้วยลักษณะ ๓
ประการต่อไปนี้คือ
สิ่งนั้นไม่ปรากฏการเกิด
สิ่งนั้นไม่ปรากฏความเสื่อมสลาย
สิ่งนั้นขณะดำรงอยู่ไม่ปรากฏความเปลี่ยนแปร
นอกจากเกณฑ์ตัดสินหลักแล้วหลักฐานอื่นที่พูดถึงอสังขตธรรมอีกทางหนึ่งก็คือหลักฐานในอสังขตสังยุต
กายคตาสติสูตรพระองค์ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า พระองค์จักแสดง
อสังขตธรรมและทางที่ให้ถึงอสังขตธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายแล้วพระองค์ก็แสดงว่า ความสิ้นราคะ
ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ
ว่าเป็นอสังขตธรรม และทางให้ถึงอสังขตธรรมก็คือ กายคตาสติ
หรือ กายคตาสติกรรมฐาน ได้แก่
การเจริญสติไปในกายของตน
จากนั้นพระองค์ก็บอกให้ภิกษุไปบำเพ็ญความเพียรตามสถานที่ต่าง มีโคนไม้ เรือนว่าง เป็นต้น
ทรงกำชับไม่ให้ภิกษุประมาทเพราะจะทำให้เดือดร้อนใจในภายหลัง[27]
ในสมถวิปัสสนาสูตร ก็มีเนื้อความเหมือนกัน คือ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ
ความสิ้นโมหะ เรียกว่า
อสังขตธรรม ส่วนทางให้ถึงอสังขตธรรม คือ
การเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน
ในพระอภิธรรมปิฎกมีการกล่าวถึงอสังขตธรรมกันมากพระสงฆ์ที่เชื่อว่าอสังขตธรรมมีหลายอย่างได้ให้เหตุผลสนับสนุนความเห็นของตนว่า
นอกจากพระนิพพานแล้วยังมีอสังขตธรรมอื่นอีก คือ นิยาม ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ อรูปฌาน นิโรธสมาบัติ และอากาส
เพราะยึดเอาลักษณะของอสังขตธรรมตามที่ปรากฏในพระสูตรมาเป็นฐานในการตัดสินความเห็นของตน
อสังขตธรรมตามที่ปรากฏในพระสูตร มีลักษณะ ๓ ประการ คือ ๑. ความเกิดขึ้นไม่ปรากฏ ๒. ความดับไม่ปรากฏ ๓.
ขณะดำรงอยู่ความเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นไม่ปรากฏ[28]
ความเห็นของพระสงฆ์กลุ่มนี้ถูกปฏิเสธจากพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทกระแสหลัก
ซึ่งมีความเห็นว่า อสังขตธรรมคือพระนิพพานอย่างเดียว นอกนั้นเป็นสังขตธรรม พระสงฆ์ทั้ง ๒
ฝ่ายนี้อาศัยพระพุทธพจน์แหล่งเดียวกันคืออัคคัปปสาทสูตรซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า
“ยาวตา ภิกฺขเว ธมฺมา สงฺขตา วา อสงฺขตา
วา วิราโค เตสํ อคฺคมกฺขายติ ยทิทํ มทนิมฺมทโน ปิปาสวินโย อาลยสมุคฺฆาโต วฏฺฏุปจฺเฉโท
ตณฺหากฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ”
ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งหรือธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งมีประมาณเท่าใด
วิราคะ (ความคลายกำหนัด) คือ ความสร่างความเมา
ความดับความกระหาย ความถอนอาลัย ความตัดวัฏฏะ ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด
ความดับทุกข์ นิพพาน เรา
กล่าวว่าเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น[29]
หลักฐานที่พระสงฆ์ฝ่ายที่เห็นว่า
อสังขตธรรมมีมากกว่าหนึ่งอย่าง
นำเอาพระพุทธพจน์ข้างต้นนั้นมาสนับสนุนความเห็นของฝ่ายตนคือ พระพุทธพจน์นี้
อยู่ในรูปพหูพจน์ คือ คำว่า ...ธมฺมา
สงฺขตา วา อสงฺขตา วา... นั่นเอง โดยให้เหตุผลว่า
ถ้าอสังขตธรรมมีอย่างเดียวพระพุทธองค์คงจะใช้ คำเหล่านี้ในรูป เอกพจน์ เป็น
...ธมฺโม สงฺขโต วา อสงฺขโต วา... ส่วนฝ่ายเถรวาทกระแสหลักให้ความเห็นว่า คำต่างๆ
เหล่านั้น เช่น มทนิมมทโน ปิปาสวินโย อาลยสมุคฺฆาโต วฏฺฏุปจฺเฉโท ตณฺหกฺขโย
เป็นต้น ล้วนแต่เป็นไวพจน์ของนิพพานทั้งสิ้น จึงสรุปว่า
อสังขตธรรมจึงมีอย่างเดียวคือพระนิพพาน
