วิทยุธรรมออนไลน์
วัดดอนทองวราราม บ้านดอนหัน-ดงไทรทอง ตำบลโพนงาม อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ Watdontong Bandonhan Phon-ngarm Subdistrict Kamalasai District Kalasin Province
รายการบล็อกของฉัน
วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555
ภาพงานยกเสาเอก เสาโท กุฏิหลังใหม่ในบริเวณวิทยาลัยสงฆ์เลย ๒๓ กันยายน ๒๕๕๕
หลังจากทำพิธีสวดถอดสวดถอนเสร็จแล้ว ก็ทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กุฏิหลังใหม่ นิมนต์พระภิกษุจากวัดศรีสุมังคลาราม บ้านปากหมาก ๔ รูป ซึ่งเป็นพระนิสิตที่ มจร. วิทยาลัยสงฆ์เลย มาร่วมพิธี ประกอบพิธีท่ามกลางแสงแดด กำลังพอดี
เจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้วทำพิธีประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่หลุมและเสาทุกต้น มีโยมจากบ้านปากหมากมาร่วมพิธี ๑ คน (เสื้อลายนั่งพนมมือ) ส่วนช่างที่รับสร้างกุฏิในครั้งนี้ มี ๓ คน เดินทางมาจาก อำเภอเมือง เพชรบูรณ์
วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555
วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555
บทความพิเศษเรื่อง "ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม"
บทความนี้เขียนตอนได้รับนิมนต์ไปเป็นพระวิปัสสนาจารย์อบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ของ มจร. รุ่นที่ ๑๗ ที่ แคมป์สน เขาค้อ เพชรบูรณ์
สนใจอ่านบทความเปิดเว็ปไซด์ข้างล่างนี้
www.obm17.com
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม โดย...พระมหาธานินทร์ อาทิตวโร |
บทความพิเศษ |
เขียนโดย Administrator |
วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2011 เวลา 02:39 น. |
บทความเรื่อง ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม โดย...พระมหาธานินทร์ อาทิตวโร การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นคำที่ข้าพเจ้าได้ฟังแล้วรู้สึกเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และสูงส่งมาก ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครั้งแรก กับคณะวิปัสสนากรรมฐานเคลื่อนที่ซึ่งนำโดยพระเดชพระคุณพระกาฬสินธุ์ธรรมคณี (สมณศักดิ์ในขณะนั้น ต่อมาท่านได้เลื่อนเป็นพระราชธรรมเมธี) รองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่วัดเกษมาคม อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นปีที่ข้าพเจ้าบวชพรรษาแรก ตอนนั้นมีความรู้สึกว่า ตัวเองเป็นผู้มีบุญวาสนามากที่มีโอกาสได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพราะในช่วงนั้นวัดที่บ้านและใกล้เคียงไม่มีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์ในสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ในยุคนั้นเพราะถือว่าเป็นของที่มีเฉพาะในสมัย พุทธกาล จากจุดเริ่มต้นตรงนั้นทำให้ข้าพเจ้ามีความปรารถนาในใจมาตลอดว่า ถ้ามีโอกาสจะหาเวลาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง จนได้เข้ามาเรียนในมหาจุฬาฯ จึงได้มีโอกาสปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ในปีแรก เริ่มที่วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี ปีที่สองที่สำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม จังหวัดชลบุรี เป็นการไปปฏิบัติชดเชย เพราะข้าพเจ้าทำหนังสือขอลาเพื่อเตรียมตัวสอบบาลี ตามปกติต้องไปปฏิบัติที่แคมป์สน (เฉพาะคณะมนุษยศาสตร์ ชั้นปีที่ ๒) การไปปฏิบัติในปีนั้น สภาวธรรมอันหนึ่งได้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าคือความโปร่ง โล่งของจิตใจ ในตอนบ่ายวันหนึ่ง ข้าพเจ้าตัดสินใจไม่กำหนดอารมณ์ภายนอกคือเสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ภายในคือ อาการพอง ยุบของท้อง เพราะยิ่งกำหนดยิ่งทำให้จิตฟุ้งซ่านและเกิดความเครียดจึงเปลี่ยนวิธีด้วย ตนเองด้วยการนั่งกำหนดดูอาการเต้นของหัวใจเฉย ๆ กำหนดตามไป ๆ จนในที่สุดเกิดสภาวะเหมือนกับว่า จิตมันลงล็อคอะไรสักอย่างหนึ่งเกิดแสงสว่างขึ้นในใจและรู้สึกเบาสบาย โปร่ง โล่ง ไปหมด ความรู้สึกตอนนั้นไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้หมด มันมีความสุข ทั้งปีติปนกัน จากนั้นก็พยายามทำเหมือนเดิมอีก แต่สภาวะอันนั้นก็ไม่เกิดขึ้นอีก ได้สอบถามครูบาอาจารย์ผู้มีประสบการณ์ท่านบอกว่า อารมณ์ใดที่เกิดขึ้นแล้วก็จะไม่เกิดอีกเพราะมันเกิดแล้วก็จะเจริญเติบโตขึ้น เป็นอย่างอื่นอุปมาเหมือนต้นไม้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ต้นเดิมก็จะหายไปโดยปริยาย ในปีพ.ศ. ๒๕๕๒ ข้าพเจ้าได้เข้าปฏิบัติที่วัดภัททันตะอาสภาราม จังหวัดชลบุรีในฐานะนิสิตชั้นปริญญาเอก ผลของการปฏิบัติทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจคำว่า “ขณิกสมาธิ” ที่ใช้กับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานมากขึ้น ความเข้าใจของข้าพเจ้าอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ คือเข้าใจว่า ขณิกสมาธิที่ใช้กับวิปัสสนากรรมฐาน คือให้มีสมาธิพอประมาณไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป เปรียบเสมือนชาวนาคลาดนา ที่จะทำการดำนา เขาจะปล่อยน้ำออกจากแปลงนาไม่ให้มีน้ำมากหรือน้อยเกินไป ให้มีพอสมดุลกันกับโคลนตม เพื่อที่จะคลาดได้ลื่นไหลและมองเห็นว่า ตรงไหนราบเรียบแล้วตรงไหนยังเป็นเนินอยู่ ถ้าชาวนาปล่อยให้มีน้ำมากเกินไปก็จะมองไม่เห็น คลาดได้ไม่ดี ถ้าให้มีน้ำน้อยเกินไปก็จะคลาดยาก เพราะโคลนตมจะเหนียวไม่ลื่นไหล ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็เช่นเดียวกันคือใช้สมาธิเพียงเล็กน้อยไม่ให้ สมาธิมากเกินไป ไม่น้อยเกินไป เพราะถ้าสมาธิมากเกินไปก็จะทำให้หลับไม่สามารถกำหนดอารมณ์ที่เกิดขึ้นใน ปัจจุบันได้ ถ้าสมาธิน้อยเกินไปก็จะทำให้จิตฟุ้งซ่านหรือห่อเหี่ยวทำให้เครียดหรือท้อแท้ ได้ วิธีที่ดีที่สุดคือ ทุกอิริยาบถไม่ว่าจะเป็นการ ยืน เดิน นั่ง นอน ต้องให้มีสมาธิเข้าไปหล่อเลี้ยงเสมอ ข้าพเจ้ารู้วิธีนี้แล้วจึงเอาไปปรับใช้กับการปฏิบัติ ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในปีพ.