วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ภาพบรรยากาศการสอบสารนิพนธ์และวิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาเอก ของนิสิตรุ่นที่ ๕ และ ๖

วันนี้ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ มีสอบ ๒ รูป/คน คือ พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี ป.เอก รุ่น ๖ สอบสารนิพนธ์เล่มแรก วิชาศึกษาเฉพาะเรื่องในพัฒนาการแห่งพระพุทธศาสนาเถรวาท
ทำนทำเรื่อง "พัฒนาการแห่งจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในสังคมไทย" โดยเจาะจงศึกษาแนวการปฏิบัติแบบดูจิตของพระมหาเถระชาวไทย ๒ รูป คือ หลวงปู่ดุลย์ และหลวงปู่ชา และพระมหาเถระชาวพม่า ๑ รูป คือ หลวงพ่อภัททันตอาสภมหาเถระ ปรมาจารย์สายพอง ยุบ 

คณะกรรมการสอบประกอบด้วย 
พระราชสิทธมุนี  (บุญชิต ) ประธานกรรมการ
ผศ.ดร. ทัศนีย์  เจนวิถีสุข  กรรมการ
ดร. จุฑามาศ  วารีแสงทิพย์ ที่ปรึกษาและกรรมการ




 พระราชสิทธิมุนี ดร. ทำหน้าที่ประธานกรรมการสอบ ทั้งสองรูป เป็นพระวิปัสสนาจารย์ของบัณฑิตวิทยาลัย โดยเฉพาะพระมหาบุญเลิศ เป็นอาจารย์ประจำของบัณฑิตวิทยาลัย ส่วนที่ปรึกษาสารนิพนธ์ คือ ดร. จุฑามาศ และกรรมการสอบ คือ ผศ.ดร. ทัศนีย์ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของท่าน ทีแรกนึกว่า จะมาล้มมวย สมยอมหรือซูเอี๋ยกันประมาณนั้น แต่พอขึ้นเวทีจริงๆ ไม่มีคำว่าเพื่อน ชกแบบสมศักดิ์ศรี แบบว่า สะบักสะบอม พอสมควร



ว่าที่ ดร. พระระพิน ด้วงลอย เพื่อน ป.เอก รุ่น ๕ ที่ทำหน้าที่รายงานข่าวและความเคลื่อนไหวต่างๆ เกี่ยวกับวงการคณะสงฆ์ให้เพื่อนๆ และกัลยาณมิตรทราบ เป็นระยะๆ โดยปกติเป็นคนเก่ง แต่ด้วยความมีน้ำใจกับเพื่อนจึงมัวแต่ช่วยคนโน้นทีคนนี้ที ตัวเองเลยยังไม่จบสมบูรณ์ แต่ก็จะให้ทันรับปริญญาปีหน้าว่างั้น 




ต่อจากพระมหาบุญเลิศ ก็คือ ว่าที่ ดร. สุมาลี วุฒิจินดา ป.เอก รุ่น ๕ สอบจบวิทยานิพนธ์เรื่อง "การพัฒนาการศึกษาแนวพุทธเพื่อการตื่นรู้สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น" 

คณะกรรมการสอบประกอบด้วย
พระศรีคัมภีรญาณ (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ รศ.ดร.) ประธานกรรมการ
พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ  สิริญาโณ ผศ.ดร.) ประธานที่ปรึกษาและกรรมการ
พระมหาสุทิตย์  อาภากโร  ดร. ที่ปรึกษา และกรรมการ
ศ.ดร. จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ กรรมการ

บรรยากาศเป็นไปแบบเรียบง่าย ส่วนมากเป็นการแนะนำเพื่อให้งานสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และให้เวลาปรับแก้ ๖ เดือน 




  อาจารย์ ศ.ดร. จำนงค์ กำลัง แสดงความคิดเห็นและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์  ดร. พระมหาสุทิตย์  ที่ปรึกษากำลังใช้ความคิดว่า จะช่วยนิสิตอย่างไร (ตีความเอาเอง)



เพื่อนๆ เข้าร่วมฟังและให้กำลังใจ เริ่มจากซ้าย ดร.นพ.ปุณวัสส์ กิตติมานนท์ ป.เอก รุ่น ๔, ดร.สุวภรณ์  แนวจำปา เพื่อนร่วมรุ่น, ผศ.ดร. กาญจนา ป.เอก รุ่น ๔.