ในคัมภีร์ปปัญจสูทนี
ซึ่งเป็นคัมภีร์อรรถกถาของมัชฌิมนิกาย ได้อธิบายอสังขตธาตุด้วยคำว่า อสังขตธรรม เป็นชื่อของนิพพาน
ในคัมภีร์สารัตถปกาสินีซึ่งเป็นคัมภีร์อรรถกถาของสังยุตตนิกาย ก็เช่นเดียวกัน
ท่านหมายเอาพระนิพพานอย่างเดียวท่านยกเอาศัพท์มาอธิบายความ ศัพท์แรกคือ อสังขตะ
ท่านบอกว่า บทว่า อสงฺขตํ ได้แก่ อันปัจจัยไม่กระทำแล้ว ท่านแปลตามรูปศัพท์[30]
อรรถกถาพระอภิธรรมยึดเอาตามมติของพระเถระที่มีพระโมคคัลลีบุตรติสสะเป็นประธานในการทำสังคายนาครั้งที่
๓ เป็นเกณฑ์แล้วอธิบายสนับสนุนมติของพระเถระเหล่านั้น
โดยตั้งตรรกะแบบง่ายๆ เช่นว่า นิยามไม่ใช่พระนิพพาน เพราะฉะนั้น นิยามจึงไม่ใช่อสังขตธรรม
เกณฑ์ตัดสินของท่านก็คือสิ่งอื่นนอกจากพระนิพพานไม่ถือว่าเป็นอสังขตธรรม
ในคัมภีร์มิลินทปัญหาไม่ได้พูดถึงอสังขตธรรมไว้โดยตรง
แต่พอสรุปใจความได้ว่าเกณฑ์ตัดสินอสังขตธรรมของท่านพระนาคเสนนั้นคือ
สิ่งที่ไม่ได้เกิดจากกรรม จากเหตุ และจากฤดู
ซึ่งท่านหมายถึงอากาศและพระนิพพาน
หมายความว่า สิ่งใดที่เกิดจากรรม
เกิดจากเหตุ และเกิดจากฤดูหรือขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ๓ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง
สิ่งนั้นไม่จัดเป็นอสังขตธรรม ดังนั้น
จึงสรุปได้ว่า
พระนิพพานและอากาศเป็นอสังขตธรรมเพราะไม่เกิดจากเงื่อนไข ๓ อย่างนี้
ในคัมภีร์ฎีกาของอภิธัมมัตถสังคหะ
ทั้ง ๒ คัมภีร์คือ คัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี
แต่งโดยพระสุมังคลาจารย์ชาวอินเดีย
และคัมภีร์ปรมัตถทีปนี แต่งโดยพระญาณธชเถระ (แลดีสยาดอ) ชาวพม่า
มีความเห็นตรงกันว่านิพพานและบัญญัติเป็นอสังขตธรรม โดยให้เหตุผลว่า
นิพพานและบัญญัติพ้นจากกาลทั้งสาม คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต[31]
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าเกณฑ์ตัดสินอสังขตธรรมของพระสุมังคลาจารย์และพระญาณธชเถระ
คือสภาวธรรมที่ไม่เป็นไปในกาลทั้ง ๓ คือ อดีตกาล ปัจจุบันกาล และอนาคตกาล
๔. บทสรุป
การศึกษาวิจัยเรื่องอสังขตธรรมนี้พอสรุปประเด็นสำคัญได้ว่า
อสังขตธรรม มีปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาทั้ง ๓ คัมภีร์คือ พระวินัยปิฎก
พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ในสองปิฎกเบื้องต้น ในพระวินัยปิฎก
ปรากฏจำนวนของอสังขตธรรมว่า มี ๒ อย่าง คือ พระนิพพานและบัญญัติ หรือ
อสังขตธรรมที่มีอยู่จริงกับอสังขตธรรมที่ไม่มีอยู่จริง ในพระสุตตันตปิฎก ปรากฏว่า
อสังขตธรรม มี ๓ กลุ่มความหมาย คือ ความสิ้นกิเลสทั้ง ๓
ประการที่เป็นมูลรากของอกุศลทั้งหลาย ได้แก่ ความสิ้นโลภะ ความสิ้นโทสะ
ความสิ้นโมหะ สภาวธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
และสภาวธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง ในสองปิฏกนี้ยังไม่มีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับจำนวนของอสังขตธรรม
พอถึงพระอภิธรรมปิฎก มีหลักฐานการถกเถียงกันเกี่ยวกับจำนวนของอสังขตธรรม
เนื่องจากกาลเวลาได้ผ่านมา ๒๐๐ ปีเศษ หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน
และปัญหานั้นก็ยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจนจนถึงทุกวันนี้ เพราะเราไม่มีหลักฐานของพระสงฆ์ที่มีความเห็นว่า
อสังขตธรรมมีหลายอย่าง ได้แต่นำเอาลักษณะของอสังขตธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
ลักษณะของอสังขตธรรม มี ๓ ประการ คือ ๑.