ศ. ๒๕๕๔ ช่วงเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าได้ไปปฏิบัติที่วัดภัททันตะอีกครั้ง คราวนี้ข้าพเจ้าได้รู้ว่า การกำหนดลอย ๆ โดยสติไม่คมชัดไม่สามารถจะหยุดยั้งอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ หมายความว่า เมื่อเราคิด เรากำหนดว่า คิดหนอ คิดหนอ คิดหนอ ครบ ๓ ครั้งแล้วก็กำหนดอิริยาบถอื่นต่อไป เช่น การเดินเป็นต้น ไม่สามารถหยุดยั้งความคิดได้ อุปมาเหมือนกับการหมุนเกลียวที่สึกหรอ หรืออุปมาเหมือนกับการดาวโหลดโปรแกรมหรือข้อมูลบางอย่างจากอินเตอร์เน็ต ถ้ามันโหลดไม่ติดมันก็จะหมุนอยู่อย่างนั้นแต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ทำให้เสียเวลาเปล่า เมื่อข้าพเจ้ารู้อย่างนี้แล้วจึงได้เปลี่ยนวิธีใหม่คือ ตั้งใจกำหนดทุกครั้งที่อารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น ผลปรากฏว่า การปฏิบัติได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีอาจารย์ที่ทำหน้าที่นำปฏิบัติและสอบอารมณ์แนะนำให้หลับตากำหนดดูรูปยืน ๓ รอบ คือ รอบแรกตั้งแต่ศีรษะลงมาจนถึงปลายเท้า รอบที่สองตั้งแต่ปลายเท้าจนถึงศีรษะ รอบที่ ๓ ตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้าอีก ข้าพเจ้าลองทำตาม รู้สึกว่าไม่ก้าวหน้าสติไม่มีกำลัง จึงเปลี่ยนมากำหนดดูที่ต้นจิตคือตรงลิ้นปี่ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีดั้งเดิมที่หลวงพ่อภัททันตะแนะนำลูกศิษย์และลูกศิษย์ก็ นำมาสอนลูกศิษย์อีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกว่า วิธีนี้ทำให้เกิดสติดีกว่า (สำหรับข้าพเจ้า คนอื่นอาจจะเห็นแย้งก็ได้) อีกอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้า เข้าใจเพิ่มขึ้นก็คือ ความเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง คือ เข้าใจว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด เราก็ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ไปทัดทานหรือทวนกระแส เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วทำให้มีความทุกข์น้อยลง ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่คนส่วนมากเป็นทุกข์ เพราะไปปรุงแต่งอยากให้มันเป็นอย่างที่ตัวเองต้องการหรือปรารถนา ไม่ได้กำหนดรู้ตามที่มันเป็น ซึ่งเป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าเทศน์สอนพวกปัญจวัคคีย์ครั้งแรกในปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนหนึ่งที่ว่า เมื่อทุกข์เกิดขึ้นให้กำหนดรู้ทุกข์แล้วจึงกำหนดหาสาเหตุของมัน เนื้อความตรงนี้เราเคยท่องเคยสวดมาตั้งนานแล้ว แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจความหมายที่เป็นสภาวธรรม เพียงแต่เข้าใจตามคำแปลที่แปลกันสืบ ๆ มา |
แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2011 เวลา 19:24 น. |
วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555
วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555
หลวงพ่อโชดก๒ พระธรรมธีรราชมหามุนี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ
๒. พุทธบูชา
๓. ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก
๔. วิปัสสนาเบื้องต้น ๑
๕. วิปัสสนาเบื้องต้น ๒
หลวงพ่อโชดก (พระธรรมธีรราชมหามุนี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ
๒.อารมณ์ของวิปัสสนาที่ถูกต้อง
๓.ทำบุญอย่างไรจึงจะไม่บาป
๔. อานิสงส์ของวิปัสสนา
วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ติโรกุฑฑสูตร ว่าด้วยเปรตของพระเจ้าพิมพิสาร
ติโรกุฑฑสูตร ว่าด้วยเปรตของพระเจ้าพิมพิสาร
หรือเปรตที่อยู่ภายนอกฝาเรือน
พระสูตรนี้กล่าวถึงเรื่องราวของพวกเปรต
หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว คำว่า “เปตา”
แปลว่า ผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือแปลให้เข้าใจง่ายก็คือ ผู้ที่ตายไปแล้ว
ในที่นี้หมายเอาผู้ที่ไปเกิดในภพของเปรตหรือเปตวิสัย
สัตว์จำพวกนี้จะถูกส่งกลับมาหาญาติปีละครั้งเพื่อรับทักษิณาหรือส่วนบุญจากญาติของตน
ถ้าเปรตตนไหนยังพอมีบุญอยู่บ้าง
พวกญาติก็จะระลึกถึงแล้วก็จะจัดข้าวปลาอาหารและของควรเคี้ยวที่ญาติชอบไว้รอพวกญาติของตนด้วยการนำไปถวายพระสงฆ์แล้วอุทิศส่วนบุญให้
พวกเปรตเหล่านั้น
เมื่อได้ส่วนบุญแล้วก็จะพากันให้พรแก่ญาติของตนตามอัธยาศัย
เช่น ให้พรว่า ขอให้ญาติของจึงเจริญรุ่งเรือง บวงพวกก็จะคอยมาดูแลรักษาญาติของตนให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งหลาย
บางพวกบุญน้อยหรือมีกรรมเก่ายังหนักอยู่กลับมาแล้วญาติไม่ระลึกถึง จึงไม่ได้จัดไว้
พวกเปรตเหล่านั้นจะเสียใจร้องไห้กลับไป
ที่
พระพุทธองค์ตรัสพระสูตรนี้เพราะสืบเนื่องมาจากเปรตที่เคยเป็นญาติของพระเจ้า
พิมพิสาร พระราชาแห่งแคว้นมคธ
มาเข้าปรากฏให้เห็นในความฝันด้วยรูปร่างผอมดำและเปลือยกาย พระองค์จึงทำบุญอุทิศไปให้
พวกเปรตเหล่านั้นจึงพ้นจากสภาพนั้นกลายเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์ผิวพรรณ ผ่องใส
สวมใส่เสื้อผ้างดงาม
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ที่ภพของพวกเปรตนั้นไม่มีการทำไร่ไถนา ไม่มีการเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย
ไม่มีการค้าขายด้วยเงินและทองเหมือนในโลกมนุษย์พวกเปรตเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ได้ด้วยทานที่พวกญาติอุทิศไปให้
อาจจะมีคำถามว่า
แล้วทานที่พวกญาติอุทิศไปให้แต่โลกนี้จะถึงพวกญาติเหล่านั้นหรือ พระองค์ยืนยันว่า
ถึง
ทรงอุปมาให้ฟังว่า เปรียบเหมือนน้ำฝนที่ตกลงที่ ดอน
ย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด
ทานที่ทายกถวายแต่โลกนี้ย่อมสำเร็จแก่ญาติผู้ที่ล่วงลับไป ฉันนั้น
และเปรียบเหมือนห้วงน้ำที่เต็มด้วยน้ำ ย่อมทำให้มหาสมุทรเต็มได้ฉันใด
ทานที่ญาติถวายแล้วแต่โลกนี้ย่อมสำเร็จแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วฉันนั้น
พระ สูตรนี้พระสงฆ์นำมาเป็นบทอนุโมทนาเวลาญาติโยมทำบุญอุทิศแก่ญาติผู้เสีย
ชีวิต
แต่ในประเทศไทย นำมาเฉพาะส่วนสุดท้วย คือ เริ่มตั้งแต่ อะทาสิ เม
อะกาสิ เม เป็นต้นไป
พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่
๒๕ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
