พระสูตรนี้พระพุทธองค์ตรัสแก่ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใจความของพระสูตรโดยย่อ
ความว่า
ความว่า
อนาถบิณฑิกเศรษฐี นับตั้งแต่ได้สร้างพระเชตวันถวายสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้ว ได้ถวายทานแก่พระสงฆ์ทุกวัน จนทรัพย์สินลดลง ในที่สุดกลายเป็นคนจน แต่ไม่ลดการถวายทาน แต่ไม่สามารถจัดทานให้ประณีตเหมือนเดิมได้ พระองค์ตรัสปลอบเศรษฐีว่า ทานจะประณีต ไม่ประณีต ขึ้นอยู่กับเจตนา จะมีผลมาก มีผลน้อยขึ้นอยู่กับทักขิไณยบุคคลผู้รับทานด้วย
จากนั้นพระองค์ตรัสเรื่องในอดีตพูดถึงเวลามพราหมณ์ ผู้มั่งคั่ง ถวายทานมาก แต่ได้ผลน้อยเพราะได้ผู้รับทานไม่ดี คือแก่คนทั่วไป ไม่มีพระอรหันต์มารับทานเหมือนอนาถบิณฑิกเศรษฐี จากนั้นพระองค์ตรัสถึงอานิสงส์ของการถวายทานแก่บุคคลที่มีคุณธรรมระดับต่างๆ ตั้งแต่คนผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ คือเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม ไปจนถึงพระพุทธเจ้า ว่า
การถวายแก่พระพุทธ ๑ ครั้งมีผลมากกว่าการถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง
ถวายทานแก่พระพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่าถวายทานแก่สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ๑ ครั้ง
ถวายทานแก่สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่าสร้างเสนาสนะ มี ศาลา โบสถ์ วิหาร กุฏิ เป็นต้น แก่สงฆ์ที่มาจากทิศทั้งสี่ ๑ ครั้ง
สร้างเสนาสนะถวายสงฆ์ ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ามีศรัทธา ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์
มีศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เท่าการสมาทานเอาสิกขาบทไปปฏิบัติ คือ การสมาทานละเว้น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การดื่มสุราเมรัย (ศีล ๕)
การสมาทานเอาสิกขาบท (ศีล ๕ ) ไปปฏิบัติ ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่าการเจริญเมตตาจิต เพียงชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียว (ดีดมือครั้งเดียว)
จากพระสูตรนี้สรุปได้ว่า การให้ทาน การรักษาศีล มีอานิสงส์น้อยกว่าการเจริญภาวนา หรือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แม้จะใช้เวลาเพียงนิดหน่อย
พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ อังคุตตรนิกาย
ต่อไปนี้เป็นเนื้อความเต็มของพระสูตร ผู้มีความสนใจอยากรู้เพิ่มเติมเชิญอ่านได้ตามความปรารถนาเถิด
๑๐.
เวลามสูตร
ว่าด้วยเวลามพราหมณ์
[๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ
พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล
อนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ
ที่สมควร พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกับท่านดังนี้ว่า “ท่านคหบดี
ในตระกูลของท่านยังให้ทานอยู่หรือ”
อนาถบิณฑิกคหบดีกราบทูลว่า
“ในตระกูลของข้าพระองค์ยังให้ทานอยู่ พระพุทธเจ้าข้า แต่ทานนั้นแลเป็นของเศร้าหมอง
เป็นปลายข้าวกับน้ำผักดอง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“คหบดี บุคคลให้ทานเศร้าหมอง หรือประณีตก็ตาม ถ้าให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ
ไม่ทำความนอบน้อมให้ทาน ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง ให้ทานเหมือนจะทิ้ง๑
เป็นผู้ไม่เห็นผลที่จะตามมาให้ทาน๒ ในตระกูลที่ทานนั้น ๆ บังเกิดผล
เขาไม่น้อมจิตไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ไม่น้อมจิตไปเพื่อนุ่งห่มผ้า อย่างดี
ไม่น้อมจิตไปเพื่อใช้ยานอย่างดี และไม่น้อมจิตไปเพื่อบริโภคกามคุณ๓ ๕ อย่างดี
แม้แต่บริวารของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ หรือกรรมกร
ก็ไม่ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งใจใฝ่รู้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะผลกรรม ที่ตนได้กระทำโดยไม่เคารพ
คหบดี
บุคคลให้ทานเศร้าหมอง หรือประณีตก็ตาม ถ้าให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ทาน
ให้ทานด้วยมือของตนเอง ให้ทานไม่เหมือนจะทิ้ง เป็นผู้เห็นผลที่จะตามมาให้ทานในตระกูลที่ทานนั้น
ๆ บังเกิดผล เขาน้อมจิตไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี น้อมจิตไปเพื่อนุ่งห่มผ้าอย่างดี
น้อมจิตไปเพื่อใช้ยานอย่างดี และน้อมจิตไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี
แม้แต่บริวารของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ หรือกรรมกรก็ตั้งใจฟังด้วยดี
เงี่ยโสตสดับ ตั้งใจใฝ่รู้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะผลกรรมที่ตนได้กระทำไว้โดยเคารพ
คหบดี
เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ๑ เขาให้ทานเป็นมหาทาน อย่างนี้ คือ
ได้ให้ถาดทองคำเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดรูปิยะเต็มด้วย ทองคำ ๘๔,๐๐๐ ถาด
ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับทองคำ
มีธงทองคำ คลุมด้วยข่ายทองคำ ให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์
หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพล เหลือง