ความเกิดขึ้นไม่ปรากฏ ๒. ความดับไม่ปรากฏ
๓. ขณะดำรงอยู่ความเปลี่ยนแปลไปเป็นอย่างอื่นไม่ปรากฏ มาเป็นบทตั้งแล้วค้นหาคำตอบโดยนำเอาสิ่งที่พระสงฆ์ฝ่ายที่ลงมติว่าเป็นอสังขตธรรมมาเปรียบเทียบกับลักษณะของอสังขตธรรมดังกล่าว
ถ้าเปรียบเทียบกันได้ สมเหตุสมผลก็สรุปว่า สิ่งนั้นเป็นอสังขตธรรม จากการศึกษาในงานวิจัยนี้ จึงสรุปเอาว่า
สิ่งใดก็ตามที่มีลักษณะของอสังขตธรรมตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก จัดเป็นอสังขตธรรมทั้งหมด แต่เท่าที่ได้ศึกษาเพื่อค้นหาคำตอบ พบว่า
อสังขตธรรมมี ๔ ประเภท คือ ๑) ประเภทที่มีอยู่จริง ได้แก่ พระนิพพาน ๒) ประเภทที่ไม่มีอยู่จริง ได้แก่ บัญญัติ ๓)
ประเภทที่เป็น กฎธรรมชาติ ได้แก่ กฎของนิยาม กฎของปฏิจจสมุปบาทและกฎของอริยสัจ ๔)
ประเภทพิเศษ ได้แก่ อากาส
ส่วนเกณฑ์ตัดสินอสังขตธรรม
มีอยู่ ๔ อย่าง คือ ๑) ความสิ้นกิเลส หรือการไม่ถูกปัจจัยคือกิเลสปรุงแต่ง ๒)
การไม่เป็นไปในกาลทั้ง ๓ หรือการไม่เปลี่ยนแปลงในกาลทั้ง ๓ คือ อดีตกาล
ปัจจุบันกาล และอนาคตกาล ๓) การไม่ถูกปัจจัยต่างๆ คือ กรรม เหตุ และฤดู
ปรุงแต่งหรือสร้างขึ้น และ ๔) การไม่ถูกปัจจัยต่างๆ
ปรุงแต่งโดยสิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงหรืไม่มีอยู่จริงก็ได้
[2]องฺ.
ติก. (ไทย) ๒๐/๔๘/๑๒๗.
[3]วัชระ
งามจิตรเจริญ, พุทธศาสนาเถรวาท, (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๒), หน้า ๑๕.
[4]พุทธทาสภิกขุ, อิทัปปัจจยตา, ฉบับครบรอบ ๑๐๐ ปี พุทธทาสภิกขุ, พิมพ์ครั้งที่ ๖,
(กรุงเทพมหานคร : พิมพ์ที่ธรรมสภา, ๒๕๔๙), หน้า ๖๓, ๑๐๒., สมภาร พรมทา,
“กาลและอวกาศในพุทธปรัชญาเถรวาท”, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, (ภาควิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๑), หน้า ๒๙.
[5]พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม, (ฉบับปรับปรุงและขยายความ),
พิมพ์ครั้งที่ ๑๑, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท
สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๙), หน้า ๗๐/๒.