๗. ติโรกุฑฑสูตร๑
ว่าด้วยเรื่องเปรตที่อยู่ภายนอกฝาเรือน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้
เพื่ออนุโมทนาพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
ดังนี้)
[๑] พวกเปรตพากันมาสู่เรือนของตน๓
บ้างยืนอยู่ที่ฝาเรือนด้านนอก
บ้างยืนอยู่ที่ทางสี่แพร่ง สามแพร่ง
บ้างยืนพิงอยู่ที่บานประตู
[๒] เมื่อมีข้าวและน้ำดื่มมากมาย
เมื่อของเคี้ยวของกินถูกจัดเตรียมไว้แล้ว
ญาติสักคนก็ไม่นึกถึงเปรตเหล่านั้น
เพราะกรรมของสัตว์เหล่านั้นเป็นปัจจัย
[๓] เหล่าชนผู้อนุเคราะห์ ย่อมถวายอาหารและน้ำดื่ม
ที่สะอาดประณีต เหมาะแก่พระสงฆ์ตามกาล
อุทิศให้ญาติทั้งหลาย(ที่เกิดเป็นเปรต)อย่างนี้ว่า
ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของเรา
ขอญาติทั้งหลาย จงเป็นสุขเถิด
[๔] ส่วนญาติที่เกิดเป็นเปรตเหล่านั้น
พากันมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ให้ทานนั้น
ย่อมอนุโมทนาในอาหารและน้ำดื่มเป็นอันมากโดยเคารพว่า
[๕] เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด พวกเราจึงได้สุขสมบัติเช่นนี้
ขอญาติเหล่านั้นของพวกเราจงมีอายุยืน
อนึ่ง
การบูชา ญาติผู้เป็นทายกก็ได้ทำแก่พวกเราแล้ว
และทายกก็ไม่ไร้ผล
[๖] ในเปตวิสัย๑นั้น ไม่มีกสิกรรม (การทำไร่ไถนา)
ไม่มีโครักขกรรม (การเลี้ยงวัวไว้ขาย)
ไม่มีพาณิชกรรม (การค้าขาย)
เช่นนั้น
การแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน ก็ไม่มี
ผู้ที่ตายไปเกิดเป็นเปรตในเปตวิสัยนั้น
ดำรงชีพด้วยผลทานที่พวกญาติอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
[๗] น้ำฝนที่ตกลงมาในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จผลแน่นอนแก่พวกเปรต ฉันนั้นเหมือนกัน
[๘] ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยม ฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
[๙] กุลบุตรเมื่อระลึกถึงอุปการะ
ที่ญาติผู้ละไปแล้ว(เปรต)เคยทำไว้ในกาลก่อนว่า
ผู้นั้นได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ได้ทำสิ่งนี้แก่เรา
ได้เป็นญาติ
มิตร และสหายของเรา
ก็ควรถวายทักษิณาทานอุทิศให้แก่ญาติผู้ละไปแล้ว
[๑๐] การร้องไห้ ความเศร้าโศก
หรือความร่ำไห้คร่ำครวญอย่างอื่นใด
ใคร ๆ ไม่ควรทำเลย เพราะการร้องไห้ เป็นต้นนั้น
ไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
ญาติทั้งหลายก็ยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น
[๑๑] ส่วนทักษิณาทานนี้แล ที่ตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์
ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลสิ้นกาลนาน
แก่หมู่ญาติที่เกิดเป็นเปรตนั้น โดยพลันทีเดียว
[๑๒] ญาติธรรม๑นี้นั้น ท่านแสดงออกแล้ว
การบูชาญาติที่ตายไปเป็นเปรต
ท่านทำอย่างยิ่งใหญ่แล้ว
ทั้งกำลังกายของภิกษุ ท่านก็เพิ่มให้แล้ว
เป็นอันว่าท่านสั่งสมบุญไว้มิใช่น้อยเลย
ติโรกุฑฑสูตร จบ
วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555
วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555
นิธิกัณฑสูตร ว่าด้วยการฝังขุมทรัพย์