ความสุขของ สาว ๆ ส่ำน้อย หรือสาวน้อย (ความหมายตีเอาเอง)





  น.ส. ผศ.ดร. ทัศนีย์  เจนวิถีสุข  เพื่อน ป.เอก รุ่น ๖ วันนี้มาทำหน้าที่ เป็นกรรมการสอบด้วย เป็นผู้ฟังและให้กำลังเพื่อนรุ่นพี่ด้วย 





พระศรีคัมภีรญาณ และพระสุธีธรรมานุวัตร เป็นคณบดีบัณฑิตวิยาลัยทั้งคู่ ก่อนหน้านี้ พระศรีคัมภีรญาณ เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สองสมัย แปดปี ได้วางรากฐานไว้เป็นอย่างดีทำให้บัณฑิตวิทยาลัยเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ 

ปัจจุบันพระสุธีธรรมานุวัตร เป็นคณบดี ซึ่งเมื่อตอนพระศรีฯเป็นคณบดีท่านเป็นรองคณบดี  ทั้งคู่ทำหน้าที่เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยได้ดีเยี่ยมใกล้เคียงกัน รูปแรกเน้นสาระและวิชาการ  รูปที่สองเน้นมนุษยสัมพันธ์ เมตตาต่อนิสิต





วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปฐมอธิโลกิกสูตร ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อชัยชนะในโลกนี้


 เมื่อฟังชื่อพระสูตรแล้ว อาจจะสงสัยว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อชัยชนะของใคร ของบุรุษหรือของสตรี หรือของคนทุกกลุ่ม ขอชี้แจงว่า ตามเนื้อหาของพระสูตรแล้ว กล่าวถึงชัยชนะของสตรีผู้เป็นภรรยา ถ้าปฏิบัติตามนี้แล้วจะเป็นผู้มีชัยชนะต่อสามีของตน หมายความว่า จะยึดจิตใจของสามีไว้ได้ตลอดไป สามีจะไม่มีวันนอกใจเด็ดขาด ภรรยาจะสามารถยึดจิตใจของสามีไว้ได้ ต้องประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ คือ 
๑) จัดการงานดี 
๒) สงเคราะห์คนข้างเคียงดี (คนข้างเคียงของตนด้วยของสามีด้วย)
๓) ปฏิบัติถูกใจสามี
๔) รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ ไม่ให้เสียหาย
ภรรยาที่ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ จะเป็นผู้มีชัยชนะในโลกนี้ ส่วนชัยชนะในโลกหน้า พระพุทธองค์ตรัสว่า ต้องประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ คือ 
๑) มีศรัทธา สัทธาสัมปทา
๒) มีศีล สีลสัมปทา
๓) มีการเสียสละแบ่งปัน จาคสัมปทา
๔) มีปัญญา ปัญญาสัมปทา


ในทางตรงกันข้าม ถ้าบุรุษผู้เป็นสามีปฏิบัติอย่างนี้ต่อภรรยาของตนก็จะสามารถยึดจิตใจของภรรยาไว้ได้ตลอดไปเช่นเดียวกัน คือ จัดแจงการงานดี สงเคราะห์คนสข้างเคียงดี (คนข้างเคียงของตนด้วยของภรรยาด้วย)   ปฏิบัติถูกใจภรรยา และมอบทรัพย์ที่หามาได้ให้ภรรยารักษาไว้  ส่วนชัยชนะในโลกหน้ามีนัยเช่นเดียวกัน



พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎก ฉบับ มหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ ข้อ ๔๙ หน้า ๑๗๕-๑๗๗.

. ปฐมอิธโลกิกสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อชัยชนะในโลกนี้ สูตรที่ ๑
[๔๙]    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขา- มิคารมาตา ในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
วิสาขา มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกนี้ ปรารภโลกนี้๑
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
มาตุคามในโลกนี้
          .       จัดการงานดี     .       สงเคราะห์คนข้างเคียง
          .       ปฏิบัติถูกใจสามี .       รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
มาตุคามผู้จัดการงานดี เป็นอย่างไร
คือ มาตุคามในโลกนี้เป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานภายในบ้านสามี คือ การทอผ้าขนสัตว์ หรือผ้าฝ้าย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบาย ในการงานเหล่านั้น สามารถทำ สามารถจัดได้
มาตุคามผู้จัดการงานดี เป็นอย่างนี้แล
มาตุคามผู้สงเคราะห์คนข้างเคียง เป็นอย่างไร
คือ มาตุคามในโลกนี้รู้จักการงานที่คนในบ้านสามี คือ ทาส คนใช้ หรือกรรมกรว่าทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ รู้อาการของคนเหล่านั้นที่เป็ไข้ว่าดีขึ้นหรือทรุดลง และแบ่งปันของกิน ของใช้ให้ตามส่วนที่ควร
มาตุคามผู้สงเคราะห์คนข้างเคียง เป็นอย่างนี้แล
มาตุคามปฏิบัติถูกใจสามี เป็นอย่างไร
คือ มาตุคามในโลกนี้ไม่ล่วงละเมิดสิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจของสามี แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต
มาตุคามปฏิบัติถูกใจสามี เป็นอย่างนี้แล
มาตุคามรักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ เป็นอย่างไร
คือ มาตุคามในโลกนี้รักษาคุ้มครองสิ่งที่สามีหามาได้ เป็นทรัพย์ ข้าว เงิน หรือทองก็ตาม ไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็นนักเลงสุรา ไม่ผลาญทรัพย์สมบัติ
มาตุคามรักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ เป็นอย่างนี้แล
วิสาขา มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกนี้ ปรารภโลกนี้
วิสาขา มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกหน้า ปรารภโลกหน้า
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
มาตุคามในโลกนี้
          .       ถึงพร้อมด้วยศรัทธา      .       ถึงพร้อมด้วยศีล
          .       ถึงพร้อมด้วยจาคะ        .       ถึงพร้อมด้วยปัญญา
มาตุคามผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา เป็นอย่างไร
คือ มาตุคามในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค
มาตุคามผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา เป็นอย่างนี้แล
มาตุคามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นอย่างไร
คือ มาตุคามในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
มาตุคามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นอย่างนี้แล
มาตุคามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ เป็นอย่างไร
คือ มาตุคามในโลกนี้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกทาน อยู่ครองเรือน
มาตุคามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ เป็นอย่างนี้แล
มาตุคามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นอย่างไร
คือ มาตุคามในโลกนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
มาตุคามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นอย่างนี้แล
วิสาขา มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกหน้า ปรารภโลกหน้า
          ภรรยาเป็นผู้จัดการงานดี
          สงเคราะห์คนข้างเคียง ปฏิบัติถูกใจสามี
          รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
          เป็นผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล
          รู้ความประสงค์ของผู้ขอ๑ ปราศจากความตระหนี่
          ชำระทางแห่งประโยชน์ที่มีอยู่ในชาติหน้าอยู่เป็นนิตย์
          ธรรม ๘ ประการดังกล่าวมานี้ มีอยู่แก่สตรีใด
          สตรีนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า
          “ผู้มีศีล ตั้งอยู่ในธรรม กล่าวคำสัตย์
          อุบาสิกาเช่นนั้นผู้ถึงพร้อมด้วยอาการ ๑๖ อย่าง
          ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เป็นผู้มีศีล
          ย่อมเกิดในเทวโลกชื่อว่ามนาปกายิกะ
ปฐมอิธโลกิกสูตรที่ ๙ จบ[1]




[1] องฺ.สตฺตก. (ไทย) ๒๓/๔๙/๑๗๕-๑๗๗.

