ตัวอย่างการเทศน์งานศพ
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ฯ
ชีวิตํ พยาธิ กาโล จ เทหนิกฺเขปนํ
คติ
ปญฺเจเต ชีวโลกสฺมึ อนิมิตฺตา น นายเรติ
ณ บัดนี้ จักได้แสดงพระธรรมเทศนาใน อนิมิตตธรรมกถา เพื่อประดับสติปัญญา เพิ่มปัญญาบารมี แก่เจ้าภาพและสาธุชนทั้งหลาย พอสมควรแก่กาลเวลา ณ โอกาสบัดนี้
การฟังเทศน์ก็เป็นความดีอย่างหนึ่ง
อันว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นกฎกติกาหรือจราจรของชีวิต
ธรรมดารถยนต์ที่ขับไปตามกฎจราจร ย่อมไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย ฉันใด คนเราแต่ละคนก็เหมือนรถยนต์แต่ละคัน
ที่แล่นไปบนถนนแห่งวิถีชีวิต ถ้าทุกคนได้ปฏิบัติตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา
อันเป็นเสมือนหนึ่งกฎจราจรชีวิตแล้ว ชีวิตก็จะปลอดภัย ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข เพราะฉะนั้น
การฟังพระธรรมเทศนาจึงต้องฟังให้รู้เรื่อง จำให้ได้ แล้วนำไปปฏิบัติจึงนับว่าการฟังธรรมะ
แล้วจดจำนำไปปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกๆท่าน
โบราณท่านกล่าวไว้ว่า “อันคนดีอยู่ไหนใครก็รัก
จากเขาก็อาลัย ตายก็มีคนเสียดายคิดถึง” ตามประวัติ ........ เป็นคนดีของพ่อแม่
เป็นกัลยาณมิตรที่ดีของเพื่อนๆ เป็นลูกน้องที่ดีของนาย และเป็นเจ้านายที่ดีของลูกน้อง
ฉะนั้น เมื่อท่านมาด่วนจากไปในขณะชีวิตกำลังรุ่งโรจน์ กำลังเป็นที่ชื่นใจของพ่อแม่
เป็นที่ชื่นชมของผู้บังคับบัญชา เป็นที่ชื่นชอบของลูกน้อง เป็นความหวังของกองทัพ และเป็นพลังของประเทศชาติ
อาศัยเหตุที่ท่านผู้ล่วงลับเป็นคนดีดังกล่าวแล้ว การจะหักห้ามจิตใจมิให้หวั่นไหวหรือเศร้าโศกเสียใจ
ในการจากไปของท่านคงจะห้ามมิได้ เข้าลักษณะว่า “จะห้ามน้ำตามิให้ไหลจะห้ามหัวใจมิให้สะท้อน”
ย้อนระลึกนึกถึง ....... ผู้จากไปห้ามมิได้แน่ๆ
ท่านพระครูพิศาลธรรมโกศล หรือ “หลวงตา-แพรเยื่อไม้”
วัดประยุรวงศาวาส ท่านเปรียบเทียบโลกกับชีวิตไว้น่าคิดตอนหนึ่งว่า
อันโลกเรานี้เหมือนโรงละคร
ปวงนิกรเราท่านเกิดมา
ต่างร่ายรำทำทีท่า
ตามลีลาของบทละคร
บางครั้งก็เศร้า
บางคราวก็สุข บางทีก็ทุกข์หัวอกสะท้อน
มีร้างมีรักมีจากมีจร
พอจบละครชีวิตก็ลา
อันวรรคตอนละครชีวิต
เป็นสิ่งน่าคิดนะท่านเจ้าขา
กว่าฉากจะปิดชีวิตจะลา
ต้องทรมากันเหลือประมาณ