มีเครื่องประดับทองคำ มีธงทองคำ คลุมด้วยข่ายทองคำ ให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว
มีน้ำนมที่รีดและไหลสะดวก มีภาชนะสำริดสำหรับรองรับ ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐
คนสวมแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์๒ ๘๔,๐๐๐ ที่ลาดด้วยผ้าโกเชาว์๓
ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว ลาดด้วยเครื่องลาด ทำด้วยขนแกะลาย ดอกไม้
ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชมด ข้างบนมีเพดาน มีหมอนสีแดงวางไว้ทั้ง ๒
ข้าง๔ ให้ผ้า ๘๔,๐๐๐ พับ เป็นผ้าเปลือกไม้เนื้อละเอียด ผ้าไหม เนื้อละเอียด
ผ้ากัมพลเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายเนื้อละเอียด ไม่จำต้องกล่าวถึงข้าว น้ำ ของเคี้ยว
ของบริโภค ของลิ้ม ของดื่ม ไหลออกไปเหมือนแม่น้ำ
คหบดี ท่านอาจจะมีความคิดอย่างนี้ว่า
“สมัยนั้น เวลามพราหมณ์ผู้ให้ทานเป็นมหาทาน เป็นคนอื่นแน่แท้
แต่ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น เพราะเวลามพราหมณ์ ผู้ให้ทานเป็นมหาทาน ในสมัยนั้น
ก็คือเรานั่นเอง แต่ในทานนั้น ไม่มีใครเป็นพระทักขิไณยบุคคล ใคร ๆ
ก็ชำระทักษิณานั้นให้หมดจดไม่ได้๑
คหบดี
การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิผู้เดียวให้บริโภค มีผล
มากกว่าการที่เวลามพราหมณ์ได้ให้ทานเป็นมหาทาน
การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นสกทาคามีผู้เดียวให้บริโภค
มีผลมากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิตั้งร้อยให้บริโภค
การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอนาคามีผู้เดียวให้บริโภค
มีผลมากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นสกทาคามีตั้งร้อยให้บริโภค
การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอรหันต์ผู้เดียวให้บริโภค
มีผลมากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอนาคามีตั้งร้อยให้บริโภค
การที่บุคคลเชื้อเชิญพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียวให้บริโภค
มีผลมากกว่าการที่ บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอรหันต์ตั้งร้อยให้บริโภค
การที่บุคคลเชื้อเชิญตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บริโภค
มีผลมากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญพระปัจเจกพุทธเจ้าตั้งร้อยให้บริโภค
การที่บุคคลเชื้อเชิญภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้บริโภค
มีผลมากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บริโภค
การที่บุคคลสร้างวิหารอุทิศถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง
๔ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้บริโภค
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
มีผลมากกว่าการที่บุคคลสร้างวิหารอุทิศถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใส
สมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การงดเว้นจากการลักทรัพย์
การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม การงดเว้นจาก การพูดเท็จ
การงดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์เป็นสรณะ
การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตอย่างน้อยชั่วสูดดมกลิ่นหอม
มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เป็นต้นนั้น
คหบดี
การที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาชั่วลัดนิ้วมือเดียว
มีผลมากกว่าการที่เวลามพราหมณ์ได้ให้ทานเป็นมหาทาน
มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยทิฏฐิให้บริโภค
มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิตั้งร้อยให้บริโภค
มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นสกทาคามีผู้เดียวให้บริโภค มากกว่า
การที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นสกทาคามีตั้งร้อยให้บริโภค
มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอนาคามีผู้เดียวให้บริโภค
มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคล ผู้เป็นอนาคามีตั้งร้อยให้บริโภค
มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอรหันต์ ผู้เดียวให้บริโภค
มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญบุคคลผู้เป็นอรหันต์ตั้งร้อยให้บริโภค
มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียวให้บริโภค
มากกว่าการที่บุคคล เชื้อเชิญพระอรหันต์ตั้งร้อยให้บริโภค
มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บริโภค
มากกว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้บริโภค
มากกว่าการที่บุคคลสร้างวิหารอุทิศถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศ ทั้ง ๔
มากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
มากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจาก การฆ่าสัตว์ ฯลฯ
การงดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุ แห่งความประมาท
และมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตอย่างน้อยชั่วสูดดม กลิ่นหอมนั้น”
เวลามสูตรที่ ๑๐ จบ