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โอณโตณตสูตร ว่าด้วยผู้ต่ำมาและต่ำไป


 พระสูตรนี้เนื้อหาไม่ยาว  ใจความก็ชัดเจนแล้ว จึงไม่ต้องอธิบายหรือย่อความอีก แต่มีบางศัพท์ที่อาจทำให้สงสัยได้ คือ คำว่า ตระกูลจัณฑาล ซึ่งเป็นชื่อของคนนอกวรรณะในอินเดีย หมายถึงคนไม่มีวรรณะ เพราะจัดเข้าในวรรณะ ๔ วรรณะใดวรรณะหนึ่งไม่ได้ วรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ สูทร 
สาเหตุที่จัดคนเหล่านี้เข้าในวรรณะไม่ได้เพราะคนเหล่านี้แต่งงานข้ามวรรณะ เช่น พราหมณ์แต่งกับแพศย์ หรือ แพศย์แต่งกับพวกสูทร เป็นต้น   ลูกเกิดมาจึงเป็นจัณฑาล ถือว่าเป็นคนนอกวรรณะ ต่ำกว่าพวกสูทรอีก แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้แบ่งคนออกเป็นวรรณะพระองค์ตรัสว่า คนจะดี หรือเลว ขึ้นอยู่กับการกระทำของเขา คนที่เกิดในวรรณะสูง ถ้าทำชั่วก็เป็นคนชั่ว  คนเกิดในวรรณะต่ำ ถ้าทำดีก็เป็นคนดี การกระทำเป็นสิ่งจำแนกคน ไม่ใช่โคตร หรือชาติกำเนิด 

พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต 


. โอณโตณตสูตร
ว่าด้วยผู้ต่ำมาและต่ำไป
[๘๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๑ไหนบ้าง คือ
. บุคคลผู้ต่ำมาและต่ำไป  ๒. บุคคลผู้ต่ำมาแต่สูงไป
. บุคคลผู้สูงมาแต่ต่ำไป  ๔. บุคคลผู้สูงมาและสูงไป
บุคคลผู้ต่ำมาและต่ำไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ฯลฯ และเขายังประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หลังจากตายแล้วย่อมเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลผู้ต่ำมาและต่ำไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้ต่ำมาแต่สูงไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดมาในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ฯลฯ แต่เขาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลก สวรรค์ บุคคลผู้ต่ำมาแต่สูงไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้สูงมาแต่ต่ำไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ฯลฯ แต่เขาประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลผู้สูงมาแต่ต่ำไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้สูงมาและสูงไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ฯลฯ และเขาก็ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ บุคคลผู้สูงมาและสูงไป เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
โอณโตณตสูตรที่ ๖ จบ



วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โกธนสูตร ว่าด้วยบุคคลผู้มักโกรธ


 ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ตรัสถึงโทษของความโกรธ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ถ้าไม่ได้อ่านพระสูตรนี้ ก็จะไม่รู้ว่า ความโกรธมีโทษมากน้อยแค่ไหน  ผู้เขียนเคยได้ยินคนแก่คนเฒ่าสอนลูกหลานด้วยภาษาอีสานว่า "โมโหนี่ พาโตตกต่ำ" แปลว่า ความโกรธนี้  พาตัวเองตกต่ำ

เชิญอ่านเนื้อหาเต็มในพระสูตรได้ครับ  พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ อังคุตตรนิกาย  สัตตกนิบาต ข้อและหน้า อาจจะไม่ตรงกัน กับฉบับอื่น ฉบับนี้เป็นฉบับของ มหาจุฬาฯ มจร. ถ้านำไปอ้างอิงในงานวิชาการ เขียนเป็นลักษณะอย่างนี้
องฺ.สตฺตก. (ไทย) ๒๓/๖๔/๑๒๕-๑๓๐.

 โกธนสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มักโกรธ
[๖๔]    ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ ย่อมมาถึงบุคคลผู้มักโกรธ จะเป็นสตรี หรือบุรุษก็ตาม
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
.       ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้มีผิวพรรณทรามเถิดข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรูมีผิวพรรณงาม ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธ ครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้อาบน้ำดีแล้ว ไล้ทาดีแล้ว ตัดผม โกนหนวดแล้วนุ่งผ้าขาวก็จริง แต่บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำนั้น ก็เป็นคนมีผิวพรรณทรามอยู่นั่นเอง นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ที่ศัตรู มุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
 ๒.      ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้นอนเป็นทุกข์เถิดข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรูนอนสบาย ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้นอนอยู่บนเตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย ลาดด้วยพรมขนสัตว์ ลาดด้วยเครื่องลาดมีลายรูปดอกไม้ มีเครื่องลาดหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้างก็จริง แต่บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำนั้น ก็นอนเป็นทุกข์ อยู่นั่นเอง นี้เป็นธรรม ประการที่ ๒ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
.       ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้ อย่าได้ มีความเจริญเลยข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรูมีความเจริญ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้ได้ความเสื่อมก็เข้าใจว่า ตนได้ความเจริญแม้ได้ความเจริญก็เข้าใจว่า ตนได้ความเสื่อมธรรมเหล่านี้เป็นข้าศึกต่อกันและกัน ที่บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำนั้นยึดถือแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน นี้เป็นธรรมประการ ที่ ๓ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
.       ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้เป็นคนไม่มีโภคทรัพย์เถิดข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรูมีโภคทรัพย์ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธ ครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรมก็จริง แต่พระราชาก็รับสั่งให้ริบโภคทรัพย์ของบุคคล ผู้ถูกความโกรธครอบงำ นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
.       ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้เป็นคนไม่มียศเถิดข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรู มียศ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้มียศที่ได้มาด้วยความไม่ประมาทก็จริง แต่บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำก็เสื่อมจากยศนั้น นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
.       ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้เป็นคนไม่มีมิตรเถิดข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรูมีมิตร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ โกรธจัดนี้ แม้มีมิตร อำมาตย์ ญาติ สาโลหิต๑ก็จริง แต่คน เหล่านั้นก็พากันหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำนั้นไปห่างไกล นี้เป็นธรรมประการที่ ๖ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