มิใช่เทวาจะมาอุ้มสม
มิใช่พระพรหมจะมาเสกสรร
มีใช่ศุกร์,เสาร์,อาทิตย์หรือจันทร์ จะยากดีมีจนก็สุดแต่วิถี
กฎแห่งกรรมทำดีก็ได้ดี
ทำชั่วแล้วก็มีแต่เลวทราม
ความดีทำไว้ถึงคราวตายจาก
ก็มีคนอยากช่วยแบกช่วยหาม
หากทำชั่วก็พาตัวตกต่ำ
ถึงมีหน้าก็ต้องคว่ำเหมือนหอยโข่งหอยแครงฯ
คติธรรมทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นฉากและลีลาของชีวิต
ทุกชีวิตเกิดมาล้วนเป็นตัวละครเอกของโลก ที่ได้รับบทบาทลีลาคนละแบบไม่เหมือนกัน แต่ละครที่จะตรึงตราตรึงใจผู้ชม
ได้รับความนิยมชมชื่นในบทบาทลีลานั้น แสดงว่าท่านไม่แสดงนอกบทบาท บางท่านแม้จะลีลาท่าทางดีแต่แสดงนอกบทบาท
ชอบเป็นผู้ร้ายมากกว่าจะเป็นพระเอก นางเอก ก็หาได้รับความนิยมชมชอบไม่ ท่านทั้งหลายทำอย่างไรเมื่อถึงคราวปิดฉากชีวิตจะมีคนบ่นเสียดายอาลัยหาเฉกเช่น.....
บ้าง?
แท้จริงเรื่องความเป็นความตาย
แม้จะทราบกันอยู่โดยทั่วไปว่าเป็นธรรมดาของชีวิตเหมือนพระอาทิตย์พระจันทร์ขึ้นแล้วก็ตก
ทำไมเราจึงไม่หวั่นไหวหรือเศร้าโศกเสียใจในการจากไปของสิ่งเหล่านั้น ก็เพราะอาศัยความคุ้นชินและเข้าใจในกฎธรรมชาติว่าทุกสิ่งมีปกติเป็นเช่นนั้น
แต่สำหรับชีวิต...เป็นสิ่งผูกพันใกล้ชิดลึกซึ้งยากที่จะวางลงปลงตก ที่เรียกกันว่า “ห่วง” เมื่อประสบพบเข้าหรือพลัดพรากจากกันโดยกะทันหัน
ขาดการซักซ้อมเตรียมจิตเตรียมใจก็เป็นเหตุให้หวั่นไหวตามวิสัยปุถุชน
ความตาย...
เป็นสมบัติของทุกชีวิต ที่ติดตามมาตั้งแต่เกิด เกลียดก็ต้องพบชอบก็ต้องเจอ จะหลบลี้หนีไม่ได้
อุทธรณ์ฎีกาหรือต่อรองขอร้องไม่ได้ ดังความในแหล่ของพระเทศน์ตอนหนึ่งว่า
“เมื่อถึงคราวม้วยใครจะช่วยได้
ต่อให้เหาะขึ้นไปอยู่บนสรวงสวรรค์
ก็จำต้องพรากลงมาจากวิมาน
เพราะยมบาลท่านไม่รับสินบน
ถึงคราวตายแน่ยาแก้ไม่มี
ตายแน่เราหนีกันไม่พ้น
จะเป็นราชาหรือมหาโจร
ต้องทิ้งกายสกนธ์สู่ยังเชิงตะกอนฯ
อันความตายชายนารีหนีไม่พ้น
จะมีจนก็ต้องตายกลายเป็นผี
ถึงแสนรักก็ต้องร้างห่างทันที
ไม่วันนี้ก็วันหน้าช้าหรือเร็วฯ
จะหนีอื่นหมื่นแสนในแดนไกล
พอย้ายโยกหลบลี้หนีพ้นได้
แต่หนีหนึ่งซึ่งมีชื่อคือหนีตาย
หนีไม่ได้ใครไม่พ้นสักคนเดียวฯ
ฉะนั้น
เมื่อที่สุดมาถึงก็จำต้องจากกันไป บางคราวพ่อแม่ตายก่อนลูก บางครั้งลูกตายก่อนพ่อแม่เอาแน่ไม่ได้
บางรายตายพร้อมกันทั้งพ่อแม่ลูกก็มี อย่างไรก็ตามท่านบอกว่า “จากกันยามเป็นได้เห็นน้ำใจ
