วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

นิธิกัณฑสูตร ว่าด้วยการฝังขุมทรัพย์


 พระสูตรนี้มีเนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อชาวพุทธมากเพราะพูดถึงการฝังขุมทรัพย์ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการฝังขุมทรัพย์ สามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตจริงได้ ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีธนาคารเป็นสถาบันหลักในการฝากทรัพย์ แต่การนำเงินไปฝากธนาคารก็ยังไม่มั่นคงอยู่ดี เพราะเรายังสามารถไปเบิกมาใช้ได้ เผลอๆ อาจถูกโจรกรรมไปได้ดังที่มีข่าวปรากฏอยู่บ่อยๆ และทรัพย์ที่ฝากไว้กับธนาคารก็ยังไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง เหตุที่ไม่สามารถติดตามเราไปในโลกหน้าหรือภพหน้าได้ การฝังขุมทรัพย์ในพระสูตรนี้สรุปได้ดังนี้ 
ในสมัยโบราณนิยมฝังขุมทรัพย์ไว้ในดินลึกจนถึงน้ำก็มี เพื่อประโยชน์ต่างๆ  พอสรุปจุดมุ่งหมายสำคัญของการฝังขุมทรัพย์ได้ ดังนี้

๑. เพื่อให้พ้นจากราชภัย
๒. เพื่อให้พ้นจากโจรภัย
๓. เพื่อใช้หนี้
๔. เพื่อใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย (ยามข้าวยากหมากแพง) 
๕. และเพื่อใช้ในยามมีภัยต่างๆ เกิดขึ้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า การฝังขุมทรัพย์ไว้อย่างนั้นยังไม่ปลอดภัย ยังอาจหายได้ ด้วยเหตุหลายอย่างเช่น 
๑. ขุมทรัพย์เคลื่อนที่ไปจากที่เดิม
๒. บางทีตัวเองก็ลืมที่ฝังไว้ หรือลืมไปเลยคือนึกไม่ได้ว่าเคยฝังขุมทรัพย์ไว้
๓. บางทีนาคเคลื่อนย้ายไปก็มี
๔. บางทียักษ์นำไปก็มี
๕. บางทีญาติพี่น้องที่ชอบกันขโมยไปก็มี 
๖. บางทีเจ้าของทรัพย์ตายไปก่อนที่จะขุดทรัพย์ขึ้นมาใช้ก็มี 
ทรัพย์เหล่านั้นเลยไม่เกิดประโยชน์แก่เจ้าของทรัพย์และญาติพี่น้อง

พระพุทธองค์จึงเสนอให้ฝังขุมทรัพย์ด้วยวิธีใหม่ที่พระองค์ทรงรับรองว่าปลอดภัยและทรัพย์เหล่านั้นจะติดตามเราไปทุกหนทุกแห่งที่เราไปทั้งในโลกนี้และโลกหน้า วิธีฝังขุมทรัพย์ที่พระองค์แนะนำ คือ ฝังไว้ด้วย

๑.​ การให้ทาน
๒. ด้วยการรักษาศีล
๓. ด้วยการสำรวมกาย วาจา ใจ
๔. ด้วยการฝึกฝนอบรมตน
๔.ฝังไว้ในเจดีย์ (ถวายสร้างเจดีย์ หรือบำรุงเจดีย์)
๕. ในพระสงฆ์ (ถวายพระสงฆ์ไม่ใช่ขุดพระสงฆ์แล้วฝังไว้)
๖. ในบุคคลผู้เป็นแขกมาหา
๗. ฝังไว้ในมารดา 
๘. ฝังไว้ในบิดา
๙. ฝังไว้ในพี่ชาย 
 ทรัพย์ที่ฝังไว้ด้วยวิธีนี้ นอกจากจะปลอดภัยและติดตามเราทุกที่แล้วยังนำผลอย่างอื่นมาให้เราอีกมากมาย ดังที่พระองค์ตรัสไว้ ดังนี้ 

๑. มีผิวพรรณงดงาม
๒. มีเสียงไพเราะ
๓. มีทรวดทรงสมส่วน
๔. มีรูปสวย
๕. ได้ความเป็นใหญ่
๖. มีบริวาร
๗. ได้เป็นพระราชาในประเทศ
๘. ได้ความเป็นอิสระ
๙. ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
๑๐. ได้เป็นพระราชาของพวกเทวดา (พระอินทร์/ท้าวสักกะ)
๑๑. ได้มนุษย์สมบัติ
๑๒. ได้สวรรค์สมบัติ
๑๓. ได้บรรลุนิพพาน
๑๔. ได้ความชำนาญในวิชชาและวิมุตติ
๑๕. ได้ปฏิสัมภิทา 
๑๖. ได้วิโมกข์ 
๑๗. ได้เป็นอัครสาวก (ของพระพุทธเจ้า)
๑๘. ได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ
๑๙. ได้พุทธภูมิ (ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า หรือได้เป็นพระพุทธเจ้า)

         พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 

    
 ๘. นิธิกัณฑสูตร
ว่าด้วยการฝังขุมทรัพย์

(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ดังนี้)
         [๑]              คนเราฝังขุมทรัพย์๒ไว้ในที่ลึกจดถึงน้ำก็ด้วยคิดว่า
         เมื่อเกิดกิจที่จำเป็นขึ้น  ขุมทรัพย์นี้จะเป็นประโยชน์แก่เรา
         [๒]              คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก  ก็เพื่อจุดประสงค์นี้ คือ
         เพื่อให้พ้นจากราชภัยที่คอยคุกคาม
         เพื่อให้พ้นจากโจรภัยที่คอยเบียดเบียน
         เพื่อเก็บไว้ใช้หนี้ก็มี เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย๓
         หรือเพื่อใช้ในเวลามีภัยอันตรายต่าง ๆ
         [๓]              ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้อย่างดีในที่ลึกจดน้ำถึงเพียงนั้น
         จะสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมด ตลอดเวลาก็หาไม่
         [๔]              เพราะบางทีขุมทรัพย์ก็เคลื่อนที่ไปก็มี
         บางทีเขาลืมที่ฝังไว้ก็มี
         บางทีพวกนาคเคลื่อนย้ายก็มี
         บางทีพวกยักษ์นำขุมทรัพย์นั้นไปก็มี
         [๕]              หรือบางทีเมื่อเขาไม่เห็นทายาทผู้ไม่เป็นที่รักขโมยขุดเอาไปก็มี
         เมื่อเขาสิ้นบุญ ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ทั้งหมดนั้นก็พินาศหายไป
         [๖]              ขุมทรัพย์๑ที่ผู้ใดจะเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม  
         ฝังไว้ดีแล้ว ด้วยทาน ศีล สัญญมะ และทมะ
         [๗]              ในพระเจดีย์ พระสงฆ์ บุคคล แขกที่มาหา
         ในมารดา บิดา หรือพี่ชาย
         [๘]              ขุมทรัพย์นี้ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว คนอื่นขนเอาไปไม่ได้
         จะติดตามคนฝังตลอดไป
         บรรดาทรัพย์สมบัติที่เขาจำต้องละไป      
         เขาพาไปได้เฉพาะขุมทรัพย์นี้เท่านั้น
         [๙]              ขุมทรัพย์นี้ไม่ทั่วไปแก่คนเหล่าอื่น ทั้งโจรก็ลักเอาไปไม่ได้
         ผู้มีปัญญาควรทำแต่บุญที่จะเป็นขุมทรัพย์ติดตามตนตลอดไป
         [๑๐]             ขุมทรัพย์นี้ให้ผลอันน่าปรารถนาทุกประการ
         แก่เทวดา  และมนุษย์  คือเทวดาและมนุษย์ปรารถนาผลใด ๆ
         ผลนั้น ๆ ทุกอย่าง จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
         [๑๑]             ความมีผิวพรรณงดงาม ความมีเสียงไพเราะ
         ความมีทรวดทรงสมส่วน ความมีรูปสวย
         ความเป็นใหญ่ ความมีบริวาร  ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
         [๑๒]            ความเป็นพระราชาในประเทศ  ความเป็นอิสระ
         ความสุขของความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอันน่าพอใจ
         และแม้ความเป็นเทวราชของเทวดาในหมู่เทพ
         ทั้งหมดก็จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
         [๑๓]            สมบัติของมนุษย์ก็ดี ความยินดีในเทวโลกก็ดี
         สมบัติคือนิพพานก็ดี ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
         [๑๔]             บุคคลอาศัยมิตตสัมปทา
         ประกอบความเพียรโดยแยบคาย
         ก็จะเป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ
         ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
         [๑๕]             ปฏิสัมภิทา  วิโมกข์  สาวกบารมี
         ปัจเจกโพธิ  และพุทธภูมิ
         ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
         [๑๖]             บุญสัมปทานี้มีประโยชน์มากอย่างนี้
         เพราะฉะนั้น  บัณฑิตผู้เป็นปราชญ์
         จึงสรรเสริญภาวะแห่งบุญที่ทำไว้แล้ว


นิธิกัณฑสูตร จบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น