.      ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า ขอให้เจ้าคนนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเถิดข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศัตรูย่อมไม่ยินดีให้ศัตรูไปสู่สุคติ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ โกรธจัดนี้ ประพฤติทุจริตทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นธรรม ประการที่ ๗ ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล ที่ศัตรูมุ่งหมาย ที่ศัตรูพึงทำ ย่อมมาถึงบุคคลผู้มักโกรธ จะเป็นสตรี หรือบุรุษก็ตาม
          บุคคลผู้มักโกรธนั้น
          มีผิวพรรณทราม นอนเป็นทุกข์
          ได้ความเจริญแล้ว ก็ยังถึงความเสื่อม
          บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ
          ทำการเข่นฆ่าทางกาย วาจา
          ย่อมประสบความเสื่อมทรัพย์
          บุคคลผู้มัวเมาด้วยความมัวเมาเพราะโกรธ
          ย่อมถึงความเสื่อมยศ
          ญาติมิตรและสหาย ย่อมหลีกเว้นบุคคลผู้มักโกรธ
          ความโกรธก่อความเสียหาย
          ความโกรธทำจิตให้กำเริบ
          บุคคลผู้มักโกรธย่อมไม่รู้ภัยที่เกิดจากภายใน
          บุคคลผู้โกรธย่อมไม่รู้อรรถ
          บุคคลผู้โกรธย่อมไม่เห็นธรรม
          ความโกรธครอบงำนรชนในกาลใด
          ความมืดย่อมมีในกาลนั้น
          บุคคลผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย
          ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว
          เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้
          บุคคลผู้โกรธย่อมแสดงความเก้อยากก่อน
          เหมือนไฟแสดงควันก่อน
          ความโกรธเกิดขึ้นในกาลใด
          คนทั้งหลายย่อมโกรธในกาลนั้น
          บุคคลผู้โกรธไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ
          ไม่มีคำพูดที่น่าเคารพ
          บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำไม่มีความสว่างแม้แต่น้อย
          กรรมเหล่าใดห่างไกลจากธรรม เป็นเหตุให้เดือดร้อน
          เราจักบอกกรรมเหล่านั้น
          เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้นไปตามลำดับ
          บุคคลผู้โกรธ ฆ่าบิดาก็ได้
          บุคคลผู้โกรธ ฆ่ามารดาก็ได้
          บุคคลผู้โกรธ ฆ่าพราหมณ์๑ก็ได้
          บุคคลผู้โกรธ ฆ่าปุถุชนก็ได้
          ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตามองโลกนี้
          เป็นผู้มีกิเลสหนา โกรธขึ้นมา
          ย่อมฆ่าแม้มารดาผู้ให้ชีวิตนั้น
          สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ
          เพราะตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง
          ผู้โกรธหมกมุ่นในรูปต่างๆ ย่อมฆ่าตนเองเพราะเหตุต่างๆ
          คือฆ่าตนเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษตายบ้าง
          ใช้เชือกผูกคอตายบ้าง กระโดดลงในซอกเขาตายบ้าง
          คนเหล่านั้นเมื่อทำกรรม
          อันมีแต่ความเสื่อมและทำลายตน ก็ไม่รู้สึก
          ความเสื่อมเกิดจากความโกรธ
          ตามที่กล่าวมา ความโกรธนี้ เป็นบ่วงแห่งมัจจุ
          มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย โดยรูปของความโกรธ
          พึงตัดความโกรธนั้นด้วยทมะ (ความข่มใจ)
          คือปัญญา ความเพียร และทิฏฐิ
          บัณฑิตพึงตัดอกุศลธรรมแต่ละอย่าง
          พึงศึกษาในธรรมเหมือนอย่างนั้น
          เธอทั้งหลายปรารถนาอยู่ว่า
          “ขอความเป็นผู้เก้อยากอย่าได้มีแก่เราทั้งหลาย
          บุคคลผู้ปราศจากความโกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ
          ปราศจากความโลภ ไม่มีความริษยา
          ฝึกฝนตนแล้ว ละความโกรธได้แล้ว
          เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน
โกธนสูตรที่ ๑๑ จบ