จากกันยามตายได้เห็นน้ำตา” อันน้ำตาเป็นเครื่องวัดค่าราคาคน คนไม่ดีย่อมไม่มีใครหลั่งน้ำตาให้
พวงมาลัยก็ดี พวงหรีดก็ดี ที่ท่านทั้งหลายนำมามอบแก่ท่านเจ้าภาพนั้น มิได้เป็นการอาลัยแก่ผู้ตายเพียงอย่างเดียว
แต่เป็นเครื่องแสดงน้ำใจหรือวัดน้ำใจของท่านด้วย อันน้ำใจเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์มาก
บันดาลได้ทุกอย่างยากที่จะหาน้ำใดเสมอเหมือน ดังท่านกล่าวไว้ว่า “น้ำบ่อคลองยังเป็นรองน้ำใจ น้ำที่ไหนๆก็สู้น้ำใจไม่ได้” “คนจะดีเพราะว่ามีน้ำใจ คนจะร้ายเพราะน้ำใจไม่มี” ยามใดเล่าที่เราควรจะแสดงน้ำใจหรือเห็นใจกัน
ท่านสอนให้ดูเพียง ๓ ยาม คือ
๑.
ยามจน
๒.
ยามเจ็บ
๓.
ยามจาก
ทั้งสามยามนี้แหละจะเป็นโอกาสหรือเวลาพิสูจน์น้ำใจกัน
ยามยากจน,
ขัดสน มีผู้ใดเกื้อหนุนเจือจุนอนุเคราะห์สงเคราะห์เราบ้าง, ยามเจ็บไข้ได้พยาธิ, ใครเยี่ยมยามถามข่าวสารทุกข์สุกดิบเราบ้าง
และสุดท้ายยามจาก...หมดลมแล้วยังจะมีใครร่วมอาลัยในการจากไปของเราบ้างฯ
จึงสรุปได้ว่า
พวงหรีด ดอกไม้ พวงมาลัย และอื่นๆ ที่ท่านทั้งหลายได้นำมาเป็นจำนวนมาก เป็นเครื่องวัดถึงค่าหรือราคาของผู้จากไป
และวัดน้ำใจของผู้อยู่ภายหลัง ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชาที่ให้เกียรติมา เป็นเครื่องวัดถึงคุณธรรม
คือเมตตากรุณาธรรม ที่มีต่อท่านเจ้าภาพและผู้วายชนม์
เครื่องบินก็ดี
เรือเดินทะเลก็ดี จะไปสู่จุดหมายปลายทางหรือไปตรงเป้าหมายได้ต้องอาศัยเข็มทิศ มีปัญหาหรืออุปสรรคขัดข้องก็มีสัญญาณบอกเหตุ
แต่ชีวิตกลับตรงกันข้าม หามีเข็มทิศหรือมีเครื่องหมายอะไรบอกเหตุหรือเป็นไปไม่ ดังพระบาลีที่ได้ยกมาเป็นอุเทสเทศนา
ณ เบื้องต้นว่า
ชีวิตํ
พฺยาธิ กาโล จ เทหนิกฺเขปนํ คติ
ปญฺเจเต
ชีวโลกสฺมึ อนิมิตฺตา น นายเร.
แปลเป็นไทยถือใจความว่า
ชีวิต
(ความเป็น) ๑. พยาธิ (ความเจ็บป่วย) ๑. กาละ
(เวลาเจ็บหรือจาก) ๑. เทหนิกเขปนะ (สถานที่ๆ จะทอดร่างลงไปตาย)
๑. คติ (ที่หมายภายหลังสิ้นชีวิต) ๑. ฐานะ ๕ อย่างนี้ไม่มีนิมิตเครื่องหมายบอกเหตุล่วงหน้า
เป็นธรรมชาติที่บอกไม่ได้ทายไม่ถูก
เหตุให้ตายดังได้กล่าวแต่ต้นว่า ความตายเป็นสถานีสุดท้ายของชีวิต
เป็นสมบัติของชีวิตที่ทุกชีวิตจะต้องประสบเหตุที่จะทำให้สิ้นชีวิตนั้น ท่านกำหนดไว้
๔ ประการ คือ
๑.