[6]กรมศิลปากร, คัมภีร์มิลินทปัญหา (ไทย –
บาลี), พิมพ์ครั้งที่ ๙, (กรุงเทพมหานคร ; บริษัทประยูรศ์พริ้นท์ติ้ง จำกัด,
๒๕๕๐), จัดพิมพ์โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร,
พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ พระพุทธิวงศมุนี (บุญมา ทีปธมฺโม ป.ธ. ๖), ใช้อักษรย่อว่า มิลินฺท.
(บาลี) ๕/๒๗๙, มิลินฺท. (ไทย) หน้า ๓๙๔, ในการอ้างครั้งต่อไปจะใช้เฉพาะอักษรย่อนี้
, กรมการศาสนา, มิลินทปัญหา เล่ม ๒, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๔), หน้า ๙๕.
[7]สงฺคห. (บาลี) ๑๗. (พระอนุรุทธาจารย์, “อภิธมฺมตฺถสงฺคหปาลิ”, ใน อภิธมฺมตฺถสงฺคหปาลิยา สห อภิธมฺมตฺถวิภาวินี นาม
อภิธมฺมตฺถสงฺคหฏีกา, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒).
[8]พระมหาศักรินทร์ ศศพินทุรักษ์, หลักควรจำบาลีไวยากรณ์,
(กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เลี่ยงเซียง จงเจริญ, ๒๕๑๕), หน้า ๒๔๘
และ พระคันธสาราภิวงศ์, อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนี, หน้า ๖๗๖.
[9]มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย,
อภิธานปฺปทีปิกา และ อภิธานปฺปทีปิกาสูจิ, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕), หน้า ๒๕๐.
[10]พระธรรมกิตติวงศ์,
(ทองดี สุรเตโช ป.ธ. ๙, ราชบัณฑิต), ศัพท์วิเคราะห์, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เลี่ยงเซียง, ๒๕๕๐), หน้า ๓๓๔ และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์
ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๓๑, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์
บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๖๑), หน้า ๕๗๓.
[11]สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
(ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์
ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๓๑, หน้า ๕๗๓.
[12]องฺ.ติก.
(ไทย) ๒๐/๔๘/๒๐๙.
[13]สํ.สฬา.
(ไทย) ๑๘/๓๖๖, ๓๖๗-๓๗๗/๔๔๘, ๔๔๙-๔๕๓.
[15]ดูรายละเอียดใน
อภิ.ก. (ไทย) ๓๗/๔๔๕-๔๕๙/๔๓๗-๔๙๒.
[16]ม.อุ.อ.
(ไทย) ๑๒๕/๖๔. ข้อที่ ๑๒๕
[17]ดูรายละเอียดใน อภิ.ปญฺจ.อ. (บาลี) ๔๔๕-๔๔๗/๑๕๔, อภิ.ปญฺจ.อ.
(ไทย) ๔๔๕-๔๔๗/๒๑๖. เมื่อเป็นอริยมรรคก็ย่อมเป็นสังขตธรรม จะเป็นอสังขตธรรมไม่ได้ ท่านอธิบายว่า พระสงฆ์นิกายอันธกะ
มีความเห็นผิดว่า นิยาม เป็นอสังขตะ เพราะตีความว่า นิยามเป็นสิ่งเที่ยงแน่นอน
เมื่อเป็นสิ่งเที่ยงก็ย่อมเป็นอสังขตธรรม เพราะไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง
[18]ดูรายละเอียดใน
อภิ.ปญฺจ.อ. (บาลี) ๔๔๘-๔๕๑/๑๕๔-๑๕๕, อภิ.ปญฺจ.อ. (ไทย) ๔๔๘-๔๕๑/๒๑๗. ก็ในข้อนี้ พึงทราบเนื้อความว่า
ธาตุใดเป็นสภาวะตั้งอยู่แล้วในก่อน ธาตุนั้นเทียว ท่านเรียกว่า เป็นธัมมฐิติ ธัมมนิยาม
ธาตุนั้นเว้นจากอวิชชาเป็นต้นมีอยู่ส่วนหนึ่งก็หาไม่ และคำว่า ธัมมฐิติ
และธัมมนิยามนี้เป็นชื่อแห่งปัจจัยทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้นนั่นแหละ
[19]ดูรายละเอียดใน
อภิ.ปญฺจ.อ. (บาลี) ๔๕๒-๔๕๖/๑๕๕, อภิ.ปญฺจ.อ. (ไทย) ๔๕๒-๔๕๖/๒๑๘-๒๑๙.