ภาพชาวบ้านกำลังเกี่ยวข้าวหนีน้ำ เป็นภาพประวัติศาสตร์ ในรอบ ๗๐ ปี เพิ่งจะเห็นน้ำท่วมโดยฝนไม่ตก และท่วมในเดือนสิบสอง ตอนข้าวใกล้จะแก่ และน้ำที่มาท่วมไม่ได้มาทางทิศเหนือแต่มาทางทิศใต้ (น้ำไหลขึ้น) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่น้ำท่วมโคราช (เขาใหญ่) แล้วปล่อยน้ำลงแม่น้ำมูล แม่น้ำชี น้ำชีจึงไหลบ่าขึ้นไปแม่น้ำปาว ท่วมไร่นาของชาวกาฬสินธุ์ 

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มูสิกสูตร ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนหนู



ในพระสุตรนี้ พระองค์ตรัสเปรียบเทียบคน ๔ จำพวก กับหนู ๔ ชนิด คือ 

หนู ๔ ชนิด คือ 

๑) ขุดรูปแต่ไม่อยู่
๒) อยู่แต่ไม่ขุดรู
๓) ไม่ขุดรูและไม่อยู่
๔) ขุดรูและอยู่ 

คน ๔ จำพวก คือ 

๑) พวกที่ขุดรูปแต่ไม่อยู่ หมายถึง คนที่เรียนธรรมแล้วแต่ไม่นำมาปฏิบัติจึงไม่รู้ชัดอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า อะไรเป็นทุกข์ เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ เป็นความดับทุกข์ และเป็นทางให้ถึงความดับทุกข์
๒) พวกที่อยู่แต่ไม่ขุดรู หมายถึง  คนที่ไม่เรียนธรรมแต่ปฏิบัติจึงรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
๓) พวกที่ไม่ขุดรูและไม่อยู่ หมายถึง คนที่ไม่เรียนธรรมและไม่ปฏิบัติธรรม
๔) พวกที่ขุดรูด้วยและอยู่ด้วย  หมายถึง คนที่เรียนธรรมและนำไปปฏิบัติจนรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง 

ในบรรดาคน ๔ จำพวกนี้ คนจำพวกที่ ๒ และ ๔ ควรเอาเป็นตัวอย่าง ในการดำเนินชีวิต 

พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุตถนิบาต 
 
. มูสิกสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนหนู
[๑๐๗] ภิกษุทั้งหลาย หนู ๔ ชนิดนี้
หนู ๔ ชนิด๒ อะไรบ้าง คือ
. หนูขุดรูแต่ไม่อยู่ ๒. หนูอยู่แต่ไม่ขุดรู
. หนูไม่ขุดรูและไม่อยู่ ๔. หนูขุดรูและอยู่
ภิกษุทั้งหลาย หนู ๔ ชนิดนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน บุคคลเปรียบเหมือนหนู ๔ จำพวกมีปรากฏ อยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก๒ไหนบ้าง คือ
. บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูแต่ไม่อยู่
. บุคคลเปรียบเหมือนหนูอยู่แต่ไม่ขุดรู
. บุคคลเปรียบเหมือนหนูไม่ขุดรูและไม่อยู่
. บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูและอยู่
บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูแต่ไม่อยู่ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ แต่เขาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาบุคคลเปรียบเหมือน หนูขุดรูแต่ไม่อยู่ เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนหนูขุดรูแต่ไม่อยู่
บุคคลเปรียบเหมือนหนูอยู่แต่ไม่ขุดรู เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ แต่เขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาบุคคลเปรียบเหมือน หนูอยู่แต่ไม่ขุดรู เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนหนูอยู่แต่ไม่ขุดรู
บุคคลเปรียบเหมือนหนูไม่ขุดรูและไม่อยู่ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ และเขาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาบุคคลเปรียบเหมือนหนูไม่ขุดรูและไม่อยู่ เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือน
หนูไม่ขุดรูและไม่อยู่
บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูและอยู่ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ และเขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาบุคคลเปรียบเหมือน หนูขุดรูและอยู่ เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนหนูขุดรูและอยู่
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบเหมือนหนู ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
มูสิกสูตรที่ ๗ จบ


ปฐมวลาหกสูตร ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนเมฆ



ในพระสูตรนี้ พระองค์ตรัสเปรียบเทียบเมฆหรือฟ้ากับคน อย่างละ ๔ คือ 

 เมฆ/ฟ้า ๔ ชนิด คือ

๑) ฟ้าร้องแต่ฝนไม่ตก  
๒) ฝนตกแต่ฟ้าไม่ร้อง 
๓) ฟ้าไม่ร้องและฝนไม่ตก
๔) ฟ้าร้องและฝนตก 

คน ๔ จำพวก คือ 

๑) บางคนชอบพูดแต่ไม่ทำ
๒) บางคนชอบทำแต่ไม่พูด
๓) บางคนไม่พูดและไม่ทำ
๔) บางคนชอบพูดด้วยชอบทำด้วย