ตายเพราะสิ้นอายุ
๒.
ตายเพราะสิ้นกรรม
๓.
ตายเพราะสิ้นทั้งอายุและสิ้นกรรม
๔.
ตายเพราะมีกรรมมาตัดรอน
ขั้นตอนความตาย
ความตายนั้นเมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า
มี ๓ ระดับ ดังนี้
๑.
ตายเมื่อแก่
(ปัจฉิมวัย) อายุ ๕๐ ปีล่วงแล้ว
๒.
ตายก่อนแก่
(มัชฌิมวัย) อายุ ๒๕-๕๐ ปี
๓.
ตายโดยไม่มีโอกาสจะได้รู้จักคำว่าแก่ (ปฐมวัย) อายุแรกเกิด - ๒๕ ปี หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า...
๑.
ตายตามคิว
(ตายเมื่อแก่)
๒.
ตายแซงคิว
(ตายก่อนแก่)
๓.
ตายลัดคิว
(ตายโดยไม่มีโอกาสจะรู้จักคำว่าแก่)
ปกติงานศพถือว่าเป็นงานเสีย...นับแต่เสียชีวิต
เสียใจ เสียเวลา เสียทรัพย์ คิดๆดูเหมือนมีแต่เสียไม่มีได้ แต่วิสัยบัณฑิตชน พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นสาระให้เกิดสาระ
ทำสิ่งที่เป็นโทษให้กลายเป็นคุณ ทำสิ่งที่ปราศจากประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ ฉะนั้นแม้ซากศพจะหาค่ามิได้ในแง่ของเนื้อหนัง
ดังคำที่ว่า
อันเป็ดไก่ควายวัวเนื้อตัวมันมีค่า
ถึงคราวล้มตายก็ขายได้ราคา
เป็นสินค้ามีคนต้องการ
แต่คนเราตายกายเน่าเหม็น
มองไม่เห็นเป็นแก่นสาร
ยามสดชื่นอยู่ก็รักกัน
คนนี้ของฉันคนนั้นของแก
แต่พอตายแหง๋แก๋ก็ไม่ใช่ของแกของฉันฯ
เมื่อเป็นเช่นนี้ประโยชน์ของงานศพอยู่ตรงไหน? ประโยชน์ของงานศพมี
๕ ประการ ซึ่งเป็นการถอดความจากพระคาถาในติโรกุฑฑสูตร ซึ่งพระสงฆ์นำมาอนุโมทนาหลังจาก
ยถาสัพพีฯ ว่า โส ญาติธมฺโม จ อยํ นิทสฺสิโต. เป็นอาทิ แปลถอดใจความเป็นภาษาไทยได้
ดังนี้
๑.
ได้บอกความเป็นญาติ
-
ทั้งญาติโดยสายโลหิตและญาติธรรม
๒.
ได้ประกาศเกียรติคุณ
-
ทั้งของผู้ตายและของเจ้าภาพ
๓.
ได้สนับสนุนคนดี
-
ถวายกำลังแก่สมณะพระสงฆ์ผู้ดำรงพระศาสนา
๔.
ได้แสดงน้ำใจไมตรีต่อเจ้าภาพ
-
เห็นใจในโอกาสประสบพบกับความสูญเสีย
๕.
ได้ซึมซาบในสัจจธรรม
-
เข้าใจในกฎธรรมชาติอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ว่าถึงประโยชน์ของการมางานศพแล้ว
คราวนี้จะได้ว่าถึงประโยชน์ของความตายบ้าง อันความตายหากค้นให้พบหาให้เจอ
จะพบว่าในความตายนั้นมีสาระแก่นสารที่น่าศึกษามากมายหลายสถาน แต่เพื่อให้เหมาะแก่เวลาจักนำมากล่าวโดยย่อๆ
สัก ๓ ประการ คือ
๑.