[20]ดูรายละเอียดใน อภิ.ปญฺจ.อ. (บาลี) ๔๕๗-๔๕๙/๑๕๖, อภิ.ปญฺจ.อ.
(ไทย) ๔๕๗-๔๕๙/๒๑๙. สรุปใจความได้ว่า นิกายอันธกะและอุตตราปถกะเห็นว่า นิโรธสมาบัติเป็นอสังขตะ
เพราะเป็นสภาวธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง และเป็นสภาวะที่ดับแล้ว
อรรถกถาจารย์อธิบายว่า นิโรธสมาบัติ คือความไม่เป็นไปแห่งนามขันธ์ ๔
นิโรธสมาบัตินั้นบุคคลสามารถปฏิบัติธรรมจนบรรลุได้ คือ
เมื่อเข้านิโรธสมาบัติ เขาย่อมเข้าได้
[21]ดูรายละเอียดใน อภิ.ปญฺจ.อ. (บาลี) ๔๖๐-๔๖๒/๑๕๖, อภิ.ปญฺจ.อ.
(ไทย) ๔๖๐-๔๖๒/๒๒๐.
[22]
มิลินฺท. (บาลี) ๖/๒๘๒,
ดูเพิ่มเติมใน กรมศิลปากร, คัมภีร์มิลินทปัญหา ไทย – บาลี, พิมพ์ครั้งที่ ๙, ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระพุทธิวงศมุนี
(บุญมา ทีปธมฺโม สุดสุข), (กรุงเทพมหานคร : บริษัทประยูรวงศ์พริ้นท์ติ้ง จำกัด, ๒๕๕๐), (ไทย) หน้า ๓๙๔-๓๙๘, (บาลี)
หน้า ๗๙๐.
[23]พระสุมังคลาจารย์, อภิธัมมัตถวิภาวินีแปล,
แปลโดย พระธรรมวโรดม (บุญมา คุณสมฺปนฺโน),
๒๕๔๘, หน้า ๕๗. (เอกสารประกอบการเรียนการสอน).
ในคัมภีร์วิภาวินีกล่าวว่า “นิพพานและบัญญัติ
ชื่อว่า พ้นจากกาล เพราะไม่พึงกล่าวว่าเป็นอดีตกาลเป็นต้น เนื่องจากไม่มีความพินาศ”
[24]พระญาณธชเถระ
(แลดีสยาดอ), ปรมัตถทีปนี, (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยรายวัน กราฟฟิค เพลท, ๒๕๔๖), หน้า ๓๒๗.
[25]
วิมติ.ฎีกา. (บาลี) ๒/๒๕๗/๓๕๑, พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ก็ยอมรับว่า
นิพพานและบัญญัติ เป็นอสังขตธรรม ดูเพิ่มเติมใน พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), กรณีธรรมกาย,
พิมพ์ครั้งที่ ๑๗, (กรุงเทพมหานคร : บริษัท ธรรมสาร
จำกัด, ๒๕๔๒), หน้า ๖๔.
[26]ตีณีมานิ ภิกฺขเว
อสงฺขตสฺส สงฺขตลกฺขณานิ. กตมานิ ตีณิ; อุปฺปาโท ปญฺญายติ, วโย ปญฺญายติ, น วโย ปญฺญายติ, น
ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ. อิมานิ โข
ภิกฺขเว ตีณิ อสงฺขตสฺส สงฺขตลกฺขณานีติ., องฺ. ติก. (บาลี) ๒๐/๔๘/๒๐๙.
[27]สํ.ส.
(ไทย) ๑๘/๓๖๖/๔๔๘.
[28]องฺ.ติก.
(ไทย) ๒๐/๔๘/๒๐๙.
[29]องฺ.จตุกฺก.
(บาลี) ๒๑/๓๔/๒๖., องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๑/๓๔/๔๕.
[30]ดูเพิ่มใน สํ.สฬา.ม.อ.
(ไทย) ๓/๑๒๙.
[31]พระญาณธชเถระ
(แลดีสยาดอ), ปรมัตถทีปนี, (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยรายวัน กราฟฟิค เพลท, ๒๕๔๖), หน้า ๓๒๗.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น