ในบรรดาคน ๔ จำพวกนี้ จำพวกที่ ๒ และ ๔ เป็นคนที่สังคมต้องการ คนประเภทนี้ไปอยู่ที่ไหน จะทำให้ที่นั่นเจริญรุ่งเรือง 

พระสูตรนี้อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย  จตุตถนิบาต 
 
. ปฐมวลาหกสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนเมฆ สูตรที่ ๑
[๑๐๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย เมฆ ๔ ชนิดนี้
เมฆ ๔ ชนิด อะไรบ้าง คือ
. เมฆที่คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก
. เมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม
. เมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก
. เมฆที่คำรามและให้ฝนตก
ภิกษุทั้งหลาย เมฆ ๔ ชนิดนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน บุคคลเปรียบเหมือนเมฆ ๔ จำพวกนี้
มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
.บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก
.บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม
. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก
. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบพูด แต่ไม่ทำ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนเมฆที่คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบทำ แต่ไม่พูด บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนเมฆที่ให้ฝนตก แต่ไม่คำราม
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่พูดและไม่ทำ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำราม และไม่ให้ฝนตก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบพูดและชอบทำ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่
คำรามและให้ฝนตก เป็นอย่างนี้แล เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบเหมือนเมฆ ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ปฐมวลาหกสูตรที่ ๑ จบ



ลำล่องประวัติพระพุทธเจ้า โดย วิทยา วงศ์กาฬสินธุ์


คนตาเดียว คนสองตา โดยพระอาจารย์สมภพ โชติปญฺโญ


เสียงจากเทวทูต โดย พระอาจารย์สมภพ โชติปญฺโญ


การถือเอาประโยชน์แห่งตน โดย อ. สมภพ

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เพลงชัยมงคลคาถา


บทสวดไชยใหญ่



ประมวลภาพงานทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อสมทบทุนสร้างกุฏิรับรองพระเถระ นำโดย พระมหารัตนะ รตนสิริ ๗ เม.ย. ๕๕


ทอดผ้าป่าครั้งนี้ได้ปัจจัย สามแสนบาทเศษ ไม่รวมค่าพระพุทธรูปและโต๊ะหมู่ ที่ทางคณะเจ้าภาพนำมาถวายไว้ประจำศาลาที่พักผู้ปฏิบัติธรรมหญิง หลังนี้ มูลค่าห้าหมื่นบาทเศษ

ศาลาที่พักหลังนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่คณะพระมหารัตนะ  นำคณะญาติโยมมาทอดผ้าป่าเพื่อสมทบทุนสร้าง ปัจจัยในการทอดผ้าป่าครั้งนั้น จำนวน หนึ่งแสนบาทเศษ  แต่มูลค่าในการสร้างท้ังหมดประมาณ หกแสนห้าหมื่นบาทเศษ ปัจจัยนอกเหนือจากผ้าป่าได้รับจากญาติโยมช่วยกันบริจาคคนละหนึ่งหมื่นบาทบ้าง มีเจ้าภาพใหญ่คนหนึ่งเป็นข้าราชการกรมทางหลวงที่กรุงเทพมหานคร  เป็นเจ้านายเก่าของแม่ชีกมลพร  (ชีบัว) ถวายมา สองแสนสามหมื่นบาทเศษ จึงทำให้การก่อสร้างสำเร็จตามความตั้งใจ










อาจารย์เจ้าคุณพระสุธีวราลังการ (สมคิด  ป.ธ. ๙ พธ.ม.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ซึ่งเป็นพระอาจารย์ดูแลท่านมหารัตนะ และสามเณรที่นำไปฝากท่านเรียนหนังสือ มาร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย










คณะเจ้าภาพและเพื่อนเรียนชั้นปริญญาโท สาขารัฐปสาสนศาสตร์ ของท่านรัตนะ มาร่วมหลายคน บางคนทำงานธนาคาร บางคนทำงานราชการ บางคนทำธุรกิจส่วนตัว