ทำให้เห็นความดีของผู้ตายเด่นชัดขึ้น
๒.
ทำให้ญาติมิตรพี่น้องปรองดองสามัคคีกันกว่าแต่ก่อน
๓.
ก่อให้เกิดอัปมาทธรรม ความไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต
ประการที่
๑ ช่วยให้เห็นความดีของผู้ตายเด่นชัดขึ้น ข้อนี้อุปมาเหมือนต้นไม้ใหญ่ ที่เคยให้ร่มเงาและที่อยู่อาศัยแก่หมู่วิหคแก่นกกาตลอดถึงมนุษย์
เมื่อธรรมชาตินั้นยังอยู่ก็มิสู้ได้คำนึงถึงคุณค่า ต่อเมื่อใดถูกพายุพัดโค่นหรือถูกตัดไปเสียแล้วยามนั้นคุณค่าของโพธิ์ไทรจะผุดงอกในความรู้สึกกว่าปกติ
อีกอย่างคล้ายเวลาหิวกระหายใคร่จะดื่มน้ำ
มีภาชนะเช่นแก้วหรือขันใสให้ดื่ม จะทานอาหารมีช้อนมีจานใส่ให้บริโภค ยามที่แก้ว, ขัน, ช้อน, จาน ยังอยู่ก็มิสู้จะเห็นความสำคัญนักปล่อยเกะกะทิ้งขว้าง
ต่อเมื่อใดจะทานอาหาร ช้อนจานไม่มีจะดื่มน้ำแก้วก็แตกขันก็หาย นั่นแหละคุณค่าของสิ่งต่างๆเหล่านี้จะผุดงอกในจิตสำนึกมากกว่าเดิม
แม้ชีวิตคนก็เช่นเดียวกัน รวมความว่าอะไรก็ตามที่พลัดพรากจากไปแล้ว มิสามารถนำกลับคืนมาได้สิ่งนั้นล้วนมีคุณค่าเป็นเพิ่มพูน
ประการที่
๒ ช่วยให้ญาติพี่น้องปรองดองกันมากขึ้น ก็ด้วยอำนาจความรัก ความอาลัย ความเห็นใจ ในโอกาสที่แต่ละฝ่ายประสบพบกับความสูญเสีย
ประการที่
๓ ก่อให้เกิดอัปมาทธรรม ความไม่ประมาท ก็เพราะความตายจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกให้เกิดมุมมองสอดส่องชีวิตตน
จนเกิดเป็นปัญญาหรือแววจิตคิดเห็นความไม่เที่ยงแท้แปรเปลี่ยนของชีวิต จนเกิดการยอมรับในกฎแห่งธรรมชาติ
และเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งที่จะต้องประสบคือมัจจุราช หรือความตาย
สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตรัสเตือนไว้ว่า ปมาโท มจฺจุโน ปทํ ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย
สังขารร่างกายอยู่ไม่นานนักก็จักแตกสลายชีวิตเป็นอยู่ได้ไม่เกิน ๑๐๐ ปี ก็ต้องจากกันไป
วิสัยของผู้มีปัญญา จึงมิควรตั้งอยู่ในความประมาทพึงฝึกหัดซ้อมจิตให้รู้เท่าทันต่อความเป็นไปของชีวิต
ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
“รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้”
วิธีที่จะเผชิญกับความตายได้อย่างไม่สะทกสะท้าน
หวาดกลัว ต้องอาศัยการเตรียมดังที่โบราณท่านสอนให้เตรียม ดังนี้
๑.
เตรียมตัวก่อนตาย
๒.
เตรียมกายก่อนแต่ง
๓.
เตรียมน้ำก่อนแล้ง
๔.