พระสูตรนี้มีเนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อชาวพุทธมากเพราะพูดถึงการฝังขุมทรัพย์ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการฝังขุมทรัพย์ สามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตจริงได้ ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีธนาคารเป็นสถาบันหลักในการฝากทรัพย์ แต่การนำเงินไปฝากธนาคารก็ยังไม่มั่นคงอยู่ดี เพราะเรายังสามารถไปเบิกมาใช้ได้ เผลอๆ อาจถูกโจรกรรมไปได้ดังที่มีข่าวปรากฏอยู่บ่อยๆ และทรัพย์ที่ฝากไว้กับธนาคารก็ยังไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง เหตุที่ไม่สามารถติดตามเราไปในโลกหน้าหรือภพหน้าได้ การฝังขุมทรัพย์ในพระสูตรนี้สรุปได้ดังนี้
ในสมัยโบราณนิยมฝังขุมทรัพย์ไว้ในดินลึกจนถึงน้ำก็มี เพื่อประโยชน์ต่างๆ พอสรุปจุดมุ่งหมายสำคัญของการฝังขุมทรัพย์ได้ ดังนี้
๑. เพื่อให้พ้นจากราชภัย
๒. เพื่อให้พ้นจากโจรภัย
๓. เพื่อใช้หนี้
๔. เพื่อใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย (ยามข้าวยากหมากแพง)
๕. และเพื่อใช้ในยามมีภัยต่างๆ เกิดขึ้น
พระพุทธองค์ตรัสว่า การฝังขุมทรัพย์ไว้อย่างนั้นยังไม่ปลอดภัย ยังอาจหายได้ ด้วยเหตุหลายอย่างเช่น
๑. ขุมทรัพย์เคลื่อนที่ไปจากที่เดิม
๒. บางทีตัวเองก็ลืมที่ฝังไว้ หรือลืมไปเลยคือนึกไม่ได้ว่าเคยฝังขุมทรัพย์ไว้
๓. บางทีนาคเคลื่อนย้ายไปก็มี
๔. บางทียักษ์นำไปก็มี
๕. บางทีญาติพี่น้องที่ชอบกันขโมยไปก็มี
๖. บางทีเจ้าของทรัพย์ตายไปก่อนที่จะขุดทรัพย์ขึ้นมาใช้ก็มี
ทรัพย์เหล่านั้นเลยไม่เกิดประโยชน์แก่เจ้าของทรัพย์และญาติพี่น้อง
พระพุทธองค์จึงเสนอให้ฝังขุมทรัพย์ด้วยวิธีใหม่ที่พระองค์ทรงรับรองว่าปลอดภัยและทรัพย์เหล่านั้นจะติดตามเราไปทุกหนทุกแห่งที่เราไปทั้งในโลกนี้และโลกหน้า วิธีฝังขุมทรัพย์ที่พระองค์แนะนำ คือ ฝังไว้ด้วย
๑. การให้ทาน
๒. ด้วยการรักษาศีล
๓. ด้วยการสำรวมกาย วาจา ใจ
๔. ด้วยการฝึกฝนอบรมตน
๔.ฝังไว้ในเจดีย์ (ถวายสร้างเจดีย์ หรือบำรุงเจดีย์)
๕. ในพระสงฆ์ (ถวายพระสงฆ์ไม่ใช่ขุดพระสงฆ์แล้วฝังไว้)
๖. ในบุคคลผู้เป็นแขกมาหา
๗. ฝังไว้ในมารดา
๘. ฝังไว้ในบิดา
๙. ฝังไว้ในพี่ชาย
ทรัพย์ที่ฝังไว้ด้วยวิธีนี้ นอกจากจะปลอดภัยและติดตามเราทุกที่แล้วยังนำผลอย่างอื่นมาให้เราอีกมากมาย ดังที่พระองค์ตรัสไว้ ดังนี้
๑. มีผิวพรรณงดงาม
๒. มีเสียงไพเราะ
๓. มีทรวดทรงสมส่วน
๔. มีรูปสวย
๕. ได้ความเป็นใหญ่
๖. มีบริวาร
๗. ได้เป็นพระราชาในประเทศ
๘. ได้ความเป็นอิสระ
๙. ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
๑๐. ได้เป็นพระราชาของพวกเทวดา (พระอินทร์/ท้าวสักกะ)
๑๑. ได้มนุษย์สมบัติ
๑๒. ได้สวรรค์สมบัติ
๑๓. ได้บรรลุนิพพาน
๑๔. ได้ความชำนาญในวิชชาและวิมุตติ
๑๕. ได้ปฏิสัมภิทา
๑๖. ได้วิโมกข์
๑๗. ได้เป็นอัครสาวก (ของพระพุทธเจ้า)
๑๘. ได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ
๑๙. ได้พุทธภูมิ (ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า หรือได้เป็นพระพุทธเจ้า)
พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