เตรียมแบงก์ก่อนจะเดินทาง
การที่เราทำอะไรขาดตกบกพร่อง
หรือไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ ล้วนเกิดจากการไม่ได้เตรียมหรือเตรียมแต่ไม่พร้อม
แม้การตาย หากตายอย่างเตรียมพร้อมแล้ว จะอยู่หรือไปก็ไร้ปัญหา เข้าลักษณะที่ว่า “อยู่ก็ไม่ลำบาก จากก็ไม่ลำเค็ญ
อยู่ก็สบาย ไปก็สะดวก” มองข้างหน้ามีหวังมองข้างหลังมีสุข
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพประสิทธิคุณ
เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส อุปัชฌาย์ของอาตมา ท่านเทศน์เรื่อง “เตรียมตัวก่อนตาย”
ไว้จับใจมาก ขออัญเชิญนำมาขยายให้ทุกท่านได้สดับต่อเป็นข้อคิด ณ ที่นี้
ท่านกล่าวไว้ว่า “เกิดเป็นคนแล้วต้องเตรียม
ถ้าไม่เตรียมเสียเหลี่ยมของความเป็นคน” และเสนออุบายวิธีเตรียมตัวก่อนตายไว้ ๔ วิธี
ดังนี้
๑.
ทำบุญเป็นนิจ
๒.
คิดถึงความตาย
๓.
วิจัยสมบัติ
๔.
จัดการเรื่องหนี้
ประการที่
๑ คำว่า
“บุญ” เป็นชื่อของความสุข, ความดี, เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า การสั่งสมบุญเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข
ชีวิตจะราบรื่นหรือล้มลุกก็เพราะบุญที่ทำกรรมที่สร้าง ดังคำที่ท่านกล่าวว่า
“ยามบุญมาวาสนาช่วยที่ป่วยก็หายที่หน่ายก็รัก หากบุญไม่มาวาสนาไม่ช่วย
ที่ป่วยก็หนักที่รักก็หน่าย” เพราะฉะนั้น พึงทำบุญไว้ให้มากจักได้สุขสบายทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ประการที่
๒ การระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์อยู่เสมอ จัดเป็นมรณานุสสติ จักได้คลายความประมาทมัวเมา
ความยึดมั่นถือมั่น ฝึกจิตให้คุ้นชินกับความตาย จนกระทั่งมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา จัดเป็นผู้มีขวัญดี
ไม่หวั่นไหว ยามร้ายคือมรณะมาถึง ดังคำกลอนสอนใจในอุทานธรรมตอนหนึ่งว่า...
คิดถึงความตายสบายนัก
มันหักรักหักหลงในสงสาร
บรรเทามืดโมหันต์อันธกาล
ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจฯ
ประการที่
๓ คำว่า
“วิจัยสมบัติ” หมายถึง แยกแยะ แบ่งสรร ปันส่วน ในทรัพย์สินมรดกให้เรียบร้อย
หรือทำพินัยกรรมไว้ให้ดี ป้องกันลูกหลานที่ขาดคุณธรรมและจิตสำนึกทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงสมบัติ
ภายหลังการจากไปของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย มีไม่น้อยที่ปล่อยให้ผีพ่อแม่กลายเป็นผีอนาถา
ไร้ญาติขาดมิตรหมดผู้เหลียวแล แม้แต่จะทำบุญอุทิศหรือกรวดน้ำไปให้ ในถิ่นฐานชนบทจะได้ยินได้ฟังบ่อยๆ
บางผีเคยพบต้องเป็นศพตกค้าง
อยู่ในหลุมฝังขุดขึ้นเผากันไม่ได้
อนาถอย่างยิ่งเพราะลูกหญิงลูกชาย
เขามัวแต่จ้างทนายต่อสู้คดี
ขึ้นโรงขึ้นศาลประหารวงศ์ญาติ
แย่งชิงสมบัติของผู้เป็นผี
ว่ากันแหลกเหลวเรื่องเลวกาลี
แสนสมเพศแต่ผีต้องมาถูกลอยแพ
ต้องเฝ้าป่าช้าคิดแล้วน่าอนาถ
ก็เพราะสมบัติของตัวแท้ๆ ฯ
สมบัติ จะกลายเป็น วิบัติ หากไม่จัดการแยกแยะ
จัดการแบ่งสรร ปันส่วนให้เรียบร้อย
ประการที่
๔ จัดการเรื่องหนี้ คำว่า
“หนี้” หมายถึงสิ่งที่เราจะต้องจ่ายต้องใช้ทดแทน จะหลบเลี่ยงบ่ายเบี่ยงไม่ได้
ถือว่ามีความผิด ไม่ผิดกฎหมาย ก็ผิดกฎแห่งศีลธรรมทุกชีวิตที่เกิดมาต่างก็หนีหนี้ไม่พ้นด้วยกันทั้งสิ้น
หนี้อะไรบ้างที่ผูกพันกับชีวิตอยู่ตลอดเวลาเช่น
๑.
หนี้ชีวิต
๒.
หนี้บุญคุณ
๓.
หนี้ทรัพย์สินเงินทอง
๔.
หนี้เวรหนี้กรรม
หนี้ทั้งสี่ประเภทนี้
หนี้ชีวิตถือว่าสำคัญที่สุด พ่อแม่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของลูก เพราะท่านให้ยอดของทรัพย์
คือชีวิตเลือดเนื้อ เมื่อมีโอกาสพึงจัดการชำระหนี้ ด้วยวิธีกตัญญูกตเวที ตอบแทนความดีของท่าน
ด้วยการเลี้ยงดูท่านทั้งกายและใจ อย่าปล่อยให้ท่านอดอยากลำบากกายใจยามแก่ชรา พึงแบ่งเบาภาระด้วย
ช่วยเหลือกิจการงานของท่าน รักษาวงศ์ดำรงตระกูลไว้ ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมให้ท่านไว้วางใจ
เพื่อท่านจะมอบมรดกให้ครอบครองในภายหน้า ยามท่านเจ็บไข้ไม่นิ่งดูดายต้องเยียวยารักษา
ถึงคราวมรณาต้องจัดการงานศพให้
ผู้ที่เตรียมพร้อมได้ครบทั้ง ๔ วิธี
ดังกล่าวนี้ ย่อมมีหลักประกันได้ว่า “อยู่ก็สบายไปก็สะดวก” เหมือนเดินทางในที่โล่ง ย่อมโปร่งใสทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ความดีเกื้อหนุนทั้งในอดีตและปัจจุบัน
รวม ๓ ชั้น ด้วยกันคือ
๑.
มาดีเพราะมีบุญ
- เกิดมาในตระกูลดี มีพ่อแม่ดี มีฐานะดี นี่แหละที่เรียกว่าบุญส่ง,
บุญเสริม, บุญสนับสนุน
๒.
อยู่ดีอย่างมีคุณ
- ท่านมีทั้งคุณประโยชน์ และคุณความดี ฐานะลูกกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่
ในฐานะนายทหาร ที่เป็นรั้วของชาติ และปกป้องราชบัลลังก์
๓.
ไปดีอย่างมีทุน
- ทุนหรือเสียงที่จะส่งให้ท่านไปสู่สุคติ หรือความดีทุกประการ ท่านได้สั่งสมไว้พร้อมแล้ว
ท่านสาธุชนทุกท่าน
เราจำต้องพลัดพรากจากคนรัก,
ของรัก, ของชอบใจเป็นธรรมดา จักล่วงพ้นสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้
แต่จะแก่อย่างไร เจ็บอย่างไร ตายอย่างไร พลัดพรากจากกันอย่างไร จึงจะไม่เป็นทุกข์ ก็ด้วยการที่ทุกท่านตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
และหันหน้ามาเตรียมใจก่อนตาย ด้วยอุบายที่ได้ชี้แจงแสดงมา
อิมินา กตปุญฺเญน ขออำนาจบุญกุศลทักษิณานุปทานกิจ
ที่คณะท่านเจ้าภาพและญาติมิตร จงสถิตมั่นในคุณงามและความดี
ให้ถึงซึ่งความเจริญในมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ และนิพพานสมบัติ สมปรารถนาฯลฯ