๘. นิธิกัณฑสูตร
ว่าด้วยการฝังขุมทรัพย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี
ดังนี้)
[๑] คนเราฝังขุมทรัพย์๒ไว้ในที่ลึกจดถึงน้ำก็ด้วยคิดว่า
เมื่อเกิดกิจที่จำเป็นขึ้น ขุมทรัพย์นี้จะเป็นประโยชน์แก่เรา
[๒] คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก ก็เพื่อจุดประสงค์นี้ คือ
เพื่อให้พ้นจากราชภัยที่คอยคุกคาม
เพื่อให้พ้นจากโจรภัยที่คอยเบียดเบียน
เพื่อเก็บไว้ใช้หนี้ก็มี
เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย๓
หรือเพื่อใช้ในเวลามีภัยอันตรายต่าง
ๆ
[๓] ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้อย่างดีในที่ลึกจดน้ำถึงเพียงนั้น
จะสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมด
ตลอดเวลาก็หาไม่
[๔] เพราะบางทีขุมทรัพย์ก็เคลื่อนที่ไปก็มี
บางทีเขาลืมที่ฝังไว้ก็มี
บางทีพวกนาคเคลื่อนย้ายก็มี
บางทีพวกยักษ์นำขุมทรัพย์นั้นไปก็มี
[๕] หรือบางทีเมื่อเขาไม่เห็นทายาทผู้ไม่เป็นที่รักขโมยขุดเอาไปก็มี
เมื่อเขาสิ้นบุญ
ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ทั้งหมดนั้นก็พินาศหายไป
[๖] ขุมทรัพย์๑ที่ผู้ใดจะเป็นสตรีก็ตาม
เป็นบุรุษก็ตาม
ฝังไว้ดีแล้ว
ด้วยทาน ศีล สัญญมะ และทมะ
[๗] ในพระเจดีย์ พระสงฆ์ บุคคล
แขกที่มาหา
ในมารดา
บิดา หรือพี่ชาย
[๘] ขุมทรัพย์นี้ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว
คนอื่นขนเอาไปไม่ได้
จะติดตามคนฝังตลอดไป
บรรดาทรัพย์สมบัติที่เขาจำต้องละไป
เขาพาไปได้เฉพาะขุมทรัพย์นี้เท่านั้น
[๙] ขุมทรัพย์นี้ไม่ทั่วไปแก่คนเหล่าอื่น
ทั้งโจรก็ลักเอาไปไม่ได้
ผู้มีปัญญาควรทำแต่บุญที่จะเป็นขุมทรัพย์ติดตามตนตลอดไป
[๑๐] ขุมทรัพย์นี้ให้ผลอันน่าปรารถนาทุกประการ
แก่เทวดา และมนุษย์
คือเทวดาและมนุษย์ปรารถนาผลใด ๆ
ผลนั้น
ๆ ทุกอย่าง จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๑] ความมีผิวพรรณงดงาม
ความมีเสียงไพเราะ
ความมีทรวดทรงสมส่วน
ความมีรูปสวย
ความเป็นใหญ่
ความมีบริวาร
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๒] ความเป็นพระราชาในประเทศ ความเป็นอิสระ
ความสุขของความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอันน่าพอใจ
และแม้ความเป็นเทวราชของเทวดาในหมู่เทพ
ทั้งหมดก็จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๓] สมบัติของมนุษย์ก็ดี
ความยินดีในเทวโลกก็ดี
สมบัติคือนิพพานก็ดี
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๔] บุคคลอาศัยมิตตสัมปทา
ประกอบความเพียรโดยแยบคาย
ก็จะเป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๕] ปฏิสัมภิทา วิโมกข์
สาวกบารมี
ปัจเจกโพธิ และพุทธภูมิ
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๖] บุญสัมปทานี้มีประโยชน์มากอย่างนี้
เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เป็นปราชญ์
จึงสรรเสริญภาวะแห่งบุญที่ทำไว้แล้ว
นิธิกัณฑสูตร จบ
วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555
วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)